เมื่อ 'รพ.เอกชน' ต้อง 'ทรานส์ฟอร์ม' สู่ยุคหลังโควิด-19

เมื่อ 'รพ.เอกชน' ต้อง 'ทรานส์ฟอร์ม' สู่ยุคหลังโควิด-19

โควิด -19 เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนสนใจสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันพฤติกรรมผู้ป่วยเปลี่ยน เกิดการทรานฟอร์มอย่างรวดเร็ว เพราะไม่อยากมา รพ. ทำให้เทคโนโลยี เช่น เทเลเมดิซีน พัฒนาเร็วขึ้น รวมถึงเทรนด์ Wellness ในการป้องกันโรค มากกว่ารักษา

ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ ตลอดจนการรักษาโรคมีความซับซ้อน ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญการของแพทย์ ประกอบกับการใช้เทคโนโลยี เข้ามาเสริมประสิทธิภาพการรักษา ไปพร้อมๆ กับการบริหารจัดการองค์กรในยุค "ทรานส์ฟอร์ม" 

ขณะเดียวกันการพัฒนาด้านคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรและนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกับคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยจะเป็นบทพิสูจน์ที่แสดงถึงศักยภาพทางการแพทย์ของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศให้เกิดระบบนิเวศที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้

  

  • บำรุงราษฎร์ชูนวัตกรรม 3C

รศ.นพ. ทวีสิน ตันประยูร” ประธานปฏิบัติการด้านการแพทย์ รพ.บำรุงราษฎร์ กล่าวว่าในอนาคตอุตสาหกรรมทางการแพทย์จะเป็นหนึ่งใน megatrend ที่มีแนวโน้มเติบโต รวมถึงธุรกิจโรงพยาบาลจะถูกยกระดับความสำคัญและเป็นที่จับตามองมากยิ่งขึ้นโดยปี 2564 ยังคงขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการให้บริบาลสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลกด้วยนวัตกรรม (World-class holistic healthcare with Innovation) โดยให้ความสำคัญในจุดแข็ง 3 ประการหลักหรือ 3C ประกอบด้วย 

1. Critical Care การรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤตมีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านผู้ป่วยวิกฤตและทีมสหวิชาชีพที่พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง  

2.Complicated disease การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนหลายโรคหรือเป็นผู้ป่วยที่อ่อนแอ มีโอกาสทรุดหนักหรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตโดยมี Center of Excellence ที่ครอบคลุมการรักษาในทุกโรคมีทีมสหวิชาชีพที่ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

3.Cutting-edge technology การรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น อาทิ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด da Vinci , MAKO แขนกลหุ่นยนต์เปลี่ยนข้อเทียม, คอมพิวเตอร์นำวิถี ฯลฯ เพื่อช่วยให้กระบวนการผ่าตัดที่มีความสลับซับซ้อนปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ รองประธานอาวุโสปฏิบัติการด้านการแพทย์ (Medical Quality & Affairs & Informatics & Human Resources) และผู้บัญชาการศูนย์โควิด -19 กล่าวว่า ยุคทรานส์ฟอร์มต้องปรับตัวได้ นอกเหนือจากการลงทุน บุคลากร เทคโนโลยีแล้ว ความปลอดภัยก็เป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่การนำ เอไอมาใช้ทางการแพทย์ ในระดับโลกเอไอทางการแพทย์ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น เช่น เอไอช่วยอ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ และแพทย์ต้องมาดูอีกทีเพื่อความแม่นยำ แต่เอไอต่อจากนี้ 5-7 ปี จะขยายไปในมิติอื่น เช่น มีส่วนช่วยการการตัดสินใจ แนวทางการรักษาจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ บำรุงราษฎร์ มีแผนในการพัฒนาและขยายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งเน้นการดูแลรักษาโรคเฉพาะทางได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การป้องกัน การวินิจฉัย การรักษา ตลอดจนถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางซึ่งมีประสบการณ์สูง พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย

  • รพ.สมิติเวช ให้แพทย์เป็นโค้ช

ขณะที่ “นพ. ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มรพ.สมิติเวช และ รพ.บีเอ็นเอช ให้มุมมองในแง่ของการบริหารองค์กรว่า กลุ่ม รพ.สมิติเวช และ รพ.บีเอ็นเอช “ต้องปรับให้องค์กรแข็งแรง” ถัดมา “ระบบคิด” ต้องเปลี่ยนใหม่เปิดโอกาสให้เด็กใหม่คิดด้วย ต้องใช้ Data , Machine Learning และใช้ AI เข้ามาช่วยหากเป็นไปได้ และสุดท้าย คือ “ระบบคน” 

จากการสำรวจพบว่ามีพนักงานราว 20% ที่พร้อมเปลี่ยน ดังนั้น กลุ่มนี้จึงถูกดึงมาทำอยู่ในส่วนของ Innovation Team ส่วนคนที่ไม่เปลี่ยนอีก 80% ให้ทำเซอร์วิส แต่อัพสกีล สร้างคุณค่าในการทำงาน ด้วยการแนะนำ ให้ความรู้แก่ผู้รับบริการ สามารถดูแลสุขภาพตนเองก่อนจะป่วย สร้างความประทับใจตามเป้าหมาย คือ ต้องเป็นองค์กรแห่งการสร้างคุณค่า เป็น Man of value ไม่ใช่ Man of Success

ปัจจุบันคนในประเทศกำลังประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพกายและสุขภาพใจ Pain Point ของคนไทยในขณะนี้มีหลากหลาย ทั้งคนที่ไม่อยากมาโรงพยาบาลเพราะกลัวติดโรค จึงปรับบริการให้มีการหาหมอออนไลน์เป็นช่องทางให้คนไข้มาก่อนโควิด โดยในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นมาก 

มี Engage Care เทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ดูแลตัวเองดีขึ้นจากที่บ้านวัดน้ำตาลเองได้ง่ายๆ หากเกินจากมาตรฐานระบบจะเตือนมาที่โรงพยาบาล แพทย์จะทำการติดตามการรักษาได้ทันที มีการเชื่อมต่อบริการถึงบ้าน เช่น อุปกรณ์ Tytocare ที่สามารถวัดอุณหภูมิ การเต้นของหัวใจ ฟังเสียงปอด แพทย์จึงให้คำปรึกษาผ่านทางออนไลน์ได้มั่นใจขึ้น และยังมีบริการฉีดวัคซีนและส่งยาถึงบ้านอีกด้วย

“เทรนด์ที่กำลังมาแรง คือ คนส่วนใหญ่อยากมีสุขภาพดีไม่อยากป่วย โซลูชั่น คือ การทำ Early Detection Technology รู้เท่าทันโรค เช่น อ้วน สามารถมอนิเตอร์ว่าน้ำตาลขึ้นหรือลด มอนิเตอร์น้ำหนัก ความดัน และกำลังพัฒนาเรื่องไขมัน รวมถึงเทคโนโลยีเอไอ TrueEye ใช้จอประสาทตาทำนายความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและเบาหวาน ซึ่งเป็นโครงการ deep tech ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

นอกจากนี้ ยังเน้นการตรวจเพื่อป้องกันการเกิดโรคแต่ละช่วงวัย (Total Health Solution) การตรวจลึกระดับยีน รู้เท่าทันโรคในอนาคต (Gene Testing) โปรแกรมดูแลวัคซีนแบบเหมาจ่ายสำหรับทุกช่วงวัย (Vaccine Club) เพื่อตอบโจทย์ว่า เราไม่อยากให้ใครป่วย ให้ผู้บริโภคสุขภาพดีขึ้น ลดการพึ่งพาแพทย์ เพิ่มการพึ่งพาตัวเอง แพทย์แทนที่จะทำหน้าที่รักษา แต่เป็นโค้ช เมื่อคนสุขภาพดี เศรษฐกิจก็ดี GDP ก็ดีขึ้น

  • รพ.สินแพทย์ ใช้เทคโนโลยีดูแลผู้ป่วย

ในส่วนของ รพ.สินแพทย์ มีการนำ “เทคโนโลยี” เข้ามาช่วยเหลือ ดูแลผู้ป่วยผู้ที่มา“ใช้บริการ เพื่อให้สะดวกสบายตลอดระยะเวลาที่รักษา ร่วมถึงเป็นการยกระดับคุณภาพการบริการด้านการแพทย์ ล่าสุดร่วมกับ “บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด” ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มดิจิตอล“Patient Smart QR Code หนึ่งใน “Mobile Health” อุปกรณ์สุขภาพเคลื่อนที่เข้ามาช่วยส่งเสริมการป้องกัน รักษา ติดตามสุขภาพของผู้ป่วย สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่มือถือเป็นเสมือนอวัยวะที่ 33 อีกทั้งยังตอบโจทย์ New Normal ลดการสัมผัส ลดความแออัดในสถานพยาบาลต่างๆ

ปัจจุบัน พัฒนาสามารถนำไปใช้ด้านสาธารณสุข เช่น การส่งข้อมูลสุขภาพให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรค ทำให้การรักษาสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องมารอที่โรงพยาบาล รวมถึงติดตามการนอนหลับของผู้สวมใส่ได้ ทำให้การดูแลสุขภาพกลายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและจับต้องได้ง่ายขึ้น เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch),สมาร์ทโฟน (Smart Phone)ช่วงปีที่ผ่านมามีความเติบโตพุ่งสูงถึง42%ต่อปี

ทพ.ฐิติ ชนะภัย กรรมการผู้จัดการเครือโรงพยาบาลสินแพทย์ กล่าวว่าเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนจะทำให้ธุรกิจบริการทางการแพทย์มีความดูแลคนไข้แบบองค์รวมพื้นฐานของโรค ลงลึกไปถึงความต้องการปัจเจกบุคคล การให้บริการ “Patient Smart QR Code” เป็นการช่วยลดภาระงานหลังบ้าน และทำให้เกิดการจัดส่งข้อมูลที่ถูกต้อง รู้ถึงความต้องการของคนไข้จริงๆได้

  • คาดปี64 "รพ.เอกชน" ฟื้นตัวดีขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ‘ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน’ เป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 สะท้อนได้จาก รายได้และกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของโรงพยาบาลเอกชน (ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ) หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -14.2 และ -54.8 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

โดยโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้กลุ่ม Medical Tourism คาดว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก จากจำนวนยยอดผู้ใช้บริการ ที่คาดว่าจะหายไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 ขณะเดียวกัน ด้วยกำลังซื้อของคนในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวและการแข่งขันของตลาดในประเทศที่รุนแรง ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มคนไข้เงินสดเป็นหลักได้รับผลกระทบเช่นกัน

มีการคาดการณ์ว่า รายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน (ในตลาดหลักทรัพย์ฯ) ปี 2564 น่าจะกลับมาขยายตัวราวร้อยละ 1-4 เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่หดตัวร้อยละ 14.1 ขณะที่กำไรสุทธิน่าจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 15-20 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่การฟื้นตัวดังกล่าวคาดว่าจะยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2562