แก่ จน เจ็บ : ชีวิตหลัง ‘เกษียณ’ คนไทยคุณภาพรั้งท้ายโลก

แก่ จน เจ็บ : ชีวิตหลัง ‘เกษียณ’ คนไทยคุณภาพรั้งท้ายโลก

เจาะโพลการจัดอันดับชีวิตดีหลัง "เกษียณ" ของประชากรนานาประเทศ จากสถาบันใหญ่ระดับโลก เช็คสิ! ประเทศไทยพร้อมหรือไม่? สำหรับสภาวะ "สังคมสูงวัย" ที่กำลังเกิดขึ้น

ใครๆ ก็ปรารถนา “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สิ้นสุดวัยทำงานอย่างกลุ่ม “ผู้สูงอายุ” จึงนับเป็นวาระหลักในการออกนโยบายแห่งชาติ เพราะยิ่งมีกลุ่มคนสูงอายุมากเท่าไหร่ รัฐก็ยิ่งต้องจ่ายค่าสวัสดิการต่างๆ ให้วัย เกษียณ” เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

อีก 2 ปีจากนี้หรือในปี 2566 ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ การเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Completely Aged Society) และในอนาคต ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี 2576 หรือ 12 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้การจะมีชีวิตสุขสบายในบั้นปลายชีวิต สภาพัฒน์ฯ รายงานว่าผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไปในเขตเมือง ควรต้องมีเงินออม 4 ล้านบาท เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ต่อไปหลังเกษียณ ส่วนผู้สูงอายุในเขตชนบท ต้องมีเงินออมประมาณ 2.8 ล้านบาท

แต่จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจ และสังคมของครัวเรือนปี 2562 พบว่ามีครัวเรือนเพียง 1.2 แสนครัวเรือนเท่านั้นที่มีรายได้สูงกว่า 2.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของทั้งประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าบั้นปลายชีวิตของคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้อยู่ดี กินดี อย่างใจหวัง 

161529049719

  • "แก่ จน เจ็บ" ชีวิตหลัง "เกษียณ" คนไทย รั้งท้ายโลก

ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ในปี 2563 สถาบันระดับโลก 2 สถาบันคือ Mercer CFA และบริษัท Allianz ยังได้นําเสนอ ผลการจัดอันดับระบบบํานาญผู้สูงอายุในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งรายงานดังกล่าวระบุตรงกันว่า ประเทศไทยมีคะแนนและอันดับของระบบบํานาญอยู่ในระดับต่ำ

สถาบัน Mercer CFA นำเสนออันดับบำนาญโลกโดยใช้ตัวชี้วัด 3 ข้อคือ ความเพียงพอ (Adequacy)  ความยั่งยืน (Sustainability) การตรวจสอบได้ (Integrity) สรุปผลได้ว่าประเทศไทยถูกจัดเป็นอันดับสุดท้ายจาก 39 ประเทศทั่วโลก ได้รับคะแนนอยู่ที่ 40.8 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชีย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ผลสำรวจเรื่อง Allianz Global Pension Report 2020 จากบริษัท Allianz ก็จัดทำอันดับบำนาญโลกเช่นเดียวกัน โดยวัดผลจากทั้งหมด 70 ประเทศ และใช้ตัวชี้วัด 3 ด้านด้วยกันคือ  ประชากรศาสตร์, การคลังความยั่งยืนของระบบ, ความเพียงพอของเงินบํานาญ ผลสรุปคือ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 52 ของโลกจาก 70 ประเทศทั่วโลก และ อันดับ 10 ของภูมิภาคเอเชีย

โดยประเทศที่มีระบบบำนาญดีที่สุดในโลก 5 อันดับ ได้แก่

อันดับ 1 สวีเดน 

อันดับ 2 เบลเยียม 

อันดับ 3 เดนมาร์ก

อันดับ 4 นิวซีแลนด์

อันดับ 5 สหรัฐอเมริกา

161587793659

ส่วนในภูมิภาคเอเชีย มีผลการจัดอันดับ ดังนี้

จีน อันดับ 11

ไต้หวัน อันดับ 19

ญี่ปุ่น อันดับ 24

อินโดนีเซีย อันดับ 28 

เกาหลีใต้ อันดับ 29 

สิงคโปร์ อันดับ 30 

ฟิลิปปินส์ อันดับ 37 

อินเดีย อันดับ 38 

ฮ่องกง อันดับ 39 

ไทย อันดับ 52

  • สำรวจ "รายได้" แรงงานไทยก่อนจะ "เกษียณ" 

เมื่อ "เงินเก็บ" คือปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อชีวิตในวัยเกษียณ จากการสำรวจภาวะหลักประกันรายได้ของแรงงานไทยปี 2563 ที่มีทั้งหมด 37.9 ล้านคน พบว่า 

แรงงานไทยในระบบ มีจำนวนทั้งหมด 17.5 ล้านคน ประชากรกลุ่มนี้มีกองทุนบําเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 รองรับ ซึ่งก็ถือว่ามีรายได้หลังเกษียณอยู่จำนวนหนึ่ง

161529052317

ส่วนแรงงานไทยนอกระบบ มีจำนวนทั้งหมด 20.4 ล้านคน ซึ่งไม่มีการออมภาคบังคับ แต่มีการออมตามความสมัครใจที่รัฐจัดให้คือ

-กองทุนประกันสังคมมาตรา 40 : 3.5 ล้านคน 

-กองทุนการออมแห่งชาติ : 2.4 ล้านคน 

ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว : 14.5  ล้านคน 

สรุปแล้วจากตัวเลขจำนวนแรงงานในหลักประกันรายได้ ก็เป็นที่มาของตัวเลขเงินเก็บภายในครัวเรือนที่ไม่ถึงเกณฑ์แห่งชาติ และเป็นคำตอบที่บอกว่าแก่ จน เจ็บนั้นไม่ใช่เรื่องล้อเล่นจริงๆ ทางออกของเรื่องนี้ รัฐคงต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้คนไทยพ้นจากภาวะความยากจนในยามแก่เฒ่าเสียที 

ที่มา :  สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ