‘เราชนะ’ จริงหรือ? ‘สภาพัฒน์’ สรุป ‘ภาวะสังคมไทย ปี 63’ ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนพุ่ง!

‘เราชนะ’ จริงหรือ? ‘สภาพัฒน์’ สรุป ‘ภาวะสังคมไทย ปี 63’ ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนพุ่ง!

“เราชนะ” หรือใครชนะ เมื่อ “สภาพัฒน์” สรุปภาพรวม "ภาวะสังคมไทย ปี 63" พบอัตรการการว่างงาน และหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เข้าสู่ปีที่ 2 ของการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลไทยออกมาตรการ และนโยบายเยียวยาต่างๆ ตลอดปี 2563 และลากยาวมาถึงปี 2564 ทั้ง “เราไม่ทิ้งกัน เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง เราชนะ” “เรารักกัน” 

เพื่อดูผลสรุปในปี 2563 ที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนอ่านรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี 2563 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ว่าในปีที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในสภาวะ “เราชนะ” จริงหรือ? 

  

  • อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น 1.86%

ไตรมาสสี่ ปี 2563 กําลังแรงงานเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 39.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 38.0 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ตลาดแรงงานของกลุ่มผู้อยู่นอกกำลังแรงงานโดยเฉพาะในกลุ่มทำงานบ้าน ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้เข้ามาเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ การจ้างงานเพิ่มขึ้น มีจำนวน 38.3 ล้านคน 

ตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่ม และชั่วโมงการทำงานลดลง โดยกำลังแรงงานในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 38.5 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 1.0

จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจ และสังคมของครัวเรือนช่วงครึ่งปี 2563 พบว่า ครัวเรือนมีรายได้ 23,615 บาท ปรับตัวลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 26,371 บาท หรือมีรายได้ลดลงร้อยละ 10.45

161467224148    

  • "หนี้ครัวเรือน" เพิ่มขึ้น 3.9% 

หนี้สินครัวเรือน ในไตรมาสสาม ปี 2563 มีมูลค่า13.77 ล้านล้านบาทขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ ร้อยละ 3.9 ใกล้เคียงกับร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86.6 ต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาสสามปี2563 ยอดคงค้างหนี้NPLs เพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า144,329 ล้านบาทคิดเป็น สัดส่วนร้อยละ 2.91 ของสินเชื่อรวม ลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 3.12 ในไตรมาสก่อน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบต่อรายได้ และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และเป็นความท้าทายสำคัญ ในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่องซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และ กลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ โดยระยะถัดไปอาจต้องพิจารณาถึง 

1. การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เคยได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้รายใหม่
2. การจำแนกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ออกจากลูกหนี้กลุ่มอื่น เพื่อไม่ให้เกิดการที่กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหาทางการเงินแต่เข้ารับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้
3. การต้องให้ความช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือน ผู้มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ เนื่องจากการลดลงของรายได้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ เพราะมีภาระหนี้สินและขัดสนด้านการเงินเดิมอยู่แล้ว

  

  • "ผู้ป่วย" ลดลง 51.9% 

ไตรมาสสี่ ปี 2563 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลงร้อยละ 51.9 เป็นการลดลงในเกือบทุกโรค โดยผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงร้อยละ 88.1 ผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 69.3 และผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ลดลงร้อยละ 20.9 แต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว รวมทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 และผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5

ขณะที่ภาพรวมปี 2563 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลงร้อยละ 50.0 ส่วนหนึ่งเนื่องจากประชาชนตระหนักถึงการป้องกันตนเอง ส่งผลให้การเป็นโรคตามฤดูกาลลดลง 

   

  • บริโภคแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ลดลง 3.2% 

ไตรมาสสี่ ปี 2563 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ลดลงร้อยละ 3.2 โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 4.7 และการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 0.5 

ขณะที่ภาพรวมปี 2563 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ลดลงร้อยละ 3.6 เนื่องมาจากมาตรการภาครัฐในการปิดสถานบันเทิง และการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

  

  • คดีอาญาลดลง 23.7%

ไตรมาสสี่ ปี 2563 คดีอาญารวมลดลงร้อยละ 23.7 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 โดยคดียาเสพติด ลดลงร้อยละ 26.4 คดีชีวิตร่างกายและเพศลดลงร้อยละ 7.8 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงร้อยละ 7.5

ขณะที่ภาพรวมปี 2563 คดีอาญารวมลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 14.6 โดยคดียาเสพติดลดลงร้อยละ 15.6 คดีชีวิต ร่างกายและเพศลดลงร้อยละ 12.3 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงร้อยละ 7.5 

สถานการณ์ช่วงต้นปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 รัฐบาลใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้การก่ออาชญากรรมทั่วไปในช่วงดังกล่าวลดลง แต่เกิดอาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 96.5 ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 รูปแบบการก่ออาชญากรรมด้านอื่นเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสามปี 2563 โดยมีคดีชิงทรัพย์ วิ่งราว ลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 รถจักรยานยนต์ถูกโจรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.3 จึงต้องให้ความสำคัญ และเฝ้าระวังคุมเข้มการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

การแพร่ระบาดของสารเสพติดรูปแบบใหม่ รวมทั้งการลักลอบข้ามชายแดนเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย การลักลอบเล่นการพนัน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19

  • อุบัติเหตุจราจรลดลง 10.7%

ไตรมาสสี่ ปี 2563 มีการรับแจ้งการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงร้อยละ 10.7 ผู้เสียชีวิตลดลง ร้อยละ 14.1 และผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 7.2 สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากตัวบุคคลสูงสุดคือ ขับรถตัดหน้า กระชั้นชิดร้อยละ 36.1 รองลงมาได้แก่ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 35.7 

ภาพรวมปี 2563 การเกิดอุบัติเหตุจำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ลดลงร้อยละ 8.7 17.7 และ 9.9 ตามลำดับ และช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 แม้ได้มีการถอดบทเรียนจากเทศกาลของไทยที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ จำนวนผู้เสียชีวิตช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 สะท้อนสถานการณ์บนท้องถนนที่ยังคงต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน

  

ที่มา :  สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ