โรงงาน(ไผ่)สร้างป่า สตาร์ทอัพชุมชน 'แม่แจ่ม' : โมเดลเปลี่ยน ‘ข้าวโพด’ เป็นความยั่งยืน

โรงงาน(ไผ่)สร้างป่า สตาร์ทอัพชุมชน 'แม่แจ่ม' : โมเดลเปลี่ยน ‘ข้าวโพด’ เป็นความยั่งยืน

แม้จะไม่มีแผนธุรกิจสวยหรู แต่โรงงานเล็กๆ ในหุบเขา "แม่แจ่ม" ที่มี "ไผ่" เป็นสารตั้งต้น ก็เป็นรูปธรรมของความพยายามแก้ปัญหาทั้งเรื่องปากท้องและสิ่งแวดล้อม จากความตั้งใจของชาวบ้านผู้ตกเป็นจำเลยของสถานการณ์ไฟป่าฝุ่นควัน

เป็นเรื่องง่ายๆ ของคนอื่นที่จะชี้นิ้วไปยังขุนเขาสีน้ำตาลและไร่ข้าวโพดผืนใหญ่ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาไฟป่าหมอกควัน แต่เป็นเรื่องยากเกินกำลังของชาวบ้านผู้ตกเป็น ‘จำเลย’ ที่จะลุกขึ้นมาอธิบาย ตอบโต้ หรือแม้แต่ ‘เปลี่ยนแปลง’ วิถีการผลิตแบบที่เคยเป็นมา ...ชาวบ้านในอำเภอแม่แจ่ม ก็เช่นเดียวกัน!

1606185453100

  • ‘ข้าวโพด’ เจ้าปัญหา

นับตั้งแต่หมอกควันไฟป่าถูกระบุว่าเป็น ‘วิกฤติ’ รบกวนวิถีชีวิตปกติของคนในเมืองเชียงใหม่มากว่า 10 ปี ภาพของภูเขาข้าวโพดที่กินพื้นที่นับแสนไร่ในอำเภอแม่แจ่ม ก็ถูกนำเสนอในฐานะ ‘ตัวปัญหา’ และแม้จะไม่มีใครปฏิเสธว่า “ข้าวโพด...ไม่ใช่ปัญหา” แต่ความพยายามที่จะให้ชาวบ้านหรือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเปลี่ยนวิถีการทำมาหากินของตนเองโดยไม่ได้เข้าใจบริบทของพื้นที่ก็ทำให้การแก้โจทย์ยากนี้ยังคงไม่มีคำตอบที่ดีที่สุด

“หลังจากเกิดวิกฤติฝุ่นควันประมาณปี 2549-50 ก็มีการตั้งคณะกรรมการฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน มีการถกเถียงกัน ในที่สุดชาวบ้านฟันธงว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการบุกรุกปลูกข้าวโพดอย่างไม่รู้จบสิ้น และเสนอว่าถ้าจะยุติก็ต้องมาสำรวจทำขอบเขตให้ชัดว่าตรงไหนเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน แล้วเขาจะหยุดการบุกรุกปลูกข้าวโพด” เดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ประธานคณะทำงานด้านป่าไม้และที่ดินในพื้นที่ป่า เล่าถึงจุดเริ่มต้น

แต่หลังจากนั้นการปลูกข้าวโพดและการเผาในพื้นที่เกษตรก็ยังคงมีอยู่ เหตุผลหลักๆ มาจากเงื่อนไขในเชิงพื้นที่ของแม่แจ่ม ซึ่งที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์และขาดแหล่งน้ำในการเพาะปลูก หากปลูกไม้ผลก็ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศเป็นหลัก แต่หากปลูกไม้ยืนต้นจะไม่สามารถตัดหรือแปรรูปได้ ‘ข้าวโพด’ จึงกลายเป็นพืชที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องต้นทุน ปลูกแล้วแทบไม่ต้องดูแล ที่สำคัญมีตลาดรับซื้อผลผลิตแน่นอน แม้ต้องแลกกับปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็ตาม

“มีหลายคนหลายมหาวิทยาลัยมาทดลองแนวทางต่างๆ นักธุรกิจก็แห่กันมาช่วยว่าจะทำอย่างไร จะปรับเปลี่ยนจากข้าวโพดไปเป็นระบบอื่นๆ เป็นโคกหนองนาโมเดล เป็นเกษตรอินทรีย์ แล้วแต่จะตั้งชื่อ ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว เพราะวงจรของชาวบ้านคือเขาต้องการเงินเป็นก้อน ชีวิตต้องการเงินเมื่อครบกำหนดขายผลผลิต ก็เอาเงินก้อนนั้นมาหมุนในชีวิตตัวเอง ใช้หนี้ ธกส. กู้เพิ่มมาใช้หนี้กองทุนหมู่บ้าน หมุนไปอย่างนี้ เป็นชีวิตหมุนหนี้ การจะหยุดข้าวโพดไม่ใช่เรื่องง่าย ข้าวโพดเป็นพืชที่ถึงแม้ว่าราคาต่ำเหลือ 4 บาท ก็ได้ขาย ไม่เน่าไม่เสีย อย่างไรก็ได้ขาย ชาวบ้านบอกว่าอย่างไรก็มีเงินก้อนกลับมาให้ชีวิตได้เดินต่อ”

หลายปีที่ผ่านมา มีโครงการมากมายที่เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้าน ‘ลด ละ เลิก’ การปลูกข้าวโพดรวมถึงการเผาพื้นที่เกษตร แต่จนแล้วจนรอด ‘ข้าวโพด’ และเพิ่มเติมด้วยพืชเชิงเดี่ยวอื่นๆ ก็ยังเป็นรายได้หลัก ส่วนพันธุ์ไม้ชนิดอื่นๆ ที่เข้ามาส่งเสริมกลับกลายเป็นการซ้ำเติม ไม่ว่าจะเป็นยางพารา หรือกล้วยคาเวนดิช

“พอมีตัวอย่างของความไม่สำเร็จ มันคือความล้มเหลวเกือบทั้งหมู่บ้าน เราก็เลยคุยกับชาวบ้าน เขาขออย่างเดียวคือ ปลูกแล้วมีตลาดแน่นอน ปลูกแล้วคุ้มกว่าข้าวโพด ชาวบ้านจะเปลี่ยนให้หมด”

160618545369

  •  ‘ไผ่’ สร้างป่า

ไผ่กอใหญ่ตรงหัวไร่ปลายนา แทบจะไม่ได้สะดุดตาพอที่ใครจะคิดไปปักธงเพื่อแก้ปัญหาเรื้อรังอย่างไฟป่าฝุ่นควัน แต่ด้วยประสบการณ์การทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ผ่านโมเดลการจัดการทรัพยากรมานับไม่ถ้วน ทั้งกับภาครัฐ ภาควิชาการและภาคเอกชน เดโชจึงเริ่มร่างเส้นทางของการเปลี่ยนผ่านจาก ‘ข้าวโพด’ สู่ ‘ไผ่’ โดยมีปลายทางคือความยั่งยืน เพื่ออุดรอยรั่วระหว่างความฝันกับความจริง

“หนึ่ง ชาวบ้านบอกว่าปลูกอะไรก็ได้ขอให้มีราคา สอง ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ถ้าปลายทางเราคือส่งเสริมการปลูกต้นไม้ แต่การปลูกไม้ยืนต้น 20 ปี ถึงจะได้ขาย ก็เลยต้องเลือกไม้ที่อายุน้อยลงมา ไผ่จึงเป็นคำตอบ หมายความว่าอายุไผ่ประมาณ 4 ปี พอ 3 ปีก็เริ่มเก็บหน่อขายได้แล้ว พอเข้าปีที่ 4 เริ่มขายลำ ถ้าจะให้สมบูรณ์จริงๆ ก็ปีที่ 5 คำนวณแล้วรายได้ใน 1 ไร่ก็ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ก็เลยเอาไผ่มาเป็นตัวกลาง ในขณะที่ยังปลูกข้าวโพดไปด้วย 3-4 ปี ไม่ได้หักดิบ ชาวบ้านก็ยังมีรายได้จากการปลูกข้าวโพดอยู่ แล้วปลูกไผ่แซม ปลูกไม้สัก ปลูกไม้ยางนาร่วมด้วย”

แม้แนวคิดจะดูมีความเป็นไปได้ แต่การชักชวนชาวบ้านให้ร่วมเดินตามเส้นทางนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องสร้างทั้งความมั่นใจและแรงจูงใจ

"ปีแรก 2559 ชาวบ้านยังไม่มั่นใจ คือกลัวไม่มีตลาด แต่ด้วยความเกรงใจ สงสารพวกเรา เห็นว่าปรารถนาดีก็ปลูกให้ต้นสองต้น ไร่สองไร่ โดยเราเริ่มต้นจากการทำโครงการแสนกล้าดีภายใต้แนวทางแม่แจ่มโมเดลพลัส ระดมทุนซื้อกล้าไผ่ 50 บาทต่อ 1 กล้า แล้วนำไปให้ชาวบ้านปลูกแซมในพื้นที่เพาะปลูก"

160618545456

เวลานั้นแม้การระดมทุนจะได้รับการตอบรับอย่างดี แต่คำถามสำคัญที่สร้างความกังวลให้ทั้งคนปลูกและคนส่งเสริมก็คือ “ปลูกแล้วตัดได้ไหม” เดโชบอกว่าข้อนี้ยังเป็นปัญหาข้อกฎหมายอยู่ แต่การเดินหน้าคือการสร้างรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาว

“ตามกฎหมาย ต้นไม้ในลุ่มน้ำชั้น 1 ชั้น 2 ตัดเอามาใช้สอยไม่ได้ ยกเว้นลุ่มน้ำ 3, 4, 5 ซึ่งแม่แจ่มมีอยู่ประมาณไม่เกิน 20,000 ไร่ ที่เหลือ 160,000 ไร่ เป็นลุ่มน้ำ 1, 2 ทั้งหมด ซึ่งมันเป็นข้อกฎหมายไทยที่ยังล้าหลัง แต่จะเจรจาต่อรองโดยไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมก็ไม่ได้ เราเลยต้องสร้างให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา”

ดังนั้น การปลูกไผ่ภายใต้โมเดลนี้จึงเริ่มจากการสำรวจและรับรองข้อมูลร่วมกันระหว่างชาวบ้าน ผู้ดำเนินโครงการ กับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อยืนยันว่าไผ่ที่จะตัดมาใช้ในอนาคตเป็นไผ่ปลูกไม่ใช่ไผ่ป่า

“ตอนนี้เราปลูกไปแล้วประมาณ 2,000 ไร่ มีหลายพันธุ์ที่ส่งเสริมเพื่อให้เกิดความหลากหลาย ส่วนหนึ่งปลูกแซมในป่าชุมชน เพราะป่าชุมชนสามารถตัดได้ ใช้ประโยชน์ได้ แล้วแม่แจ่มมีป่าชุมชนเกือบทุกหมู่บ้าน 81 หมู่บ้าน ก็คิดว่าว่าไผ่และไม้หลากหลายน่าจะเริ่มเป็นความหวังของชาวบ้าน เอามาทำนู่นทำนี่ จะเป็นเรื่องกรีนโปรดักท์ กรีนอีโคโนมี มันไปได้”

160618545399

  • ‘โรงงานไผ่’ สู่ความยั่งยืน

ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปกว่า 150 กิโลเมตร บนเทือกดอยของอำเภอแม่แจ่ม อาคารชั้นเดียวเปิดโล่งสร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายตามสภาพการใช้งาน เรียกกันเล่นๆ ว่า 'โรงงานไผ่' หรือในชื่ออย่างเป็นทางการว่า 'โรงงานสร้างป่า' เพื่อแปรรูปไม้ไผ่เป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า

160618545377

4 ปี หลังจากไผ่ต้นแรกจากโครงการแสนกล้าดีได้ฝังรากในผืนดินของแม่แจ่ม วันนี้ ไม้ไผ่จำนวนหนึ่งถูกนำมาวางกองไว้เพื่อรอการแปรรูป ซึ่งนั่นหมายถึงโรงงานเล็กๆ แห่งนี้ได้เริ่มต้นสายพานการผลิตแล้ว

“ที่ผ่านมาเราเริ่มรับซื้อไผ่ตามไร่ตามนาชองชาวบ้านก่อน เพื่อให้ชาวบ้านมีความมั่นใจว่าถ้าเขาปลูกจะมีแหล่งรับซื้อมีรายได้”

เดโช ย้อนถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างโรงงานไผ่แห่งนี้ว่า แม้จะมีผู้ประกอบการจะสนใจมาสร้างโรงงาน แต่เงื่อนไขคือชาวบ้านต้องปลูกให้ได้ 5,000 ไร่ก่อน และต้องรอให้ครบ 5 ปีเพื่อจะได้มีวัตถุดิบเพียงพอ ซึ่งชาวบ้านเองก็กังวลว่าถ้าปลูกไปครบ 5 ปี แล้วโรงงานไม่มา ปัญหาก็จะวนไปเหมือนทุกครั้งที่มีการส่งเสริมปลูกพืชอื่นๆ

“เราก็เลยจำเป็นต้องมีโรงงานเล็กๆ แบบนี้เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวบ้านว่ามีการลงทุน อีกอย่างมันมาจากฐานคิดว่า เราอยากกระจายโรงงานขนาดเล็กๆ แบบนี้ไปหลายๆ ที่ เพราะน่าจะสร้างมูลค่าให้ชาวบ้านได้มากขึ้น เราเริ่มทำจากเรื่องเล็กๆ ก่อน ให้เห็นว่ามีการรับซื้อไผ่ นำไผ่มาแปรรูป แล้วส่งกลับไปผลิตที่ชาวบ้าน ชาวบ้านก็ได้ค่าแรง ซึ่งเป็นแรงงานผู้หญิง แรงงานผู้อาวุโส ที่อยู่ตามบ้าน เขาก็รู้สึกว่าจากการเป็นคนแก่ที่ไม่มีรายได้ก็กลายเป็นคนแก่ที่มีรายได้ ชาวบ้านแถวนี้ก็มีความสุข ได้ทำงานอยู่กับบ้านอยู่กับครอบครัว”

สำหรับงบประมาณในการดำเนินการเริ่มต้นได้มาจากการระดมทุนตาม ‘โครงการกล้าแสนดี’ รวมทั้งเงินบริจาคในโครงการที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อบริหารจัดการ โดยเงินส่วนหนึ่งใช้สำหรับการส่งเสริมการปลูกไผ่ อีกส่วนใช้เป็นค่าก่อสร้างและอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงงาน

160618545311

ถึงแม้กระบวนการต่างๆ จะยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ลองผิดลองถูก แต่ความหวังก็ได้เริ่มก่อร่างสร้างขึ้นจากไผ่ลำแล้วลำเล่าที่ถูกลำเลียงเข้ามาแปรรูป ประพันธ์ พิชิตไพรพนา ผู้ประสานงานโรงงานสร้างป่า เล่าว่า ไผ่เดิมในพื้นที่มีเยอะพอสมควร เพราะทุกร่องห้วยชาวบ้านจะปลูกไว้กันน้ำเซาะที่สวนที่นา รับซื้อมาปีหนึ่งแล้วก็ยังไม่หมด

“ไผ่สองตัวที่เราเอามาทำคือไผ่ขายเล่มขายลำ อันที่สองคือไผ่เอามาฉีกย่อยๆ เข้าเครื่องจักตอก ทำเป็นหลังคา อย่างผมรับซื้อไผ่สำหรับทำหลังคาลำละ 10 บาท จัดตอกได้ลำละ 2 กิโลกรัม ทำเป็นหลังคาได้ 2 ไพ ส่งขายไพละ 45 บาท ก็หมายความว่าได้กำไรมีเงินเลี้ยงคนงานที่มาจักตอกได้ สร้างงานในพื้นที่ได้ พออยู่ได้ ส่วนการขายเล่มขายลำเพิ่งทำได้ไม่นาน ยังเป็นช่วงทดลองอยู่ ตอนนี้เป็นช่วงของการเรียนรู้การใช้ เราจะได้รู้คุณภาพของไผ่แต่ละตัวว่าเหมาะกับการใช้งานแบบไหน เนื้อของมัน คุณภาพของมันต่างกันอย่างไร” หนุ่มแม่แจ่ม กล่าวถึงความคืบหน้า

นอกเหนือไปจากนี้ อีกหนึ่งแนวทางในการแตกหน่อต่อยอดทางธุรกิจ เดโชมองไปที่ ‘การแช่ไผ่’ เพื่อป้องกันมอด ซึ่งไม่เพียงยืดอายุการใช้งาน ยังเป็นการการันตีมาตรฐานของไม้ไผ่จากโรงงานแห่งนี้ ก่อนจะพัฒนาไปสู่การออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

“ต่อไปที่นี่อาจแปรรูปพื้นฐานแล้วให้ช่างประกอบ งานเฟอร์นิเจอร์ งานดีไซน์ก็จะเริ่มเข้า อาจจะต้องหาคนมาช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะกับการขนส่ง ก้าวต่อไปหลังจากที่เราปลูกไผ่กันพอสมควร ต้องฝึกคนในพื้นที่ให้มีทักษะความสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ คิดกันอยู่ว่าจะสร้างคนรุ่นใหม่ที่เป็นช่างฝีมือเกี่ยวกับไม้ไผ่ในอนาคต และงานสำหรับรองรับคนแก่ ผู้สูงวัย บางคนอาจจะแค่ขัดไผ่ให้มัน เราก็จ้างเขา หรือถ้าลูกค้าต้องการแค่ไผ่อย่างเดียว เราก็มีไผ่ที่ตอบโจทย์ทั้งไผ่ขนาดใหญ่ ไผ่ขนาดกลาง และไผ่ขนาดเล็ก”

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ยังเป็นแค่พิมพ์เขียว แต่เขาก็เชื่อว่าเทรนด์ของเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) จะทำให้ความฝันครั้งนี้กลายเป็นจริง

“เพียงแต่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับคนชายขอบ คนรายได้น้อย เพราะประเด็นของผมคือทำอย่างไรให้โอกาสไปถึงชาวบ้าน ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็จะรวบไปหมด ต้องมีคนมาคิดเรื่องวิสาหกิจชุมชน แล้วขยายผลไปยังที่อื่นๆ”

160618545413 เดโช ไชยทัพ

ถึงที่สุด ความสำเร็จของโรงงานไผ่อาจไม่ได้วัดกันที่ ‘รายได้’ แต่คือความ ‘อยู่ได้’ ที่ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น นั่นคือ การลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด แก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน

"อย่างน้อยๆ จากความแห้งแล้งที่จับลงไปมีแต่กรวดดิน ไม่มีอย่างอื่นเลย ตอนนี้มีต้นไผ่ปกคลุม เขียวหมดแล้ว ย้อนไปนิดหนึ่งว่าเราไม่ได้มองไผ่เชิงเดี่ยวนะครับ บางคนอาจจะบอกว่าคนแม่แจ่มคิดเรื่องไผ่เชิงเดี่ยวหรือเปล่า จริงๆ แล้วไผ่เป็นตัวเบิกนำเฉยๆ เราต้องการปลูกไผ่เพื่อที่จะสร้างความชุ่มชื้นในดิน แล้วไปเติมไม้สัก ไม้พะยูง ไม้มีค่าอื่นๆ ....เราสู้เพื่อที่จะได้สิทธิในที่ดินทำกินและได้สิ่งแวดล้อมกลับมาด้วย

สำหรับผมมันจะไม่ง่ายเลย เราต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ชาวบ้านจับต้องได้ อย่างที่พูดกันว่าทำไมต้องข้าวโพด เพราะข้าวโพดได้ขายทุกเม็ด โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้ไผ่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เกิดความมั่นใจ เพื่อให้ชาวบ้านปลูกมากขึ้น"

‘ไผ่’ ในความหมายนี้ จึงไม่ได้สร้างแค่ความหวัง แต่สร้างรายได้และสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งหมายถึงคุณภาพชีวิตและลมหายใจ...ไม่เฉพาะคนแม่แจ่มเท่านั้น