อสม. ตัดพ้อ 'สภาพัฒน์' หั่นค่าเสี่ยงภัยโควิดเหลือ 7 เดือน

อสม. ตัดพ้อ 'สภาพัฒน์' หั่นค่าเสี่ยงภัยโควิดเหลือ 7 เดือน

จ่อยื่นหนังสือ "อนุทิน" ดันตัวเลขเดิมเข้า ครม. ย้ำชัดไม่ได้เงิน ก็แค่ผิดหวัง แต่ทำงานตามมาตรฐานต่อไป พร้อมแนะผู้ใหญ่คิดจะให้อะไร ให้ถามความเห็นก่อน อย่าพูดแล้วกลับคำทีหลัง

นายจำรัส คำรอด ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาสาสมัครสาธารณสุข จ.ฉะเชิงเทรา นัดหารือ และแถลงข่าวโรงแรมเดอะ เล็คกาซี่ ย่านงามวงศ์วาน กรณีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ตัดงบประมาณ อสม. ในช่วงโควิด-19 เดือนละ 500 บาท จาก 19 เดือน เหลือ 7 เดือน ว่า ที่ผ่านมา อสม.เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อโควิด -19 โดยไม่ได้เรียกร้องอะไร ซึ่งต้องขอบคุณ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี , นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ ร รมว.สาธารณสุข , นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ที่มีการเสนอว่าจะให้ค่าตอบแทนเป็นค่าเสี่ยงภัยเดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 19 เดือน ตั้งแต่ มี.ค.2563 ถึง ก.ย.2564 ซึ่งผ่านมาจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้ จึงมีความสงสัยว่ามีปัญหาหรือไม่ ล่าสุดทราบว่าทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ จะตัดค่าตอบแทนดังกล่าวเหลือเพียง 7 เดือนเท่านั้น จึงอยากจะให้กำลังใจรัฐบาลในการผลักดันการจ่ายในอัตราเดิมที่เคยระบุไว้คือ 500 บาท นาน 19 เดือน เพื่อเข้า ครม.ให้สำเร็จ โดยวันพุธที่ 29 ก.ค.นี้ เวลา 07.30 น. จะไปยื่นหนังสือถึง นายอนุทิน ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้กำลังใจที่ช่วยผลักดันเรื่องนี้ พร้อมแนบรูปแบบการทำงานของชาว อสม.

นายจำรัส บอกว่า สภาพัฒน์ มองในมุมของตัวเอง โดยไม่เห็นว่า อสม. ต้องออกไปเสี่ยงภัย เคาะประตูบ้านค้นหาคนเสี่ยงติดเชื้อโควิด ถูกสุนัขกัดบ้าง อุบัติเหตุบ้าง ทุกวันนี้ อสม.ยังไม่หยุดทำงาน และยังต้องไปดูแลควบคุม ป้องกันโรคในงานบุญ งานบวช งานศพ การเปิดโรงเรียนต่างๆ ก็ไปร่วมดูแลคัดกรอง บางครั้งหมู่บ้านไม่มีเครื่องวัดไข้ ก็ควักเงินตัวเองซื้อ เครื่องละ 3,000 บาท อีกทั้งการไปคัดกรองที่ต่างๆ ก็มีค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง กลับมาครอบครัวก็มีปัญหาเรื่องการกิน การอยู่ ต้องแยกห้องนอน แยกสำรับอาหาร และข้าวของเครื่องใช้ บางครอบครัวทำงานจิตอาสามากๆ ต้องหยุดเพื่อหันมาดูแลคนในครอบครัวตัวเองบ้าง แต่สภาพัฒน์ฯ กลับบอกว่าค่าเสี่ยงภัยที่จะให้นั้นมากเกินไป จะตัดเหลือ 7 เดือน ซึ่งพวกเราทำงานจิตอาสาถ้าบอกว่าจะไม่ให้ ก็ไม่ว่าอะไร แต่เมื่อบอกว่าจะให้เอง ก็อยากให้สภาพัฒน์ส่งตัวแทนมาคุยกับพวกเรา

"ถ้าสุดท้ายจะตัดลดเงินค่าเสี่ยงภัยเหลือ 7 เดือนจริงๆ หรือไม่ให้อะไรเลยก็ไม่ว่า เพราะเราก็ทำงานจิตอาสามาตลอดอยู่แล้ว แค่ผิดหวัง แต่ฝากผู้ใหญ่ เมื่อท่านพูดอะไรแล้ว อสม. ก็มีความหวัง ดังนั้นครั้งหน้าอยากจะให้อะไร อสม. ให้ปรึกษาเราก่อน ไม่ใช่ว่าพูดว่าจะให้แล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ แบบนี้ใช้ไม่ได้ จริงๆ เราเข้าใจว่าเงินนี้เป็นเงินกู้ เราเองก็ไม่ได้อยากได้ แต่วิถีชีวิตใหม่ มีอะไรที่ต้องดูแลมากขึ้น ต้องมีอะไรซับพอร์ตเราหรือไม่ ซึ่งเราทำงานดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนถึงเสียชีวิต ก็อยากให้สภาพัฒน์ฯ ทราบและเห็นใจเราด้วย"

ด้าน นายอัมรินทร์ นิ่มนวล ประธาน อสม. จ.ชลบุรี กล่าวว่า ไม่ว่าจะมีมติอย่างไร เรารับได้หมด แต่การทำงานของ อสม.จะมีมาตรฐานการทำงานเหมือนเดิม เราไม่เอาเงินมาเป็นตัวต่อรอง เราเป็นนักรบด่านหน้าก็ต้องทำงานเหมือนเดิม แม้ว่าสภาพัฒน์ จะเห็นความสำคัญเราหรือไม่ แต่ชมรมฯ ยังเห็นความสำคัญของ อสม.เอง เราทำงานด่านหน้า 20-30 คน ในการติดตาม ค้นหาคนเสี่ยงติดเชื้อมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 2-3 คน มาร่วม หากเกิดการติดเชื้อพวกเราติดก่อน ดังนั้นอยากให้สภาพัฒน์ฯ ที่นั่งอยู่ในห้องแอร์ ได้เข้าใจตรงนี้ด้วย

สำหรับ อสม. ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีจำนวน 1,040,000 คน อายุน้อยสุด 18 ปี อายุเฉลี่ย 55 ปี และ อสท. สูงวัย เกิน 70 ปีก็มี