'ราชบัณฑิต' ยุคใหม่ กับ 'ศัพท์บัญญัติ' ดิสรัปชัน

'ราชบัณฑิต' ยุคใหม่ กับ 'ศัพท์บัญญัติ' ดิสรัปชัน

จะทับศัพท์หรือบัญญัติศัพท์ใหม่ ในยุคที่โลกหมุนไว “ราชบัณฑิต” ไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันภาษาที่เปลี่ยนเร็วกว่า 5G

มองเป็นพลวัตทางภาษาก็ได้ หรือจะนิยามว่าเป็นการดิสรัปชันของยุคสมัยก็ไม่ผิด กับการใช้ศัพท์ใหม่ซึ่งเปลี่ยนไปแบบติดสปีดของคนยุคนี้ที่การเลื่อนไหลจากภาษาต่างประเทศเข้ามาผสมภาษาไทย ผลิดอกออกผลเป็นคำทับศัพท์บ้าง คำแสลงบ้าง จนระบบนิเวศภาษาบ้านเราหลากหลายและซับซ้อนขึ้นทุกทีๆ

ขณะที่ศัพท์แสงเกิดใหม่กลายเป็นคำติดปาก แทบทุกวันจะเกิดคำศัพท์แปลกตาให้เห็นบนโซเชียลมีเดีย แล้วค่อยๆ แทรกซึมจนมีคนใช้กันแพร่หลาย ศัพท์เหล่านี้มักถูกนิยามขึ้นจากสื่อ จากคนดัง หรือแม้กระทั่งจากประชาชนคนธรรมดา ทว่าอีกฟากคือ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สถาบันที่มีหนึ่งในพันธกิจบัญญัติศัพท์ในภาษาไทยให้เป็นไปตามหลักการและเป็นระบบ

  • ศัพท์...ขาหลอก

ถึงบทบาท ‘บัญญัติศัพท์’ ของราชบัณฑิตยสภาจะเป็นไปตามมาตรา 8 วงเล็บ 6 ของพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558 ระบุว่าให้สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีอำนาจหน้าที่ ดําเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่างๆ รวมทั้งการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วิชาการภาษาต่างประเทศ เป็นภาษาไทยและงานวิชาการอื่นๆ ทว่า คำศัพท์แปลกประหลาดที่ไร้ที่มาก็มักจะโผล่ขึ้นกลางโซเชียลมีเดีย แล้วเข้าอีหรอบ ‘ข่าวลือไปไวกว่าไฟลามทุ่ง’ จนราชบัณฑิตยสภาถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวตลก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา พูดถึงเรื่องนี้ว่า ‘ศัพท์บัญญัติ’ ที่เห็นกันมีทั้งที่ราชบัณฑิตฯ บัญญัติและไม่ได้บัญญัติแต่หาว่าเป็นศัพท์บัญญัติจากราชบัณฑิตฯ ยกตัวอย่างเช่นคำว่า Twitter ราชบัณฑิตฯ บัญญัติทับศัพท์ว่า ทวิตเตอร์ แต่ในโซเชียลมีเดียบอกว่า สำเนียงสกุณา หรือ Socialization ราชบัณฑิตฯ บัญญัติว่า การขัดเกลาทางสังคม หรือ สังคมกรณ์ แต่ถูกบิดเบือนเป็น สังคมประกิต ซึ่งนายกราชบัณฑิตยืนยันว่าไม่ใช่

นอกจากนี้ยังมีหลายตัวอย่างศัพท์บัญญัติที่ถึงแม้ราชบัณฑิตยสภาจะบัญญัติไว้จริง แต่บัญญัติไว้หลายคำตามบริบทของแต่ละสาขาวิชา แน่นอนว่าถูกนำไปล้อเลียนว่าเป็นคำยาก คำประหลาด อาทิ Intuition ศัพท์บัญญัติสาขาวิทยาศาสตร์ว่า สหัชญาณ ส่วนสาขาวิชาภาษาศาสตร์ทั่วไปใช้ การรู้เอง และสาขาวิชาปรัชญาใช้ อัชฌัตติกญาณ และ การรู้เอง

หรือคำว่า Category ศัพท์บัญญัติสาขาวิชาปรัชญาคือ ปทารถะ และ ประเภท ส่วนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์, สังคมวิทยา และภาษาศาสตร์ทั่วไป ใช้ ประเภท ทั้งสิ้น

“ศัพท์บัญญัติบางคำราชบัณฑิตทำทั้งภาษาไทยและแบบบาลี-สันสกฤต แต่บางคนเลือกเอาคำบาลี-สันสกฤตไปล้อเลียนว่าราชบัณฑิตฯ คิดคำแบบนี้ใครจะรู้เรือง ใครจะใช้ ที่จริงไม่ใช่ เราต้องดูเสมอว่าการบัญญัติศัพท์นั้นต้องสะท้อนถึงความหมายที่แม่นยำ และศัพท์บัญญัตินั้นเราหวังว่าจะมีผู้คนนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ใช่บัญญัติแล้วขึ้นหิ้ง

อย่าคิดว่าเราเป็นตัวตลก แต่เราก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ เราก็พยายามชี้แจง อธิบายให้ทราบว่าของจริงคืออะไร”

แต่กระนั้นศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตก็มีบางคำที่ถึงจะไม่ติดตลก แต่ก็ไม่ติดตลาด จนถึงขนาดต้องปัดตกไม่ได้ไปต่อในการรับรู้ของคนไทย เช่น คำว่า computer ที่อดีตราชบัณฑิตยสภาเคยบัญญัติว่า ‘คณิตกรณ์’ และ ‘คอมพิวเตอร์’ จากคณะกรรมการสาขาวิทยาศาสตร์ และสาขาคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ ปรากฏว่ามีเพียงคำทับศัพท์คอมพิวเตอร์เพียงคำเดียวที่รอด

“คำพวกนี้เวลาบัญญัติมาแล้ว ไม่มีใครบอกได้ว่าถูกหรือผิดจนกว่าจะเอาไปใช้ พอใช้แล้วจะติดตลาดไหม คนใช้แพร่หลายหรือเปล่า ส่วนคำที่คนไม่นิยมใช้ก็จะตายไปเอง อย่างที่ผมยกตัวอย่างตอนนี้มีใครใช้คำว่าคณิตกรณ์ ก็เรียกว่าคอมพิวเตอร์กันหมด”

  • ภาษาเป็นของ ‘ประชาชน’

ความท้าทายของการบัญญัติศัพท์ดูจะเข้มข้นขึ้นตามยุคสมัย จนบางคนตั้งคำถามว่ายังจำเป็นอยู่หรือไม่กับภารกิจนี้ที่ "ราชบัณฑิต" ยังทำมาอย่างต่อเนื่อง

เรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ อรพัช บวรรักษา สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า อาจต้องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือคนที่รู้ภาษาต่างประเทศอยู่แล้วหรือเป็นคนรุ่นใหม่ที่เสพสื่อออนไลน์เป็นปกติจะไม่มีปัญหากับคำทับศัพท์ที่ดาหน้ากันเข้ามา แต่กับอีกกลุ่มคือผู้สูงวัยหรือคนที่ไม่มีความรู้เรื่องภาษาต่างประเทศเลย จะเป็นปัญหาด้านการสื่อสาร

แต่ถึงกระนั้นบางคำที่แพร่หลายมากๆ ก็จะเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม เช่น คำว่าเฟซบุ๊ค ที่ไม่ว่าใครก็รู้จัก ในทางกลับกันบางคำที่ธรรมดาสำหรับหลายคนอาจมีหลายคนไม่เข้าใจ เช่น อีเมล รศ.อรพัชบอกว่านี่คือตัวอย่างของการบัญญัติศัพท์ที่ไม่ติดตลาด เพราะราชบัณฑิตบัญญัติว่า จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแทบไม่มีใครใช้ ยกเว้นครูอาจารย์บางคนที่ใช้ในเอกสารทางการ แต่เวลาพูดก็ยังใช้คำว่าอีเมล

“ถามว่าการบัญญัติศัพท์ยังจำเป็นหรือไม่ บางคำก็อาจจะจำเป็นในกรณีที่สื่อสารกว้างๆ เช่น นิวนอร์มัล คิดว่าชาวบ้านทั่วไปก็คงรู้ แต่ถ้าเราไม่พูดอะไรที่เป็นภาษาไทยบ้างก็อาจมีปัญหา อาจจะไม่เข้าใจความหมายหรือปฏิบัติตามได้ เรื่องแบบนี้มองได้หลายมุมมาก

การบัญญัติศัพท์ก็คงต้องมีอยู่ ไม่ใช่ทิ้งไปเลย เพราะบ้านเรายังมีความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ยังมีคนที่ยังเรียนหนังสือน้อยก็มีจำนวนมาก”

จะเห็นได้ว่าถึงจะบัญญัติศัพท์หรือทับศัพท์ คนที่ตัดสินให้คำเหล่านั้น ‘สอบผ่าน’ หรือ ‘สอบตก’ ก็คือมวลชน เหมือนกับที่อาจารย์ด้านภาษาไทยคนนี้นิยามว่า “ภาษาเป็นของประชาชน”

“ภาษาเป็นของประชาชนเพราะถ้าบัญญัติมาแล้วเขาไม่ใช้ก็ตกไป เช่นยกตัวอย่างคำว่า พฤทธิธรรม ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติมาก่อนคำว่าวัฒนธรรม อาจเพราะการออกเสียงยากจนชาวบ้านไม่ใช้ และมีคำอื่นๆ อีกหลายคำที่บัญญัติมาแล้วไม่ติดตลาด ไม่ติดหู มีพัฒนาการของมันเยอะมากเลยเรื่องการบัญญัติศัพท์

ในสังคมไทย การไม่มีสิ่งนั้นอยู่แต่เดิม พอมีสิ่งนั้นเข้ามาก็ต้องหาคำเรียกว่ามันคืออะไร แต่ก่อนจะมีคำไทยใช้เรียก อย่างในไกลบ้านของในหลวงรัชกาลที่ 5 พระองค์จะทับศัพท์หมดเลยนะ เหมือนยังไม่มีการตั้งสถาบันที่มีหน้าที่บัญญัติศัพท์ พระองค์ก็ถอดมาตามภาษาอังกฤษ เช่น Light House ก็คือ ประภาคาร แต่เมื่อก่อนไม่มีคำนี้ใช้ พระองค์ก็ใช้ทับศัพท์เลย

ต่อมาเมื่อมีคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ก็ทำหน้าที่นี้ เช่น สมัยก่อนที่เมืองไทยยังไม่มีน้ำแข็ง ก็ต้องนำเข้าน้ำแข็งมาจากสิงคโปร์ พอเห็นน้ำแข็งครั้งแรกก็ไม่รู้จะเรียกอะไร เขาก็เอาคำไทยที่มีอยู่ก่อนมาคิดว่ามันคือน้ำที่มีลักษณะแข็ง ก็เลยเป็นน้ำแข็ง เป็นต้น”

หลังจากนั้นเมื่อศัพท์บัญญัติเกิดขึ้นมาจนเรียกว่าคำไทยมีไม่พอ จึงนำบาลี-สันสกฤตเข้ามาช่วยเสริม เช่นคำว่า โทรทัศน์ คำว่า Tele ตรงกับบาลี-สันสกฤตว่า โทร (โทระ) และทัศน์ (ทัศนะ) แปลว่ามองดู เมื่อรวมกันเป็นโทรทัศน์คือมองดูจากที่ไกล ซึ่งกว่าแต่ละคำจะเกิดขึ้นมาได้นั้นอาจมีคำอื่นมาก่อน แต่ไม่นิยมใช้จนตายจากไป

“ตั้งแต่โบราณมาแล้ว การที่คนไม่รับคำศัพท์นั้นไม่ได้แปลว่าเขาโกรธหรือเขาเกลียด เพียงแต่เขาไม่ถนัด หรือไม่ได้เหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวัน ในที่สุดอะไรที่คนไม่รับ ราชบัณฑิตฯ เขาก็ต้องปรับตัว แก้ไข ยกตัวอย่างคำว่า โรฮิงญา ที่วันดีคืนดีราชบัณฑิตบอกว่าต้องเขียน โรฮีนจา ซึ่งเราก็ยังพูดโรฮิงญา แต่พอจะเขียนอะไรทางการค่อยเขียนโรฮีนจา ในมุมคนใช้ภาษาแบบครูอาจารย์เลยค่อนข้างเป็นปัญหาและความยากลำบาก”

  • เคี่ยวกรำเพื่อคำศัพท์

พรมแดนโลกที่เปิดกว้างมาพร้อมพรมแดนภาษาที่กว้างกว่า กอปรกับพฤติกรรมคนยุคนี้ที่มีเทคโนโลยีอยู่รอบตัวตลอดเวลา ทำให้นายกราชบัณฑิตฯ ยอมรับว่าต้องพยายามตามโลกให้ทัน

“โลกโซเชียลทำให้เกิดผลกระทบมากมาย ผลกระทบที่ว่าก็อย่างเช่น เมื่อศัพท์เข้ามาแล้ว เราก็พูดทับศัพท์กันไปเรื่อย พอราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์มาใหม่บางทีก็ไม่ติดตลาด เพราะเราคุ้นกับคำเดิมกันอยู่แล้ว”

เขายกตัวอย่างคำยอดฮิตของยุคนี้ คือ New Normal โดยที่ราชบัณฑิตยสภาเลือกบัญญัติไว้ 3 คำว่า นิวนอร์มัล, ความปกติใหม่ และฐานวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งในคำทับศัพท์มีเหตุผลว่าคำนี้ไม่ได้ใช้กับชีวิตความเป็นอยู่เพียงอย่างเดียว แต่ใช้กับเรื่องอื่นด้วย อาทิ เรื่องเศรษฐกิจ ภูมิอากาศ ฯลฯ คำนี้จึงหมายถึงความไม่ปกติแต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้สิ่งที่คนไม่เคยปฏิบัติต้องมาปฏิบัติกันอย่างเป็นมาตรฐาน

ซึ่งการเลือก ‘ทับศัพท์’ หรือ ‘บัญญัติใหม่’ มีเกณฑ์อยู่พอสมควร ในเบื้องต้นนายกราชบัณฑิตฯ อธิบายว่า ต้องพยายามหาคำไทยที่เหมาะสมให้ได้ก่อน ถ้าไม่ได้ค่อยก้าวสู่บันไดขั้นต่อไปคือใช้ภาษาบาลี-สันสกฤต และถ้าท้ายที่สุดไม่มีคำใดแล้วก็ใช้ทับศัพท์ ซึ่งปัจจุบันการทับศัพท์เริ่มมีแนวโน้มมากขึ้น

“การบัญญัติศัพท์มีประโยชน์อยู่แล้ว และไม่ใช่เรื่องง่าย ยากลำบากมาก ถึงแม้เราจะคิดให้รอบคอบแล้ว ปรึกษาหารือกับผู้รู้แล้ว ก็ยังหลีกเลี่ยงความบกพร่องไม่ได้ เพราะภาษามีเอกลักษณ์ทั้งด้านความหมายและเสียง

ซึ่งเรามีทั้งคณะกรรมการวิชาการจากแต่ละสาขาวิชา ถ้าศัพท์ไหนเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาไหน กรรมการชุดนั้นก็จะบัญญัติมา แต่บางศัพท์เกี่ยวข้องกับหลายสาขาวิชา คือ ใช้หลายบริบท หลายมิติ เราก็มีกรรมการอีกชุดหนึ่ง มีหน้าที่บัญญัติศัพท์ที่เกี่ยวข้องหลายสาขาวิชาและมีความจำเป็นเร่งด่วน กรรมการชุดนี้จะพูดคุยกับชุดที่เคยบัญญัติมาแล้วว่าควรจะใช้อะไร ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ให้ใช้ได้ 2-3 คำ แต่บัญญัติมาแล้วคนจะใช้ไหมก็ต้องรอเวลาให้คนลองใช้ดู”

กว่าจะได้ศัพท์บัญญัติสักคำ มีขั้นตอนมากมาย ประการแรกคือ ต้องสืบค้นกันว่าศัพท์คำนี้เคยบัญญัติมาก่อนหรือเปล่า ถ้ามีคณะกรรมการสาขาอื่นบัญญัติมาก่อนแล้วจึงนำมาพิจารณาว่ายังใช้ได้กับสาขาอื่นๆ หรือเปล่า ถ้าใช้ไม่ได้ก็บัญญัติขึ้นใหม่

การบัญญัติใหม่ต้องหารือกันในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าคำศัพท์คำเดียวแต่มีศัพท์บัญญัติเกิดขึ้น 2 คำ ไม่เหมือนกัน ก็ต้องเข้าสู่กรรมการอีกชุดที่เรียกว่ากรรมการบัญญัติศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับหลายสาขาวิชาและจำเป็นเร่งด่วน เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน คัดสรรเหลือคำเดียว ยกเว้นทั้งสองคำมีความหมาย บริบท มิติแตกต่างกัน จะคงไว้ทั้งหมด แล้วค่อยนำไปเผยแพร่ทางสื่อ

“ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติของเรา และเราเป็นเอกราชมานาน ผมคิดว่าถ้าเรายังมีศัพท์บัญญัติที่เข้าใจกันได้ แล้วมีผู้ใช้ ผมก็ว่าเป็นเรื่องดี ควรจะต้องทำต่อ มิเช่นนั้นเราก็ต้องทับศัพท์กันไปหมด

ผมไม่ได้หมายความว่าทับศัพท์ไม่ดี แต่ถ้าบัญญัติได้ก็ดี แต่ถ้าบัญญัติแล้วเป็นบาลี-สันสกฤต ไม่เข้าใจกัน อันนี้ก็ไม่ดี” นายกราชบัณฑิตยสภา กล่าว

ถึงชื่อและภาพจำของราชบัณฑิตยสภาจะดูโบราณ แต่นายกราชบัณฑิตฯ ย้ำว่าเรื่องก้าวทันโลกคือหนึ่งในจุดมุ่งหมายของสถาบันแห่งนี้อยู่แล้ว ทั้งบุคลากรที่มีทุกช่วงวัยแต่ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา จะเป็นฟันเฟืองของการทำงานที่เขาบอกว่า “ไม่มีการบัญญัติศัพท์แบบโบราณเต่าล้านปี เราลดบทบาทของบาลี-สันสกฤตลง แต่คำไทยยังมี และการเขียนทับศัพท์อาจจะมากขึ้น เพราะสื่อความหมายได้และเข้าใจได้ดีกว่า