อภ.เล็งใช้งบ10-20ล้านบาท ซื้อเครื่องจักรพัฒนาสารสกัด 'กัญชา'

อภ.เล็งใช้งบ10-20ล้านบาท ซื้อเครื่องจักรพัฒนาสารสกัด 'กัญชา'

อภ.เล็งใช้งบ 10-20 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักรพัฒนาสารสกัด "กัญชา" หวังเกิดประโยชน์ทางการแพทย์ คาดใช้กัญชาแห้ง 500 กก./ปี นำเข้า 20 สายพันธุ์จากแคนาดา พร้อมตั้งคณะทำงาน 4 ชุดศึกษากัญชาครบวงจร

เมื่อวันที่ 10 พ.ค.61 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ครั้งที่ 1 /2561 นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ดอภ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ครั้งที่ 1 /2561 ว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงาน 4 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะทำงานเพื่อการพัฒนาการปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์ โดยให้องค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ 2.คณะทำงานเพื่อพัฒนาสารสกัดและการตรวจวิเคราะห์สังเคราะห์ โดยองค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานหลักเช่นกัน 3.คณะทำงานเพื่อพิจารณาการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยมีกรมการแพทย์ และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ และ4.คณะทำงานเพื่อวางระบบการควบคุมในการศึกษาวิจัยและการใช้ทางการแพทย์ ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า คณะทำงานที่3จะเริ่มดำเนินการก่อน เพื่อให้ทราบว่าแพทย์แผนปัจจุบันและแผนไทยใช้กัญชารักษาโรคใด และสัดส่วนของสารสำคัญในกัญชา ควรเป็นอย่างไร เพื่อบอกให้คณะที่ 1 และคณะที่ 2 นำไปพัฒนาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ โดยในต่างประเทศส่วนใหญ่จะใช้รักษาโรคทางสมอง ทั้งโรคลมชัก พาร์กินสัน เจ็บปวดเรื้อรังจากมะเร็งระยะสุดท้าย ส่วนมะเร็งอื่นๆ หรืออัลไซเมอร์ ออทิสติกก็ต้องพิจารณาข้อบ่งชี้ต่างๆ และศึกษาวิจัยต่อไป

ประธานบอร์ดอภ. กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการพัฒนาสารสกัดจากกัญชา องค์การเภสัชกรรม(อภ.)จะทำร่างเสนอเพื่อขออนุญาตดำเนินการ โดยจะมีการใช้ตึกของอภ.ที่ถนนพระรามหก ทำเป็นระบบปิด เพาะพันธุ์ปลูกชั้นบนด้วยการควบคุมปัจจัยต่างๆ ทั้งอุณหภูมิ แสงแดด ส่วนชั้นล่างจะเป็นที่สกัดสาร ใช้พื้นที่ 1,100 ตารางเมตร โดยใช้กัญชาแห้ง 500 กิโลกรัมต่อปี เพื่อใช้สกัดเป็นสารสำคัญมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์กับผู้ป่วย คาดว่า 1 คนต่อ 1 กิโลกรัม งบเบื้องต้นน่าจะประมาณ 10-20 ล้านบาทขึ้นอยู่กับเครื่องจักรในการสกัด

นพ.โสภณ กล่าวอีกด้วยว่า ในแง่ของกฎหมายมี 2 ประเด็น คือ 1. พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 สามารถอนุญาตปลูกได้ แต่ยกเว้นใช้ในคน และ 2. ประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง หากประมวลกฎหมายนี้ออกมาแล้ว ก็จะสามารถวิจัยในคนได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แจ้งว่าจะเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณา

“ในที่ประชุม ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า ประเทศไทยคงต้องปรับเปลี่ยนว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ก็ต้องดำเนินการ อย่าง กัญชา แม้จะมีทั้งประโยชน์และโทษ แต่จะทำอย่างไรให้เป็นนวัตกรรมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งในการประชุมกำหนดว่าต้องมีการดำเนินการให้ครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางในเรื่องปลูกพัฒนาสายพันธุ์ การสกัดสาร การนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ทั้งแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนปัจจุบัน และโรคทางสมอง รวมทั้งการควบคุม” นพ.โสภณกล่าว

ด้าน ผศ.วิเชียร กีรตินิจกาล นักปรับปรุงพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในส่วนของการปลูกกัญชา ช่วงแรกจะมีการนำเข้าสายพันธุ์กัญชาจากต่างประเทศ 20 สายพันธุ์ ซึ่งอาจนำเข้าจากแคนาดา แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะนำเข้ามาจำนวนเท่าไหร่ โดยนำเข้าเพื่อวิจัยปริมาณสารสำคัญต่างๆ และพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมเมืองไทย เพราะสายพันธุ์ต่างประเทศเมื่อนำเข้ามาแล้วต้องมาทำระบบสิ่งแวดล้อมรองรับ อาจจะเป็นลูกผสมกับสายพันธุ์ไทยหากทำได้ก็จะลดต้นทุนลงไปได้มาก ส่วนการหาสายพันธุ์จากของไทยนก็สามารถทำได้ โดยอาจมีทีมในการสำรวจแหล่งธรรมชาติ เพราะในประเทศไทยมักพบในแถบอีสาน เช่น สกลนคร เป็นต้น