วิลาสินี โฆษิตชัยวัฒน์ เถ้าแก่เนี้ยสร้างสุขพอดีๆ

วิลาสินี โฆษิตชัยวัฒน์ เถ้าแก่เนี้ยสร้างสุขพอดีๆ

ถอดบทเรียนชีวิต วิลาสินี โฆษิตชัยวัฒน์ เถ้าแก่เนี้ยเครื่องสำอางแบรนด์ไทยที่กล้าต่อกรอินเตอร์แบรนด์ เส้นทางนี้ต้องนวัตกรรมเท่านั้นถึงจะรอด

หลายคนที่กำลังคิดลงทุนทำธุรกิจ ลองมาฟังประสบการณ์จาก ‘วิลาสินี โฆษิตชัยวัฒน์’ เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสัญชาติไทย VOWDA (วาวด้า) ที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคจนสามารถขึ้นเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้าได้สำเร็จ พร้อมด้วยเป้าหมายที่จะตีตลาดยุโรปและอเมริกา

วิลาสินีสำเร็จการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขณะที่กำลังเรียนต่อระดับโทในสาขาวิชาเดิมกลับรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ จึงเปลี่ยนไปเรียนด้านบริหารก็ยังรู้สึกว่า ไม่ใช่ สุดท้ายจึงไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนระดับปริญญาโท เธอออกตามหาคำตอบให้กับชีวิตด้วยการเบรกชีวิตในรั้วการศึกษา แล้วสัมผัสชีวิตการทำงานในโรงงานเครื่องสำอาง ทำหน้าที่ดูแลฝ่ายการผลิต ซึ่งใกล้เคียงกับสิ่งที่ฝันตั้งแต่เด็กว่า อยากจะคิดสูตรเครื่องสำอางที่เหมาะสมกับตนเอง ที่มีปัญหาเรื่องสิวมาตั้งแต่เด็กตามกรรมพันธุ์ แถมยังเป็นคนที่แพ้ง่ายต้องใช้แต่ครีมตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

“คนเราไม่จำเป็นจะต้องทำงานตรงสาย มันขึ้นอยู่กับว่ามีความสนใจ ความใส่ใจมากน้อยแค่ไหน อย่างจ๋าถึงแม้จะเรียนวิศวะเคมีมา รู้แค่พื้นฐานการสกัดปิโตรเคมีส่วนสูตรสารสกัดเครื่องสำอางเป็นความรู้ที่ขวนขวายเพิ่มเติมแล้วลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ผนวกกับพื้นฐานที่บ้านทำธุรกิจวัดสายตาประกอบแว่น ซึ่งมีการใช้สารเคมีย้อมเลนส์แว่นตา จึงคุ้นเคยกับสารเคมีตั้งแต่เด็ก รวมทั้งได้เห็นคุณพ่อเขียนแบบงานก่อสร้าง เครื่องจักร ทำให้ซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้ช่วงเรียนวิศวะเคมี สามารถเขียนแบบเร็วกกว่าเพื่อน"

แต่หลังจากที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน 2 ปีถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อตัดสินใจแต่งงาน จึงลาออกจากโรงงานเครื่องสำอางไปอยู่ที่หัวหินตามสามี แรกๆ เธอช่วยสามีทำธุรกิจเคเบิลทีวีของครอบครัวจากนั้นก็เปิดบริษัท โป๋วเอวี๋ยน จำกัด ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางเป็นงานอดิเรกเล็กๆ น้อยๆ เริ่มจากทำแป้งฝุ่นทาตัวจากข้าว โดยขอ อย.ทำเป็นสถานผลิตขนาดเล็กใช้ตึกแถว 1 ห้อง คนงาน 1 คน จนกระทั่ง 2 ปีผ่านไปลูกค้าเริ่มติดแป้งฝุ่นข้าวมากขึ้น จากนั้นทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ชวนมาประกวดนวัตกรรม จึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทำจากข้าวโดยอาศัยความรู้เรื่องของการสกัดสีมาใช้พัฒนาเป็นลิปสติกสีอินทรีย์สกัดจากข้าว โดยนำข้าวไปหมักแล้วสกัดสีออกมา

เธอเลือกที่จะสร้างจุดขายให้กับลิปสติกที่ทำจากข้าว 100% ออกมาตอบโจทย์คนที่แพ้สารเคมีหรือกลัวการใช้ผลิตภัณฑ์ทำจากสารเคมี พร้อมกับนำมาประกวดขอทุนสนับสนุนโครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน จากนั้นประกวดในงานมูลนิธิข้าวไทยได้รับรางวัลอันดับสาม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ก้าวเข้ามาทำธุรกิจเครื่องสำอางเต็มตัว เพราะทั้งลูกค้าและคู่ค้ารู้จักแบรนด์ VOWDA มากขึ้น

จากประสบการณ์การเป็นเจ้าของธุรกิจ วิลาสินี บอกว่า การมีธุรกิจตนเองใช่ว่าจะสบาย ตื่นสายได้ อยากทำอะไรก็ทำอะไรก็ทำ เหมือนอย่างที่หลายคนคิด เพราะการทำธุรกิจเหนื่อยกว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนล้านเท่า ต่อให้มีลูกน้องแต่เรายังต้องทำงานให้มากกว่าลูกน้อง เวลาเป็นเจ้าของธุรกิจจะไม่อยากมีวันหยุดขณะที่มนุษย์เงินเดือนมีวันหยุด มีเงินเดือนตายตัว แต่ถ้าทำธุรกิจบางเดือนอาจจะไม่มีเงิน ชีวิตเหมือนแขวนบนเส้นด้ายตลอดเวลา

กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เธอแทบกระอักเลือดเหมือนกัน แม้จะมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการผลิต แต่ไม่มีคอนเนคชั่นในการติดต่อแหล่งวัตถุดิบ คู่ค้าต่างๆ ต้องอาศัยความพยายามบวกแรงฮึดอย่างมาก กว่าที่จะผ่านจุดนั้นมาได้ อย่างไรก็ตาม แนวทางการทำธุรกิจของเธอเน้นโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้เงินต่อเงิน รวยช้าไม่เป็นไร ขอให้เติบโตแบบยั่งยืนมากกว่ารวยเร็ว ล่าสุดกำลังขยายกำลังการผลิต 2 คูหาพร้อมเตรียมขอ GMP

ขณะที่ให้เวลาเต็มร้อยกับชีวิตนักธุรกิจ แล้วห่างเหินและเพิกเฉยกับการดูแลสุขภาพ ส่งผลให้เกิดอาการช็อคจนหมดสติระหว่างไปทำงานในต่างประเทศ หลังจากฟื้นตัว เธอวิตกกังวลว่า จะเป็นโรคหัวใจเพราะบางครั้งคุยอยู่ดีๆ มีความรู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดปกติ แพทย์เข้าใจว่า เธอเป็นโรคไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร ซึ่งเกิดจากการช็อค จึงให้รับประทานยา ปรากฏว่าหัวใจเต้นช้าลงเหลือแค่ 45 ครั้งต่อนาที นอกจากแพทย์โรคหัวใจแล้ว เธอยังเข้าไปปรึกษาจิตแพทย์ด้วย ถึงรู้ว่า ตัวเองเป็นโรคตื่นตระหนกซึ่งมีอาการคล้ายโรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง เวลาเป็นมือไม้เกร็งหมด ขณะนี้อาการดีขึ้น โชคดีที่รีบไปรักษาเร็ว

ปัจจุบัน วิลาสินีในวัย 33 ปี มีลูกสาววัย 5 ขวบที่ฉุดรั้งเธอกลับมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและใช้ชีวิตที่บาลานซ์มากขึ้น เพื่อที่จะมีเวลาดูแลครอบครัวอย่างใกล้ชิดแม้งานจะล้นมือ เพราะความสุขคือการใช้ชีวิตให้พอดี

*บทสัมภาษณ์เผยแพร่ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560