เครื่อง AED กับต้นแบบเชียงใหม่โมเดล

เครื่อง AED กับต้นแบบเชียงใหม่โมเดล

เปิดต้นแบบเชียงใหม่โมเดล ติดตั้งเครื่อง AED ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกือบทุกจุด

เปิดต้นแบบเชียงใหม่โมเดล ติดตั้งเครื่อง AED ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกือบทุกจุด “สนามบิน โรงพยาบาล และแหล่งท่องเที่ยว” พร้อมอบรมให้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมในการใช้เครื่อง และปฐมพยาบาลเบื้องต้น เชื่อเป็นหนึ่งในตัวช่วยให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น

ที่จังหวัดเชียงใหม่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) สัญจรครั้งที่ 6 ประจำปีพ.ศ. 2558 โดยในการประชุมมีการศึกษาดูงานการติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติหรือเครื่อง (AED) ในจังหวัดเชียงใหม่ด้วย ซึ่งถือเป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการกระจายการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะเกือบจะทุกแห่งที่มีประชาชนใช้บริการ

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นต้นแบบในการทำงานอย่างเข้มแข็งเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วยการติดตั้งเครื่อง AED ซึ่งหลายจังหวัดก็สามารถดำเนินการเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนในจังหวัดของตนเอง ทั้งนี้สถานการณ์ของประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในประเทศไทยนั้นน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ3 รองจากโรคมะเร็งและอุบัติเหตุของประชากรในประเทศไทย โดยประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันห้าหมื่นสี่พันคน เท่ากับว่าในทุกๆ 1 ชั่วโมงมีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 6 คน ทั้งนี้ผู้ป่วยฉุกเฉินจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันควรได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลา5 นาที ดังนั้นหากช้าเพียงนาทีเดียวก็จะทำให้โอกาสการรอดชีวิตลดลง เครื่อง AED จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยขยายเวลาการรอดชีวิตของประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ซึ่งประชาชนที่พบผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถช่วยเหลือได้ด้วยการช่วยชีวิตฉุกเฉินตามหลักของห่วงโซ่การรอดชีวิตโดยให้ผู้ที่เข้าให้การช่วยเหลือโทรแจ้งสายด่วน1669 การทำ CPR และนำเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ(AED)มาใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วย จนกว่าทีมแพทย์จะมาถึง

ด้านนายสุชิน ติ่งหมาย พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้าแผนกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน รพ.มหาราชนครเชียงใหม่กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดทางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย โดยในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเยือนจังหวัดนี้เป็นจำนวนมากดังนั้นการดูแลนักท่องเที่ยวหรือประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่เองให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น การรณรงค์ให้มีการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินจากอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องทำกันอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มติดตั้งที่สนามบินเชียงใหม่เป็นแห่งแรกและได้มีการกระจายติดตั้งไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัดอีกหลายแห่งอาทิ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ วัดพระธาตุดอยสุเทพ โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ในอนาคตจะขยายการติดตั้งเพิ่มที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ และที่สถานีขนส่งรถโดยสารอาเขตอีกด้วย

ทั้งนี้นอกจากการติดตั้งเครื่อง AED ในแต่ละจุดที่สำคัญแล้ว ยังได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์และฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่และประชาชนที่ใช้บริการในสถานที่ที่มีการติดตั้งเครื่อง AED ได้เรียนรู้วิธีการใช้งานเครื่อง AED เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยล่าสุดเราได้ทำการอบรมให้กับพระภิกษุสงฆ์ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพให้เรียนรู้หลักในการใช้งานเครื่อง AED และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากต้องช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในกรณีหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วย