ปัญหาสิ่งแวดล้อม 'น้ำมันรั่ว-บ่อขยะไหม้'

ปัญหาสิ่งแวดล้อม 'น้ำมันรั่ว-บ่อขยะไหม้'

เตือนปี57 ปัญหาสิ่งแวดล้อมปะทุ แค่3เดือน9เหตุ "น้ำมันรั่ว-บ่อขยะไหม้"

"น้ำมันรั่วหนึ่งครั้งส่งผลกระทบต่อทั้งวงจรการดำเนินชีวิตของธรรมชาติและมนุษย์ สารเคมีที่ตกค้างในทะเลส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศน์"

เป็นคำพูดของ รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างการแถลงข่าว ในโอกาสครบ 100 ปีของการก่อตั้งคณะ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยได้เผยแพร่ข้อมูลการรั่วไหลของน้ำมัน ผลกระทบ แนวนโยบายการจัดการและการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากคณาจารย์ของภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่ติดตามปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงปัญหาที่พบเมื่อได้ลงพื้นที่ติดตามประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมว่า นับวันจะมีให้เห็นถี่ขึ้นอย่างน่าวิตก เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งประวัติศาสตร์ที่อ่าวพร้าว จ.ระยอง ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยต้องเผชิญ เพราะจากบันทึกของกรมเจ้าท่าระบุชัดเจนว่า ตั้งแต่ปี 2540-2553 เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลในปริมาณมาก คือมากกว่า 20,000 ลิตรขึ้นไป รวมกันมากกว่า 9 ครั้ง (ดูกราฟฟิกประกอบ)

นอกจากนั้น จากการเก็บสถิติการเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมย้อนหลังกลับไป 8 ปี พบว่าจำนวนครั้งที่เกิดปัญหามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี กล่าวคือ จากปี พ.ศ. 2550 พบปัญหาดังกล่าวเพียง 1 ครั้ง แต่ในปี 2557 สถิติแสดงให้เห็นว่ามีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นถึง 9 ครั้งแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึง 3 เดือนด้วยซ้ำ

รศ.ดร.พิสุทธิ์ เปรียบแนวโน้มของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจว่า เป็น "พายุปัญหาสิ่งแวดล้อม" และย้ำว่าเฉพาะปีนี้ ผ่านมาเพียง 3 เดือน แต่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากถึง 9 ครั้ง ได้แก่ หมอกควันภาคเหนือ, น้ำประปาเค็ม, น้ำมันรั่วไหลที่บางแสน จ.ชลบุรี, น้ำมันรั่วไหลที่ จ.นครศรีธรรมราช, ไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา จ.สมุทรปราการ, ไฟไหม้บ่อขยะพบพระ จ.ตาก, ไฟไหม้บ่อขยะร้าง จ.สุราษฎร์ธานี, ภัยแล้ง และ น้ำมันรั่วที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร

นอกจากนั้นยังพบปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันในปริมาณไม่เกิน 1,000 ลิตร ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั่วไปตามบริเวณชายฝั่งทะเลและกลางทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน แต่ปริมาณไม่เกิน 1,000 ลิตรไม่ค่อยเป็นข่าว ไม่ค่อยมีใครใส่ใจ เพราะน้ำมันปริมาณเท่านี้เทียบกับความกว้างใหญ่ของมหาสมุทร จะดูเหมือนน้ำหนึ่งหยดในอ่างน้ำใบใหญ่ เป็นปริมาณที่เล็กน้อยมาก ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากปริมาณน้ำมันจำนวนเท่ากันนี้ รั่วไหลในลำคลองขนาดเล็ก ปัญหาและผลกระทบจะมีความรุนแรงขึ้นมาทันที

ที่สำคัญต้องไม่ลืมเรื่องการสะสมของสารพิษในสัตว์น้ำ การต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีมลพิษ แม้จะไม่มาก ไม่เกินมาตรฐาน แต่เมื่อเกิดการสะสมไปนานๆ ย่อมเป็นอันตรายได้เช่นกัน

จากข้อมูลของสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ได้แบ่งระดับความเสี่ยงและรุนแรงจากการรั่วไหลของน้ำมัน พบว่า ชายฝั่งทะเลตะวันออก แถบ จ.ชลบุรี และ ระยอง มีการรั่วไหลของน้ำมันบ่อยมากที่สุด พื้นที่บริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม โรงงาน ท่าเรือ และชายหาดที่สวยงาม ลักษณะทั้งหมดนี้ก็มักมีโอกาสการรั่วไหลของน้ำมันจากการสัญจรของเรือและกิจกรรมทางน้ำที่หนาแน่น

"มักมีการลักลอบทิ้งน้ำอับเฉาเรือลงสู่ทะเล ซึ่งจะมีน้ำมันเตาปนเปื้อนอยู่ด้วย และอาจมีการตกหล่นระหว่างการขนถ่ายยางมะตอยที่ท่าเรือ เมื่อคลื่นทะเลซัดเข้าหาฝั่ง คราบน้ำมันจึงเกิดขึ้น ดังเช่นที่เกิดที่หาดบางแสน" รศ.ดร.พิสุทธิ์ ระบุ

เขาบอกอีกว่า น้ำมันเป็นสารประกอบประเภทไฮโดรคาร์บอน ซึ่งบางชนิดทำให้เกิดมะเร็งได้ เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน หรือ พีเอเอช บางประเภททำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง บางชนิดระเหยง่าย เช่น กลุ่มวีโอซี ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบประสาทและระบบสืบพันธุ์ รวมถึงโลหะหนักชนิดต่างๆ เช่น สารตะกั่ว สารหนู และสารปรอท สารพิษทั้งหลายเหล่านี้ หากรั่วไหลสู่แหล่งน้ำหรือทะเล สิ่งมีชีวิตในทะเลก็จะได้รับสารพิษที่ตกค้างเหล่านี้ไปด้วย

ฉะนั้นแม้ปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันลงสู่ทะเลจะมีปริมาณน้อย แต่ก็สามารถส่งผลกับสิ่งมีชีวิตในทะเลอย่างรุนแรงได้ ซึ่งตามหลักวิชาการแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.ไบโอแอคคูมิวเลชั่น (Bioaccumulation) คือ สิ่งมีชีวิตรับสารพิษตกค้างและสะสมไว้ตลอดอายุขัย ซึ่งสารพิษที่สะสมจะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากยังคงดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิม

2.ไบโอแมกนิฟิเคชั่น (Biomagnification) คือ สิ่งมีชีวิตที่อยู่ท้ายห่วงโซ่ จะได้รับการถ่ายเทสารพิษตกค้างมาเป็นทอด ซึ่งความเข้มข้นของสารพิษก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ ซึ่งเก็บตัวอย่างน้ำทะเลจากอ่าวระยอง เกาะเสม็ด จำนวน 13 จุด เพื่อหาปริมาณน้ำมันหรือปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (ทีพีเอช) พบว่ามีค่าสูงถึง 9.08 ไมโครกรัมต่อลิตร จากค่าเฉลี่ย 1.20 ไมโครกรัมต่อลิตร แม้จะมองด้วยตาจะไม่พบคราบน้ำมันแล้วก็ตาม

ขณะที่ตะกอนดินบริเวณชายฝั่งทะเลและชายหาดอ่าวพร้าว มีค่า ทีพีเอช สูงกว่าอ่าวหวายถึง 15 เท่า รวมถึงยังมีน้ำมันที่ตกค้างอยู่ที่ผิวหน้าทรายและในผิวทรายด้วย

รศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวถึงการตรวจวัดค่าทีพีเอช ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานการตรวจสอบดังกล่าว จึงไม่สามารถตอบได้ว่า ค่าที่ตรวจวัดได้นั้นเกินกว่ามาตรฐานหรือไม่ แต่การบำบัดตะกอนดินและการฟื้นฟูสถานที่ปนเปื้อนมีความจำเป็นมาก

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาในซีกของภาครัฐ รศ.ดร.พิสุทธิ์ ชี้ว่า ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานหลักหรือตั้งเป็นกรมกองที่เป็นเอกภาพในการเข้ามาจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม แม้จะมีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือกรมควบคุมมลพิษ แต่ก็เป็นหน่วยงานที่แยกส่วนกันทำงาน ทำให้การรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ยั่งยืน

ทว่าในต่างประเทศจะมีศูนย์กลางรายงานข้อมูลและมีการจัดการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีแบบแผนรับมือที่ชัดเจน โดยศูนย์ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากประชาชนที่ร่วมกันจัดตั้งเป็น "กองทุน" หรือ "ซุปเปอร์ฟันด์" ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

รศ.ดร.พิสุทธิ์ สรุปว่า สุดท้ายแล้วภาคประชาชนจึงเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งในการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องสร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วมต่อสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเป็นของทุกคน เมื่อเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้น ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นที่ใด ผลกระทบย่อมตกอยู่กับคนทุกคนบนโลกใบนี้

เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของเรา คือเรื่องเดียวกัน!