มาตรฐานใหม่ร้านทำผม ช่วง'โควิด-19'

มาตรฐานใหม่ร้านทำผม ช่วง'โควิด-19'

หลังจากร้านเสริมสวย ร้านตัดผม มาเปิดใหม่อีกครั้ง ก็ต้้องมีการปรับตัวใหม่

หลังจากร้านเสริมสวยและร้านตัดผม กลับมาให้บริการอีกครั้ง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่รัดกุม เมื่อเร็วๆ นี้ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าไปจัดระบบ เพื่อให้ร้านทำผมที่

จำเป็นต่อวิถีชีวิตผู้คน ได้เปิดบริการด้วยระบบใหม่ เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 

โดยล่าสุด กรมอนามัยร่วมกับลอรีอัล ประเทศไทย จัดบรรยายมาตรฐานสุขอนามัยเกี่ยวกับธุรกิจร้านเสริมสวย และร้านตัดผม ทางเฟซบุ๊ค ไลฟ์ 

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เล่าว่า ถ้าจะให้กิจการใดกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง ต้องดูว่า กิจการแบบไหนจำเป็นต่อประชาชน เราพิจารณาแล้วเห็นว่า การตัด ตกแต่งทรงผม สระ ไดร์ เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของคนทั่วไป

“ต้องยอมรับว่าตอนที่ร้านทำผมปิดบริการ หากต้องดูแลทรงผมเองกับให้มืออาชีพดูแล มันต่างกัน ในที่สุดก็ต้องให้มืออาชีพช่วยดูแล เมื่อเราอนุญาตให้ผ่อนปรนไปแล้ว ก็อยากให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่อยากให้ปิดๆ เปิดๆ ซึ่งต้องฝากไปที่เจ้าของกิจการ ควรเปิดบริการในรูปแบบใหม่”

คุณหมอพรรณพิมล ย้ำว่าสิ่งสำคัญคือ การให้บริการต้องลดความเสี่ยงในการสัมผัสโรค ดังนั้นกระบวนการคัดกรองสำคัญมาก ไม่ว่าลูกค้าประจำหรือลูกค้าใหม่ต้องมีการลงทะเบียน หากมีการติดเชื้อ จะได้ติดตามมารักษาได้ทัน

"ผู้ประกอบการธุรกิจร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ต่างรู้ดีว่า ถ้าร้านไม่สะอาดก็ไม่มีคนอยากใช้บริการ แต่ถ้าทำได้ดี ก็จะเป็นร้านในใจของลูกค้าตลอดไป เราจึงวางมาตรการไว้ว่า ต้องพยายามให้ลูกค้าอยู่ในพื้นที่ในร้านให้สั้นที่สุด ขอให้ทำตรงนี้ก่อน ถ้าจัดระบบได้ดี โอกาสที่จะพัฒนาเรื่องอื่นๆ ก็จะตามมา”

 

20200430180513373

 

เรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า ต้องเว้นระยะห่าง ทำให้คนอยู่ห่างๆ กัน แต่ตอนที่ช่างทำผมให้บริการคงห่างกันไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการป้องกันตัวเอง ทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ที่สำคัญคือต้องสวมหน้ากากอนามัย ถ้าเป็นร้านที่มีเครื่องปรับอากาศต้องจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ

“เราไม่ได้ออกมาตรการว่า ต้องจำกัดจำนวนคนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ ต้องใช้ระบบนัดคิว ไม่ควรมีคนนั่งรอ เพราะจะเพิ่มจำนวนคน ทำให้แออัด ถ้าเป็นร้านที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรมีช่วงระบายอากาศออกไป อาจเปิดประตู ซึ่งจะช่วยได้มาก ซึ่งการเรียนรู้ตอนนี้สำคัญมาก”

 ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยทางด้านสุขอนามัยในร้านทำผม  นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เสริมว่า การคัดกรองผู้ใช้บริการ ไม่ใช่แค่ตรวจวัดอุณหภูมิอย่างเดียว ต้องซักประวัติเล็กน้อย ถามความเสี่ยงของลูกค้าและพนักงานในร้านด้วย

 “บางคนอาจไอ เป็นไข้ เจ็บคอ เนื่องจากไปสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ป่วยไวรัสโควิดมา รวมถึงไปในพื้นที่เสี่ยง ก็มีโอกาสแพร่กระจายไวรัสได้ ดังนั้นทุกร้านควรมีสบู่ล้างมือ เจลแอลกอฮอลล์ไว้บริการ อีกส่วนที่สำคัญคือ ระบบการระบายอากาศ ควรมีช่วงเวลาหยุดพักการเปิดเครื่องปรับอากาศ ส่วนการทำความสะอาดอุปกรณ์ต้องใช้แอลกอฮอลล์ ถ้าร้านไหนทำได้จะมียูวีฆ่าเชื้อก็ได้  กรณีการสระผมก็ไม่ควรให้ลูกค้าอยู่ติดกันมากไป หลายแห่งมีพลาสติกกั้นเพื่อให้ความมั่นใจลูกค้า ลดการแพร่เชื้อได้

นอกจากนี้ผู้ประกอบการหรือช่างทำผม ต้องหมั่นเช็คความเสี่ยงของตัวเอง อาจไปรับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัว ส่วนในเรื่องการแต่งตัวของช่างทำผมเหมือนหมอ คือใส่เสื้อคลุม เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และไม่ควรให้ผู้ใช้บริการอยู่ในร้านเกินหนึ่งชั่วโมง ที่บอกว่าให้ใช้เวลาในร้านให้น้อยที่สุด ต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าว่า ถ้ามีการนั่งรอ โอกาสที่จะรับเชื้อและแพร่เชื้อจากคนอื่นก็เป็นไปได้ เราจึงให้ใช้ระบบนัดหมาย

หากถามว่า ร้านทำผม ร้านเสริมสวย ในห้างสรรพสินค้า จะอนุญาตให้เปิดบริการเมื่อไร 

คุณหมอสราวุฒิ บอกว่า การอนุญาตให้เปิดหรือไม่  ก็ต่อเมื่อมีมาตรการจัดการได้ดี ถ้าเป็นเขตต่างจังหวัด ดุลยพินิจอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการจังหวัดนั้นๆ ทางกรมอนามัยมีหน้าที่กำหนดมาตรการจัดการกว้างๆ  

“ในส่วนร้านทำผมในห้างสรรพสินค้า คงต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะเป็นที่รวมคนเยอะๆ ไว้ที่เดียวกัน ร้านทำผมขนาดเล็ก กลางและใหญ่จะมีมาตรการต่างกัน เราใช้มาตรการกลางๆ ให้แต่ละร้านปฎิบัติตามได้ จะได้ลดความเสี่ยง ถ้าเป็นร้านที่มีเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา อากาศเย็นๆ ในร้านจะทำให้เชื้อเจริญเติบโตได้ดีและอยู่ได้นาน แต่ถ้าเป็นพื้นที่เปิด คงต้องอุณหภูมิ 60 องศา จึงจะฆ่าเชื้อไวรัสได้”

  หลังจากไปตรวจดูตามร้านทำผมหลายแห่ง คุณหมอสราวุฒิ บอกว่า หลายร้านทำได้ดี มีพลาสติกกั้นระหว่างผู้ใช้บริการและผู้บริการ บางร้านแค่ยืนมือไปสระผมอย่างเดียว มีนวัตกรรมที่ทำได้ดี

"มีคนถามว่าทำสีผม ทำทรีทเม้นท์ จะติดเชื้อไหม ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการให้บริการแบบนี้จะทำให้ติดเชื้อ แต่การทำสีผมและทำทรีทเม้นท์ ทำให้เพิ่มเวลาอยู่ในร้านมากขึ้น ถ้าไม่มีคนใดคนหนึ่งติดเชื้อ ก็ไม่เป็น ไม่มีปัญหาการแพร่เชื้อ ส่วนการสระผม น้ำยาที่ใช้สระทำความสะอาด ก็มีตัวยาฆ่าเชื้ออยู่ในนั้นแล้ว สิ่งสำคัญคือ ต้องลดเวลาการพูดคุย เพราะมีละอองฝอยออกมา

เพราะการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด

อีกอย่างแม้ช่างผมจะใส่เฟดชิลด์ ก็ต้องใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เพื่อลดการสัมผัสละอองฝอย ส่วนถุงมือที่ใช้ ไม่ควรให้เปียกแฉะ ปกติทางการแพทย์ไม่ใช้ถุงมืออันเดียวตลอดทั้งวัน ถ้าจะใช้ในร้านทำผม ก็ต้องทำความสะอาด แต่ถ้าทำได้ เมื่อให้บริการลูกค้าไปแล้ว ก็ควรทิ้ง 

หลักการง่ายๆ คือ ไม่ว่าจะใส่ถุงมือหรือไม่ใส่ เวลาสัมผัสสิ่งใด จะหยิบเงินหรืออะไรก็ตาม ต้องล้างมือทุกครั้ง ทำให้เป็นนิสัย และไม่จำเป็นต้องใส่ถุงมือตลอดเวลา 

บางครั้งอาจลืมทำความสะอาด ส่วนเวลาการไอจาม จะมีละอองฝอยลอยไปไกลกว่าการพูดคุย จึงต้องระวังการแพร่เชื้อ ส่วนหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ถ้าเปียกแฉะ ก็อาจถอดออกได้บ้าง แต่ควรมีระยะเวลารับเชื้อให้น้อยที่สุด กรรไกร หวี ต้องทำความสะอาดทุกครั้งต่อคนต่อครั้ง  ถ้าวันไหนมีลูกค้าเยอะ ก็ต้องเพิ่มช่วงเวลาทำความสะอาดพื้นที่"

คุณหมอสราวุฒิแนะอีกว่า การใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดอุปกรณ์เครืื่องมือตัดผมจะดีกว่าการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเพราะมีกลิ่น และการใ้ช้ควรใช้วิธีเช็ดมากกว่าฉีดพ่น เราต้องมีวิถีชีวิตใหม่ ก่อนออกจากบ้านต้องเตรียมตัวให้พร้อม 

“ก่อนตัดผม ช่างทำผม ต้องล้างมือ ใส่ถุงมือ ใส่เสื้อกาวน์หรือเสื้อคลุม ต้องทำให้เป็นปกติ"