‘ผีน้อย’ ภาพหลอนความเหลื่อมล้ำ

‘ผีน้อย’ ภาพหลอนความเหลื่อมล้ำ

ทางรอดที่ไร้ทางเลือกของแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ ภาพสะท้อนโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจไทย

 

ย้อนหลังกลับไปปลายปีที่แล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ได้เปิดให้แรงงานไทยที่อยู่อาศัยในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายและเกินวีซ่าเข้าเมือง รายงานตัวกลับไทยโดยสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 - วันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยไม่เสียค่าปรับและไม่ถูกสั่งห้ามให้เดินทางเข้าเกาหลีใต้อีก ทำให้มีแรงงานผิดกฎหมายที่ถูกตั้งฉายาว่า ‘ผีน้อย’ เริ่มทยอยเดินทางกลับประเทศ

ทว่า นั่นก็ยังไม่เกิดประเด็นดราม่าไปทั่วบ้านทั่วเมือง กระทั่งพบผีน้อยรายแรกที่ลักลอบไปทำงานในเกาหลีใต้ติดเชื้อ COVID-19 จนแรงงานไทยจำนวนมากแจ้งความจำนงขอเดินทางกลับบ้านเกิด ทำให้ช่วงวันที่ 2-10 มีนาคม ที่ผ่านมา มีจำนวนผีน้อยกลับไทยกว่า 1,773 คน ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งไม่ได้กักตัวเองตามคำแนะนำและยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ไปสังสรรค์พบปะเพื่อนฝูงตามสถานที่ต่างๆ จนทำให้เกิดความกังวลว่าคนเหล่านี้จะเป็นผู้แพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรน่าไปในวงกว้าง

การพูดถึง ‘ผีน้อย’ จึงแพร่สะพัดไปพร้อมๆ กับคำครหาที่ว่า 'เห็นแก่ตัว' 'ไร้จิตสำนึก' และไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นปรากฎการณ์ที่ตอกย้ำว่า 'ผีน้อย' ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ขณะเดียวกันความรู้ความเข้าใจของสังคมเกี่ยวกับแรงงานผิดกฏหมายในต่างแดนกลับยังน้อยมาก

 

กว่าจะมาเป็นผีน้อย

ที่มาที่ไปของผีน้อยนั้น ไม่ชัดเจนนักอย่างที่ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายไว้ในวงเสวนาเล็กๆ ที่ศูนย์เกาหลีศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดขึ้น ในประเด็น ‘ผีน้อยที่ไม่น้อย’ 

“บางคนบอกว่านี่ไม่ใช่ภาษาไทย แต่เป็นภาษาตากาล็อก หนึ่งในภาษาหลักของฟิลิปปินส์ ที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า ปินอย (Pinoy) ก็คือ ปิ คือฟิลิปปินส์ บวกกับ นอย คือ คน จึงเรียกตัวเองว่า ‘ปินอย’ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะแรงงานผิดกฎหมาย เป็นไปได้ว่าแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีมีคนฟิลิปปินส์อยู่เยอะ จึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ปินอย รวมถึงกลุ่มคนไทยที่เข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีด้วย และเพี้ยนมาเป็นภาษาไทยว่า...ผีน้อย”

หรืออาจจะเป็นชื่อที่ใช้เรียกแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีโดยเปรียบกับ 'ผีไร้ตัวตน' สื่อถึงคนที่ลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้และไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย แม้จะไม่ทราบที่มาแน่ชัด แต่ถ้าถามว่าแรงงานไทยเข้าไปลงหลักปักฐานในเกาหลีตั้งแต่เมื่อไรนั้น รศ.ดร.กิริยา เล่าว่า ราวปี 2518 เป็นต้นมา ไทยมีการส่งออกแรงงานไปยังต่างแดน แต่เป็นประเทศตะวันออกกลางที่ร่ำรวย มีบ่อน้ำมันและต้องการแรงงานก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจำนวนมาก ณ เวลานั้น ข่าวคราวของคนไทยที่ไปทำงานในต่างแดนจึงค่อนข้างหนาหู

ทว่าราวๆ ปี 2533 เกิดวิกฤติสงครามอ่าวเปอร์เซีย พร้อมๆ กับการโจรกรรมเพชรซาอุฯ ในตอนนั้นแรงงานไทยในตะวันออกกลางก็ไม่เป็นที่นิยมนัก และเบนเข็มไปที่ประเทศ 5 เสือแห่งเอเชีย (สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี มาเลเซีย บรูไน) ที่กำลังเจริญอย่างฉุดไม่อยู่ คนไทยต่างก็มุ่งไปทำงานยังประเทศดังกล่าวเพื่อเติมเต็มความฝัน คาดว่าผีน้อยน่าจะปรากฏในช่วงนั้น

“ปี 1990 เป็นช่วงที่เกาหลีพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งได้สำเร็จ จึงเริ่มมีความต้องการแรงงานมากขึ้น เนื่องจากแรงงานในประเทศขาดแคลน แรงงานต่างชาติทั้งฟิลิปปินส์รวมทั้งไทยด้วยต่างมุ่งหน้าไปเกาหลีเพื่อทำงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เป็นการลักลอบเข้าไปอย่างผิดกฎหมายนั่นเอง”

 

ทางลัดของความหวัง

อาจารย์นักเศรษฐศาสตร์ พูดถึงวัฒนธรรมการทำงานของเกาหลีใต้ในตอนนั้นว่าไม่ได้เปิดรับแรงงานต่างชาตินัก ซึ่งขัดกับความต้องการแรงงานในประเทศ ทำให้มีแรงงานเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมายเรื่อยๆ แต่เมื่อมีมากขึ้นจึงเริ่มควบคุมโดยใช้ระบบจ้างแรงงานต่างชาติที่เรียกว่า ITS (Industrial Trainee System) ระบบนี้เป็นการเข้าไปทำงานในลักษณะฝึกงานเป็นเวลา 1 ปี สถานะจะไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย กดราคาค่าจ้างและไม่จำเป็นต้องมีสวัสดิการ จึงถูกครหาว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน

“คนส่วนใหญ่จึงออกจากระบบไปทำงานที่ได้ค่าจ้างสูงกว่า แต่รัฐบาลของเกาหลีก็พยายามแก้ไขด้วยการขยายระยะเวลาเป็น 2-3 ปี ก็ยังมีแรงงานผิดกฎหมายเยอะอยู่ดี จึงเปลี่ยนเป็นฝึกงาน 1 ปี และอีก 2 ปี ให้สถานะแรงงาน แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ช่วยอะไรมาก จึงเป็นที่มาของระบบ EPS (Employment Permit System) ในปัจจุบัน ที่เริ่มต้นราวปี 2547”

ระบบ EPS เป็นการทำงานแบบรัฐต่อรัฐ (เกาหลีใต้-ไทย) เพื่อตัดตัวกลางอย่างนายหน้าและลดค่าใช้จ่าย เป็นระบบที่คุ้มครองแรงงานอย่างดีที่นานาชาติต่างชื่นชมว่าดูแลแรงงานต่างชาติประหนึ่งแรงงานเกาหลีเอง โดยในแต่ปีจะรับแรงงานต่างชาติประมาณ 50,000 คน จาก 16 ประเทศที่ได้ทำ MOS กันไว้ และนำเข้าใน 5 อุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งมีอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลักถึง 94 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นงานก่อสร้าง เกษตร ประมง งานบริการประเภทขายของทั่วไป ซึ่งไทยจะได้โควต้าราวๆ 5,000-6,000 คนต่อปี

 

แรงงาน

 

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน เมื่อปี 2562 ระบุว่า มีคนไทยทำงานในเกาหลีใต้ประมาณ 160,000 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมี ‘ผีน้อย’ มากถึง 140,000 ซึ่งตัวเลขแรงงานที่เข้าไปทำงานอย่างถูกกฎหมายค่อนข้างเสถียร ในแต่ละปีอยู่ที่ 10,000-20,000 คน ในขณะที่แรงงานผิดกฎหมายที่อยู่ตั้งแต่ปี 2558 ก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน และมีคนใหม่ๆ เข้าไปสมทบอีก จึงทำให้จำนวนผีน้อยสูงขึ้นทุกปี

อาจารย์กิริยา มองว่า ขั้นตอนการไปอย่างถูกฎหมายยากกว่าการหลบๆ ซ่อนๆ แบบผีน้อยหลายเท่านัก ทั้งความยากในการสอบภาษาที่มีคนสอบกว่า 20,000 คน แต่ผ่าน เพียง 4,000 คน ครั้นสอบผ่านแล้วก็ต้องรอนายจ้างเลือกเข้าสู่ระบบรายชื่อ ยิ่งเป็นผู้หญิงโอกาสยิ่งริบหรี่ เพราะในการทำงานอุตสาหกรรมการผลิตต้องการแรงงานผู้ชายมากกว่า รวมไปถึงข้อจำกัดเรื่องอายุด้วยที่ไม่เกิน 40 ปี เมื่อผ่านบททดสอบไปได้ถึงขั้นเซ็นสัญญาจ้าง ยังต้องรอตรวจร่างกาย เรียนภาษา อบรมเรื่องวัฒนธรรม กฎหมาย และขอหลักฐานรับรองความประพฤติ ซึ่งกินเวลาถึง 69 วันในไทย ความยุ่งยาก รอนาน แถมโอกาสยังน้อยนิดนี้ จึงไม่แปลกใจที่คนจะเลือกทางลัดที่แพงแต่ง่าย แม้เสี่ยงถูกหลอกและอาจเป็นขบวนการค้ามนุษย์ก็ตาม

“บางส่วนที่เป็นผีน้อยในเชิงโครงสร้าง เช่น อาชีพที่เขาไม่เปิดรับ อย่างหมอนวดที่เกาหลีไม่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติทำ เนื่องจากสงวนให้ผู้พิการทางการมองเห็น แต่ในประเทศกลับมีความต้องการ จึงต้องทำอย่างแอบๆ นั่นเอง โดยผีน้อยจะเข้าไปผ่านนายหน้าในรูปแบบบริษัททัวร์ ซึ่งเกาหลีอนุญาตให้คนไทยใช้ทัวร์ลิสต์วีซ่าได้ 90 วัน”

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้แรงงานไทยกลายเป็นผีน้อยนั้น รศ.ดร.กิริยา อธิบายว่า เป็นเรื่องของค่าจ้างที่ต่างกันมาก ค่าจ้างขั้นต่ำอย่างถูกต้องตามกฎหมายในเกาหลีคิดเป็นชั่วโมงๆ ละ 227 บาท ไม่นับ OT เฉลี่ยแล้วมีรายได้เดือนละประมาณ 50,000 บาท เทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของบ้านเราวันละ 300 บาท หรือราว 8,000 บาทต่อเดือน ทำให้สามารถเก็บเงินส่งให้ครอบครัวได้ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน และเป็นจำนวนเงินที่นำเข้าประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว 

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานเมื่อปี 2560 บอกว่าตัวเลขนำเข้าเงินส่งกลับประมาณ 7,000 ล้านบาท ทั้งในและนอกระบบ

 

  แรงงานไทยกลับถิ่น

แรงงานไทยทยอยกลับถิ่น

 

พลิกวิกฤติเป็นโอกาส

อย่างที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปรากฎการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจชะงักงัน และดูเหมือนว่าการมาของผีน้อยจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้ เพราะล่าสุดสาธารณสุขเกาหลีใต้ ชี้ชัดว่าประเทศพ้นจุดเลวร้ายแล้ว หลังยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่อเนื่อง จากระบบการคัดกรองผู้ติดเชื้อระยะเริ่มต้นที่มีประสิทธิภาพ และมีผู้ป่วยเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่คนส่วนใหญ่มีระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับไวรัสด้วยตัวเอง

ด้านการรับมือกับผีน้อยที่หนีโควิดของรัฐบาลไทย อาจารย์กิริยามองว่า สามารถทำได้ดีกว่านี้ การตั้งโต๊ะแถลงข่าวอัพเดตสถานการณ์จากแหล่งเดียว อาจจะช่วยลดเฟคนิวส์ได้ เนื่องจากขณะนี้เราอยู่ในสังคมที่หวาดกลัวและทุกคนต่างต้องการความชัดเจน อย่างเช่นเมื่อครั้ง 13 หมูป่า ที่มีมาตรการการจัดการค่อนข้างดี การอัพเดตความเคลื่อนไหวจากแหล่งเดียว แสดงให้เห็นว่าคุมสถานการณ์อยู่

“จริงๆ แล้วรัฐบาลก็ทราบว่ามีคนทำงานอยู่ที่เกาหลีเยอะ แต่อาจจะไม่ได้เตรียมการว่าเขาจะกลับมา จึงไม่มีความชัดเจนและเด็ดขาด ทำให้เกิดกระแสความเกลียดชังในสังคมมากมาย จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาก็พอจะมองออกว่าทางตะวันออกกลางเริ่มจะมีปัญหาแล้ว และเราสามารถวางแผนรับมือไว้ก่อนได้ จะทำอย่างไรได้บ้างเมื่อเขากลับมา ตั้งแต่การตรวจคัดกรองที่สนามบินหรือขอความร่วมมือจากประเทศต้นทาง ซึ่งเกาหลีใต้ได้ออกมาตรการเปิดโอกาสให้ผีน้อยได้กลับบ้านตั้งแต่ 11 ธันวาคม 2562 ถึง 30 มิถุนายนปีนี้ โดยจะไม่ติดแบล็คลิสต์คือห้ามกลับมาทำงานที่เกาหลีตลอดชีวิตและไม่ต้องเสียค่าปรับ”

อย่างไรก็ตาม อาจารย์กิริยาบอกว่า การมีอยู่ของผีน้อยอาจเป็นการแก้ปัญหาคนว่างงาน ทั้งยังนำเงินเข้าประเทศอีกมหาศาล แต่กลับส่งผลกระทบต่อผู้อื่นในสังคมด้วย เช่นการเกลียดชังที่ปะทุขึ้นผ่านโซเชียล เนื่องจากเกาหลีเป็นประเทศหมุดหมายของนักท่องเที่ยวชาวไทย แต่ผีน้อยอาจจะทำให้การไปเกาหลีนั้นยากขึ้น ความยุ่งยากตรงนี้ส่งผลให้เกิดความรู้สึกในแง่ลบต่อกันและตั้งคำถามกับความรับผิดชอบต่อสังคมของคนกลุ่มนี้ ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย

“และถ้าเรามองในเชิงเศรษฐศาสตร์ด้วย นับว่าเป็นภาระการคลัง เพราะถ้าไปอย่างถูกกฎหมายแรงงานเหล่านี้จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน 300-500 บาท โดยเงินกองทุนนี้ก็จะมาช่วยตัวแรงงานเองในยามเกิดทุกข์ยากในต่างประเทศ ไม่ว่าจะไม่สบายหรือตกงานแล้วต้องส่งกลับ ซึ่งผีน้อยไม่มีสิ่งนี้ สถานทูตจึงเป็นที่พึ่งสุดท้ายในการสงเคราะห์หรือทำสัญญากู้ยืม แต่ก็มักจะไม่ได้ใช้คืน จึงมีภาระการคลังที่สถานทูตต้องจ่าย ซึ่งในปี 2560 ก็ราวๆ 3 ล้านบาท”

นอกจากนี้ผีน้อยยังเป็นภาพสะท้อนโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจไทยที่ไม่ดีนัก ด้วยความต่างของเศรษฐกิจไทยกับเกาหลี ดังนั้นวิธีการที่ยั่งยืนที่สุดคือต้องพัฒนาประเทศไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และหากสถานการณ์โควิดจบลง การเดินทางไปเกาหลีทำได้ง่ายเช่นเดิมนั้น คาดว่าเกาหลีคงเข้มงวดในการให้คนเข้าประเทศมากขึ้น อาจจะลดจำนวนผีน้อยลงได้บ้าง

“ไม่ใช่ความผิดเขาร้อยเปอร์เซ็นต์ พวกเรา...สังคมไทยล้วนมีส่วนที่อาจจะไม่ได้ให้โอกาสเขาในการขยับเขยื้อนชนชั้นฐานะทางเศรษฐกิจของเขาได้ อยากให้มองสะท้อนภาพแล้วเรามาร่วมแก้ปัญหาดีกว่าจะมาทะเลาะกัน เราจะเห็นภาพทีมันชัดเจน ลึกซึ้ง และเข้าใจสังคมไทยได้มากขึ้น” อาจารย์กิริยา กล่าวทิ้งท้าย