“ตีวัวกระทบคราด”?? เจาะปมร้าวก่อนตั้ง “บิ๊กสธ.” สาย "แพทย์ชนบท"พลาดหวัง!

“ตีวัวกระทบคราด”?? เจาะปมร้าวก่อนตั้ง “บิ๊กสธ.”  สาย "แพทย์ชนบท"พลาดหวัง!

เปรี้ยงปร้าง! ถึงแดนใต้ทันที เมื่อครม.เห็นชอบแต่งตั้งโยกย้าย “บิ๊กสธ.ระดับ10” 7 ตำแหน่ง ตามที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล”รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข(สธ.)เสนอ แต่รุ่นพี่ชมรมแพทย์ชนบท 2 คนกลับ “พลาดหวัง” ทำให้เฟซบุ๊กชมรมฯโพสต์แสดงจุดยืนว่า “การแต่งตั้งไร้ธรรมาภิบาล”

    จึงนับว่าเป็นการ “จุดชนวนความขัดแย้งที่ไม่เคยซาขึ้นอีกครั้ง”ระหว่าง “คนตั้ง”กับชมรมแพทย์ชนบท หลังจากที่ก่อนหน้านี้ “แสดงความเห็นกระทบกระทั่ง”ต่อเนื่องมาเป็นระยะๆ

       ย้อนไปช่วงที่ “อนุทิน” เข้ารับตำแหน่งรมว.สธ.ใหม่ๆ ความสัมพันธ์กับชมรมแพทย์ชนบทเรียกว่า “แนบแน่น” ผ่านผู้เชื่อมประสาน คือ “นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ” อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ชนิดที่เลือกลงพื้นที่ไปเยี่ยมรพ.ชุมแพที่นพ.เกรียงศักดิ์ เป็นผอ.อยู่ในขณะนั้นเป็นที่แรกๆ  

        และถึงขั้นเอ่ยปากว่า “สนิทสนมกันดี  นพ.เกรียงศักดิ์ เป็นคนที่ไปเยี่ยมเยือนผมที่บ้านแทบทุกปี แม้ผมไม่ได้เป็นรมช.สธ.แล้ว” ทำให้ก๊ก ก๊วนอื่นๆในกระทรวงถึงกับสะดุ้ง ร้อนหนาวไม่น้อยเมื่อ "อนุทิน"ออกตัวเช่นนั้น  
      เพราะนี่อาจเป็นยุครุ่งเรืองของแพทย์ชนบทอีกครั้ง 

 แต่ความสัมพันธ์ดูเหมือนเริ่มสั่นคลอน ในช่วงของสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อมีการร้องเรียนการดูแลผู้ป่วยแบบHome Isolation(HI)ในกทม.ที่ส่งให้รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีนพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ  อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทเป็นผอ.รพ. ว่าไม่ได้รับบริการ ทั้งที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)โอนงบฯให้แล้วจำนวนหนึ่งก็ตาม 

      ทำให้ “อนุทิน”ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) สั่งการให้ตรวจสอบเรี่องดังกล่าว 

       ต่อมาเมื่อสปสช.จะจัดซื้อ “ชุดตรวจ ATK ด้วยตนเอง 8.5 ล้านชุด”เพื่อแจกให้กับประชาชน ในราวเดือนส.ค.2564 โดยมีการแต่งตั้ง “นพ.เกรียงศักดิ์”เป็นประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  โดยมีนพ.วชิระ บถพิบูลย์ และนพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ  อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทเป็นคณะทำงานด้วย

       หลังคณะทำงานชุดนพ.เกรียงศักดิ์ ต่อรองราคาได้บริษัทแล้วในราคา 120 บาทต่อชุด และส่งเรื่องให้องค์การเภสัชกรรม(อภ.)ดำเนินการจัดซื้อ เพราะตามระเบียบสปสช.จัดซื้อเองไม่ได้ ซึ่งอภ.ได้เปิดซองให้บริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วนยื่นเสนอราคา ผลปรากฎว่า “ได้บริษัทอื่นที่เสนอราคาต่ำกว่าบริษัทที่คณะทำงานฯเจรจาไว้”

         จนเกิดการ “งัดข้อ”กันขึ้น ระหว่างอภ.และคณะทำงานฯ  นพ.อารักษ์ฟ้องร้องกรณีการแอบอัดเสียงคุยโทรศัพท์ และนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ.ยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 

       ทว่า ในการแต่งตั้งโยกย้ายตามฤดูกาลเกษียณ ช่วงก.ย.2564 “นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ” อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ก็ยังได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายจากรองปลัดไปนั่งเป็นอธิบดีการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งนับเป็นกรมหนึ่งที่จะต้องขับเคลื่อนเรื่อง “กัญชา”ตามนโยบายหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย(ภท.)
       ส่วน “นพ.สุเทพ เพชรมาก” อดีตกรรมการแพทย์ชนบท เป็นผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพ 12 (รับผิดชอบ 7 จังหวัดใต้ตอนล่าง) และหัวหน้าผู้ตรวจราชการฯ

      กระทั่ง ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง “การกระจายวัคซีนโควิด-19” ระบุว่า การกระจายไปยังรพ.สต.นั้นเป็นการนำขยะไปทิ้ง เพราะจัดสรรวัคซีนที่ใกล้หมดอายุไปไว้ 

      ทำให้ “นพ.สุเทพ” ในฐานะหัวหน้าผู้ตรวจฯต้องออกมาแถลงข่าวโต้ว่า “ไม่เป็นความจริง  วัคซีนที่จัดส่งยังมีประสิทธิภาพ ไม่หมดอายุ”

       รวมถึง ชมรมฯมีการโพสต์แสดงความไม่เห็นด้วยต่อ “นโยบายกัญชาเสรี”อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเคยมีการตั้งคำถามว่า “นโยบายกัญชา เป็นการหนุนธุรกิจในตระกูลใหญ่หรือไม่”

      และล่าสุด อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ส่งเรื่องให้นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดสธ. ลงนามในหนังสือ ด่วนที่สุด ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  

       “ขอให้ดำเนินคดีกับผู้ไม่ขออนุญาตศึกษาวิจัย หรือส่งออก หรือจำหน่าย หรือแปรรูป เพื่อการค้า กรณีกัญชาซึ่งถือเป็นสมุนไพรควบคุม” โดยที่ “อนุทิน” ไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน ทำให้นพ.ณรงค์และนพ.ยงยศต้องแท็กทีมออกมาแถลงข่าว “ขอคืนหนังสือมาก่อน”
       กอรปกับ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา ประธานชมรมแพทย์ชนบทคนปัจจุบัน มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน “ไม่เอารัฐบาลชุดนี้” เห็นได้จากการเข้าร่วมชุมนุมกับม็อบต่อต้านรัฐบาล 

      การแสดงจุดยืนของชมรมแพทย์ชนบทผ่านการโพสต์เฟซบุ๊ค จึงมิได้หยุดอยู่เฉพาะในกระทรวงสาธารณสุข แต่ยังครอบคลุมไปถึงการแสดงความคิดเห็น “งัดข้อรัฐบาล”เป็นระยะๆในหลายๆเรื่อง    

       อย่างแถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท เมื่อ  18 ส.ค.2565 เรื่อง “8 ปีแล้ว พอเถอะนะ” ที่ระบุว่า “ขอให้นายกประยุทธ์มีสำนึกประชาธิปไตย ก้าวลงจากตำแหน่งตามกติกาอย่างคนรู้จักพอ เปิดทางให้เมืองไทยเดินไปข้างหน้า เปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยได้เติบโต”

       เมื่อ “รุ่นพี่ 2 คน” ตักเตือนและปราม “น้อง”ไม่ได้ จึงอาจเป็นไปได้ว่าจะส่งผลให้การแต่งตั้งโยกย้ายตามฤดูกาลเกษียณปี 2565 “สายชมรมแพทย์ชนบท” จึงไม่ได้ขยับและขยับกลับที่เดิม คือ นพ.ยงยศ กลับมาดำรงตำแหน่ง รองปลัด และนพ.สุเทพ อยู่ที่เดิม แม้จะเป็นผู้ตรวจฯที่อาวุโส ถึงเวลาที่จะขยับมาเป็นรองปลัดก็ตามที      

      นี่อาจเป็นการ “ตีวัวกระทบคราด”หรือไม่??? 

       “รุ่นน้อง”จึงขยับแสดงจุดยืนต่อการแต่งตั้งโยกย้ายว่า “สะท้อนปรากฏการณ์ชัดเจนถึงความไร้ธรรมาภิบาลในสธ. ในยุคนี้ที่เส้นสายและพรรคพวกอยู่เหนือความสามารถและความเหมาะสม”

          และ “การโยกลดชั้นอธิบดีมาเป็นรองปลัด ซึ่งถือว่าไม่ปกติ เหตุผลคงไม่มีอะไรมากไปกว่า ความแค้นเคืองส่วนตัวที่กรวดในรองเท้าก้อนใหญ่ที่ชื่อว่าแพทย์ชนบทนั้น ยังคงวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในหลายๆเรื่อง ขอให้หยุดก็ไม่ยอมหยุด จนรู้สึกขัดใจแทบทุกวัน”

      ขณะที่ “อนุทิน“ ตอบเรื่องนี้ว่า “ทุกอย่างเป็นธรรมแน่นอน และมีความเหมาะสมทุกอย่าง จะไปลงโทษใครเรื่องอะไร เกิดมาเคยลงโทษใครที่ไหน พี่มีแต่ให้"

       ก่อนปิดท้ายการตอบคำถามเรื่องการทำงานในสธ.จากนี้จะวุ่นวายหรือไม่ว่า

      “เชื่อว่าจากนี้ก็ต้องดีขึ้นเรื่อยๆ จะมีปลัดคนใหม่ รองปลัดคนใหม่ อธิบดีคนใหม่ ก็ต้องตั้งสมมติฐานว่าต้องดีขึ้นเรื่อยๆ อีกไม่นานก็ต้องมีรัฐมนตรีใหม่ มันก็ต้องดีขึ้นไปอีก ทำวันนี้ให้ดีที่สุด อย่าไปคิดอะไรให้มันสับสนหรือซับซ้อน ทุกอย่าง 1+1 เป็น 2”อนุทินกล่าว 

      การแต่งตั้งโยกย้ายย่อมจะมีทั้งผู้สมหวังและผิดหวัง แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายควรพึงตระหนักไว้เสมอ คือ  “ไม่มีอำนาจใด...ยั่งยืน”