จาก “กราดยิงอุบล” สู่ย้อนรอยเหตุกราดยิงในไทย และโทษ “ครอบครองปืนเถื่อน”

จาก “กราดยิงอุบล” สู่ย้อนรอยเหตุกราดยิงในไทย และโทษ “ครอบครองปืนเถื่อน”

จากกรณี “กราดยิงอุบล” ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย แน่นอนว่าต้องมีบทลงโทษร้ายแรงตามมา ขณะที่หลายคนตั้งข้อสังเกตถึงการพกอาวุธปืนในที่สาธารณะของกลุ่มผู้ก่อเหตุ หากเป็นการ “ครอบครองปืนเถื่อน” ก็ยิ่งเพิ่มโทษหนักเข้าไปอีก

กรณี "กราดยิงอุบล" ที่กลุ่มวัยรุ่นก่อเหตุยิงถล่มกันบริเวณลานตลาดอุบลสแควร์ ข้างห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย และบาดเจ็บอีก 6 ราย ในจำนวนนี้สาหัส 2 ราย ล่าสุด วันนี้ (4 ส.ค.) เวลาประมาณ 13.00 น. มีรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 2 คน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของเหตุ “กราดยิง” ที่เกิดขึ้นในไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า ทำไมการพกพาปืนในที่สาธารณะในไทยดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายและไม่มีมาตรการควบคุมเข้มงวด รวมถึงบทลงโทษของการ “ครอบครองปืนเถื่อน” เป็นอย่างไร

เช็กบทลงโทษทางกฎหมายในความผิดฐาน “ครอบครองปืนเถื่อน”

ปัญหาของการ “ครอบครองปืนเถื่อน” ส่วนมากมักมาจาก ปืนไม่มีทะเบียน ปืนผิดมือ ไม่มีใบอนุญาตพกพา มีเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการยิงปืนขึ้นฟ้า เป็นต้น

โดยในรายละเอียดของบทลงโทษตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490  ได้สรุปไว้ว่า 

1. มีอาวุธปืนไม่มีทะเบียน (ปืนเถื่อน)

อัตราโทษ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท

การประกันตัว (เงินสด) ประมาณ 100,000 บาทขึ้นไป

2. มีอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตฯ ไว้ในครอบครอง (ปืนผิดมือ)

อัตราโทษ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท การประกันตัว (เงินสด) ประมาณ 50,000 ขึ้นไป

3. มีอาวุธปืนมีทะเบียน (พกพาโดยไม่มีใบอนุญาตพกพา)

อัตราโทษ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การประกันตัว (เงินสด) ประมาณ 50,000 ขึ้นไป

 4. มีเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต (ไม่ถูกขนาดกับปืนที่มีใบอนุญาต)

อัตราโทษ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การประกันตัว (เงินสด) ประมาณ 20,000-50,000 บาท

5. ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านฯ (ยิงปืนขึ้นฟ้า ผิด ป.อาญา มาตรา 376)

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หมายเหตุ การยิงปืนขึ้นฟ้าแม้โทษจะน้อยนิด แต่อาจโดนข้อหาอื่นๆ อีก เช่น พกพาปืนไปในทางสาธารณะ ฯ , และ พรบ.อาวุธปืน ฐานความผิดต่างๆ ถ้าการกระทำผิดเข้าองค์ประกอบ และถ้ามีคนตายจากการยิงนั้น อาจผิดประมาททำให้บุคคคลอื่นถึงแก่ความตายอีก ดูพฤติการณ์เป็นกรณีๆ ไป

ย้อนรอยเหตุกราดยิงครั้งใหญ่ในไทยก่อนกรณี “กราดยิงอุบล”

“จ่าคลั่งกราดยิงโคราช” วันที่ 8 ก.พ. 63 

เกิดเหตุ จ.ส.อ. จักรพันธ์ ถมมา ได้ไปแย่งอาวุธปืนจากทหารเวรประจำการเพื่อใช้ยิงผู้บังคับบัญชาและญาติจนเสียชีวิตที่ ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จ.นครราชสีมา หลังจากนั้นใช้อาวุธ ยิงทหารเวรจนได้รับบาดเจ็บ และได้ขับรถฮัมวี่ของทหาร หลบหนีออกด้านหลังค่าย ไปทางวัดป่าศรัทธารวม และได้ยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา ที่มาสกัดจับ จนได้รับบาดเจ็บจำนวน 2 นาย และกระสุนถูกชาวบ้านใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บอีก 2 คน

หลังจากนั้นหลบหนีเข้ามาในตัวเมือง กราดยิงผู้คนตามรายทาง ก่อนเข้าไปซ่อนตัวในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช และจับประชาชนในห้างเป็นตัวประกันพร้อมถ่ายไลฟ์สดตนเองขณะก่อเหตุลงเฟซบุ๊กส่วนตัว จนถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมในเช้าวันที่ 9 ก.พ. 63 ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 31 คน บาดเจ็บ 57 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 32 คน เหตุกราดยิงนี้ถือว่าเป็นเหตุกราดยิงที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย จนสื่อต่างชาติสนใจทำข่าวและมีการถอดบทเรียนเรื่องการกราดยิงเป็นจำนวนมากในขณะนั้น

“กราดยิง รพ. สนาม” วันที่ 24 มิ.ย. 64 

เกิดเหตุคนร้ายเป็นชายแต่งกายคล้ายทหาร ใช้อาวุธปืนก่อเหตุยิงภายในโรงพยาบาลสนาม จ.ปทุมธานี ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าการรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลสนามถูกยิงเสียชีวิต 1 ราย โดยก่อนหน้านั้น คนร้ายได้ก่อเหตุยิงพนักงานร้านสะดวกซื้อ ย่านลาดพร้าว เสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย 

ภายหลังทราบชื่อคนร้ายว่า นายกวิน อายุ 23 ปี ชาวจังหวัดปทุมธานี เคยเป็นทหารเกณฑ์ ที่หน่วยรบพิเศษป่าหวาย จ.ลพบุรี  เคยได้รับการฝึกฝนการใช้อาวุธปืนมาเป็นอย่างดี และท้ายที่สุด ยอมมอบตัวพร้อมให้การรับสารภาพทั้งหมด โดยระบุสาเหตุที่ลงมือก่อเหตุว่า เหตุที่ยิงพนักงานร้านสะดวกซื้อเนื่องจากตนทำขวดเบียร์แตก พนักงานจึงให้จ่ายเงินเพิ่ม แต่ตนได้บอกกับพนักงานว่า "ขอได้มั้ย" แต่พนักงานยืนยันว่าต้องจ่าย ตนจึงความโมโห จึงได้ใช้อาวุธปืนจุดสามแปด เท่าที่จำได้ยิงไป 5 - 6 นัด

“กราดยิงอุบล” คืนวันที่ 3 ส.ค. 65

เกิดเหตุกลุ่มวัยรุ่นยิงถล่มกัน เมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืน ที่ลานตลาดอุบลสแควร์ ข้างห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย และบาดเจ็บอีก 6 ราย หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบพื้นที่ พบว่ามีปลอกกระสุนปืนตกกระจายโดยรอบกว่า 70 นัด และยังพบรถกระบะ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ได้ความเสียหายอีก 5 คัน

พยานในเหตุการณ์เปิดเผยว่า ในที่เกิดเหตุมีกลุ่มวัยรุ่นทะเลาะกัน จากนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้นประมาณ 70-100 นัด มีทั้งปืนสั้นและปืนยาว ยิงรัวๆ ติดต่อกันประมาณ 5 นาที หลังเสียงปืนสงบพบว่ามีผู้บาดเจ็บนอนจมกองเลือด 2 คน และมีผู้บาดเจ็บหลบไปในร้านข้าวต้ม หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่กู้ภัยก็นำตัวคนเจ็บส่งโรงพยาบาล

จากการสืบสวนเบื้องต้นทราบว่า กลุ่มวัยรุ่นที่เกิดเหตุนัดกันมาเคลียร์ปัญหาส่วนตัวกันภายในร้านเนื้อย่างบริเวณจุดเกิดเหตุ แต่ตกลงกันไม่ได้จึงมีการดวลปืนกันอยู่หน้าร้านเนื้อย่างจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตดังกล่าว

“กราดยิงหัวรถจักร รถเร็วกรุงเทพ-สุไหงโก-ลก” วันที่ 4 ส.ค. 65

เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดในวันนี้!  เวลาประมาณ 14.00 น. เกิดเหตุคนร้ายกราดยิงหัวรถจักร 4506 รถเร็วกรุงเทพ-สุไหงโก-ลก ขบวน 171 เหตุเกิดระหว่างสถานีรถไฟบาลอ-รือเสาะ แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 

นายประชานิวัฒน์ บัวศรี ผู้ช่วยสารวัตรรถจักร การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า จากเหตุคนร้ายกราดยิงเข้าที่บริเวณหัวรถจักรเป็นการแสดงเจตนาที่มุ่งทำร้ายพนักงานขับรถโดยตรง เบื้องต้นจึงประกาศหยุดเดินรถขบวนรถไฟรถด่วน สุไหงโก-ลก-กรุงเทพ รถเร็วสุไหงโก-ลก-กรุงเทพ และขบวนท้องถิ่นที่สิ้นสุดปลายทางที่สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ทุกขบวน

จากหลากหลายเหตุการณ์ข้างต้น แสดงให้เห็นว่ากรณี “กราดยิงอุบล” ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จึงไม่แปลกหากหลายคนจะตั้งคำถามถึงการครอบครองปืนในประเทศไทยว่ามีการอนุญาตให้พกได้ง่ายเกินไปหรือไม่ รวมถึงปัญหา “ครอบครองปืนเถื่อน” ที่แม้ว่าจะมีบทลงโทษที่ชัดเจน แต่ก็ยังมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่คนร้ายมักเลือกใช้อาวุธปืนในการก่อเหตุอยู่เนืองๆ

ถึงเวลาหรือยัง? ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยต้องมาพูดคุยหารือถึงมาตรการในการควบคุมการครอบครองปืนให้เข้มงวดกว่านี้

อ้างอิงข้อมูล : BBC, ไทยคู่ฟ้า และ สำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎร