ไทยพบผู้ป่วยยืนยัน "ฝีดาษลิง"รายที่ 3 ชายต่างชาติ เตรียมวัคซีนฉีด 2 กลุ่ม

ไทยพบผู้ป่วยยืนยัน "ฝีดาษลิง"รายที่ 3  ชายต่างชาติ เตรียมวัคซีนฉีด 2 กลุ่ม

ไทยพบผู้ป่วยยืนยัน "ฝีดาษลิง"รายที่ 3 ชายชาวเยอรมัน อายุ 25 ปี เดินทางเข้าไทยเมื่อ 18 ก.ค. เบื้องต้นเชื่อติดมาจากต่างประเทศ เร่งติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด เผยปัจจัยเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ-ผู้ติดเชื้อ ข้อมูลWHOระบุ 98%ของผู้ป่วยเป็นชายรักชาย

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง รายที่ 3  เป็นชายชาวเยอรมัน อายุ 25 ปี  เดินทางเข้ามาประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565  มาที่จ.ภูเก็ต  ผลการสอบสวนโรคเบื้องต้นเชื่อว่าติดเชื้อก่อนเดินทางเข้ามาประเทศไทย อยู่ระหว่างการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด และจัดทำไทม์ไลน์อย่างละเอียด

        “ผู้ป่วยรายที่ 3  มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ผื่นขึ้นเริ่มบริเวณอวัยวะเพศ ต่อมาตามร่างกาย อาการค่อนข้างชัดเจน จึงมารพ.และมีประวัติเสี่ยงเดินทางมาจากต่างประเทศ จึงมีการส่งตัวอย่างตรวจหาเชื้อฝีดาษวานร “นพ.โอภาสกล่าว   

   นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า โรคฝีดาษวานรไม่ใช่โรคที่อาการรุนแรง ไม่ใช่โรคที่ติดต่อได้ง่าย  กรณผู้ป่วยยืนยัน 2 รายแรกของไทย ยังไม่พบว่ามีผู้สัมผัสใกล้ชิดรายใดติดเชื้อ แต่ยังอยู่ในการเฝ้าสังเกตอาการจนครบ 21 วัน และผู้ป่วย 2 รายก็อาการดีขึ้นโดยไม่ต้องกินยาต้านไวรัส แต่ยาอาจมีความจำเป็นในกลุ่มผุ้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี หรือร่างกายอ่อนแอ

     ทั้งนี้ ข้อมูลทั่วโลกพบติดเชื้อฝีดาษลิง 2 หมื่นราย เสียชีวิต 3-4 ราย ซึ่งประวัติมีโรคประจำตัว เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ภาวะแทรกซ้อนสมองอักเสบ ฉะนั้น ยาจะมีความจำเป็นเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ทุกรายที่ต้องรับยา และข้อมูลทั่วโลกพบว่าผู้ป่วยไม่ได้จำเป็นต้องอยู่ใน รพ.ทุกรายมีเพียง 9% ที่ต้องอยู่รพ.เพื่อควบคุมโรค ดังนั้น มาตรการของเราในอนาคต หากผู้ป่วยไม่มีปัญหาสุขภาพก็ให้รักษาตัวที่บ้านได้(Home Isolation)

     ความเสี่ยงที่โรคนี้จะระบาดวงกว้างในประเทศไทยนั้น 3 รายแรกที่เป็นผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทย เป็นเพศชายทั้งหมด โดย 2 รายเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และ 1 รายเป็นคนไทยที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศและข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก(WHO) ระบุว่า 98 % ของผู้ติดเชื้อทั่วโลก มีประวัติชายรักชาย  ดังนั้น ปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่การสัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือสัมผัสผู้ป่วยที่ติดฝีดาษวานร
   
      นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า  สำหรับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร องค์การเภสัชกรรม(อภ.)กำลังประสานติดต่อคาดว่าไม่เกินเดือนนี้ ซึ่งคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ยังไม่มีประวัติติดเชื้อแต่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรค เช่น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ห้องแล็ป และ2.มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยฝีดาษลิง แต่ไม่เกิน 14 วันหลังจากสัมผัสครั้งสุดท้าย คาดว่าป้องกันโรคได้ ด้านยารักษาโรค

     ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามที่ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรือ อีโอซีกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคฝีดาษวานร สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ในโรงพยาบาล(รพ.) เมื่อวันที่ 1 ส.ค.65 ขณะนี้ กรมการแพทย์ได้ประกาศแนวทางดังกล่าว โดยหากพบผู้ป่วยที่สังสัยป่วยโรคฝีดาษลิง ขอให้รับเป็นผู้ป่วยในรพ.(Admit) เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน และเพื่อการควบคุมโรคไปในตัว โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า สามารถตรวจเชื้อได้ใน 24 ชั่วโมง อย่างเร็วที่สุดคือ 3-4 ชั่วโมง

        “แนวทางรักษา โดยหลักการเป็นโรคที่หายเอง แต่มีการพูดคุยเรื่องยาต้านไวรัสเผื่อไว้ด้วย ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยสงสัยเราจะแอดมิทจนแน่ใจว่าเป็นหรือไม่ จากนั้นจะต้องดูเป็นรายๆ ไป หากเราสามารถป้องกันควบคุมโรคได้ชัดเจน ไม่มีโรคประจำตัวที่น่ากังวล เราก็จะกลับไปรักษาที่บ้าน(Home Isolation) ซึ่งต่างประเทศเขาก็ทำแบบนี้ แต่ทั้งหลายต้องมั่นใจว่าไม่มีอาการแทรกซ้อน และสามารถป้องกันควบคุมโรคได้” นพ.สมศักดิ์กล่าว