ส่องไอเดีย "ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์" บริษัท-ลูกจ้าง ได้ประโยชน์ร่วมกันจริงหรือ?

ส่องไอเดีย "ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์" บริษัท-ลูกจ้าง ได้ประโยชน์ร่วมกันจริงหรือ?

ส่องไอเดีย "ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์" ในต่างประเทศ บริษัทและลูกจ้าง ได้ประโยชน์ร่วมกันจริงหรือไม่ หลังผลสำรวจล่าสุดในสิงคโปร์ชี้ ลูกจ้าง 7 ใน 10 ขานรับนโยบายลดชั่วโมงการทำงานลง ตามรอยสหราชอาณาจักรและประเทศอื่น ๆ ในยุโรป

สำนักข่าว Straits Times รายงานอ้างผลสำรวจเดือน ก.ค. โดยบริษัท Milieu Insight ซึ่งพบว่า พนักงานในสิงคโปร์ถึง 7 ใน 10 พร้อมขานรับการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อปรับให้การใช้ชีวิตมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น อีกทั้งบริษัทจำนวนหนึ่งในสิงคโปร์ก็พร้อมทดลองลดเวลางานต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีหลายประเทศที่ได้ริเริ่มในการดำเนินนโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่ลดค่าจ้าง อาทิ สหราชอาณาจักร สเปน ไอซ์แลนด์ สหรัฐ และแคนาดา นอกจากนี้ ประเทศที่ประชากรทำงานหนักแถวหน้าของโลก อย่าง ญี่ปุ่น ก็เริ่มมีการกล่าวถึงการนำนโยบายดังกล่าวมาปรับใช้ เพื่อลดความเครียดให้พนักงาน

พอถึงตรงนี้ หลายคนอาจมองว่า การลดชั่วโมงการทำงานเช่นนี้ มีเพียงแรงงานหรือพนักงงานที่ได้รับประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว นโยบายดังกล่าวยังส่งผลถึงการดำเนินงานของบริษัทด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ข้อจำกัดจากเวลาการทำงานที่ลดลง อาจช่วยกระตุ้นให้บริษัทต้องปรับกระบวนการทำงานในรูปแบบใหม่ โดยทำให้การทำงานเพียง 4 วัน สามารถให้ผลลัพธ์ได้เท่ากับการทำงาน 5 วัน ซึ่งนับเป็นการเพิ่มผลิตภาพในการดำเนินงานของบริษัท

นอกจากประโยชน์ที่กล่าวไปในข้างต้นแล้ว หลังจากรวบรวมข้อมูลแนวคิดการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ จากทั้งฝั่งอังกฤษที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว และญี่ปุ่น ที่ถูกบรรจุไว้ในคู่มือนโยบายเศรษฐกิจประจำปี พบว่า ประโยชน์ของบริษัทและพนักงานจากนโยบายดังกล่าว มีดังนี้

1. เพิ่มผลิตภาพการดำเนินงานของบริษัท
2. ช่วยสร้างนวัตกรรมสำหรับการทำงาน
3. ลดคาร์บอนฟุตปรินท์จากการดำเนินงาน
4. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน
5. ช่วยให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
6. ช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานไว้ ท่ามกลางภาวะขาดแคลนแรงงาน
7. กระตุ้นให้พนักงานเพิ่มทักษะและความรู้
8. กระตุ้นให้เกิดการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น จากวันหยุดที่เพิ่มขึ้น
9. เพิ่มโอกาสในการพบปะของคนหนุ่มสาว เพื่อลดปัญหาอัตราการเกิดต่ำ

  •   ชั่วโมงทำงานลดลง เพิ่มผลิตภาพได้จริงไหม?  

ไอดาน ฮาร์เปอร์ นักเขียนเจ้าของผลงาน “The Case for a Four Day Week” กล่าวว่า ประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่ามีแนวโน้มสร้างผลิตภาพได้มากกว่า

“เดนมาร์ก สวีเดน เนเธอร์แลนด์ มีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่าสหราชอาณาจักร แต่มีระดับผลิตภาพสูงกว่า ภายในยุโรป กรีซมีชั่วโมงการทำงานมากกว่าใครทั้งหมด กลับมีระดับผลิตภาพต่ำสุด” สอดคล้องกับสตาติสตา (Statista) ที่ให้ข้อมูลว่า แรงงานในสหราชอาณาจักรทำงานราว 36.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนกรีซ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

จากทั้งหมดที่กล่าวไป ทำให้เห็นว่า นโยบายการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับทั้งฝั่งบริษัทหรือนายจ้างและฝั่งพนักงาน และมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น จากการให้คุณค่ากับชีวิตแบบสมดุลหรือ Work-life balance ที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน

-----------------------------------------

อ้างอิง

Bloomberg