สธ. ลดกักตัวเหลือ 7 วัน จริงหรือ? เผย 4 จว.โควิด-19 น่าห่วงหลังผู้ติดเชื้อพุ่ง

สธ. ลดกักตัวเหลือ 7 วัน จริงหรือ? เผย 4 จว.โควิด-19 น่าห่วงหลังผู้ติดเชื้อพุ่ง

สธ. ลดกักตัวเหลือ 7 วัน กลับมาทำงานได้ โดยช่วง 3 วันแรกใส่แมสก์ตลอดเวลา จริงหรือ? ผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมาเกือบทั้งหมดเป็น "กลุ่ม 608" ชี้ 4 จังหวัดสถานการณ์เริ่มตึงตัวหลังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูล "โควิด-19" เกี่ยวกับเรื่อง กระทรวงสาธารณสุข หรือ สธ. ลดกักตัวเหลือ 7 วัน และกลับมาทำงานได้ โดยช่วง 3 วันแรก ใส่แมสก์ตลอดเวลา ล่าสุด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าประเด็นดังกล่าวนั้น "เป็นข้อมูลจริง"

 

 

กระทรวงสาธารณสุข หรือ สธ. เผย สถานการณ์โควิด-19 พบ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อัตราครองเตียงสูงใน 4 จังหวัด แต่อัตราเสียชีวิตลดลงจากการฉีดวัคซีนกว่า 140 ล้านโดส พบช่วยเซฟชีวิตคนไทยไม่ให้ตายจากโควิดมากถึง 4.9 แสนคน ลดจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและลดค่าใช้จ่ายการรักษาอาการหนัก พร้อมย้ำภูมิคุ้มกันลดลงตามเวลา ต้องฉีดเข็มกระตุ้น เผยแอนติบอดี LAAB ล็อตแรกกำลังจะเข้ามา และเตรียมอบรมการใช้ทั่วประเทศ

 

นอกจากนี้ สธ. ระบุอีกว่า ผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ รวมกันถึง 98%

 

โรคเรื้อรังที่พบมากที่สุด คือ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตโควิดต่อแสนประชากรสูงสุดช่วงระลอกเดลตา และลดน้อยลงในช่วงโอมิครอน บ่งบอกว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา

 

ขณะที่การฉีดวัคซีนในคนไทยมากกว่า 140 ล้านโดส ทำให้มีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่งจึงลดอัตราเสียชีวิตได้ ส่วนอัตราการครองเตียงระดับ 2 - 3 ยังรองรับได้ มี 4 จังหวัดที่เริ่มตึงตัว คือ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี เนื่องจากคนไข้เพิ่มขึ้นและมีการคืนเตียงไปใช้ดูแลผู้ป่วยทั่วไป แต่สามารถขยายเตียงได้หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

 

ซึ่ง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการเตรียมความพร้อมในจังหวัดต่าง ๆ ให้รองรับแล้ว และได้เชิญ กทม. หารือการจัดระบบการรักษาพยาบาลและการส่งต่อ เนื่องจากมีโรงพยาบาลหลายสังกัดในพื้นที่

 

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องเข้มมาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention มาตรการป้องกันส่วนบุคคล เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ และตรวจ ATK เมื่อมีอาการคล้ายหวัด

 

เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน BA.4/BA.5 จุดเด่น คือ เจ็บคอ ระคายคอ น้ำมูก หากมีอาการคล้ายไข้หวัดอย่านิ่งนอนใจ ให้ตรวจ ATK และ Universal Vaccination ฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้คนไปรับวัคซีนเพิ่มขึ้น

 

ส่วนหน่วยงานต่าง ๆ หากพบผู้ติดเชื้อ ถ้ามีอาการน้อย สามารถแยกกักรักษาที่บ้านแบบ 7+3 คือ แยกกักตัว 7 วัน และเฝ้าระวังสังเกตอาการอีก 3 วัน ซึ่งควรงดเว้นการพบผู้อื่น และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

 

ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://ops.moph.go.th/public/ หรือโทร 02 590 1000

 

สธ. ลดกักตัวเหลือ 7 วัน จริงหรือ? เผย 4 จว.โควิด-19 น่าห่วงหลังผู้ติดเชื้อพุ่ง