วิธีอ่าน "ผลตรวจ ATK" ชัดๆ ขึ้น 2 ขีดแม้แถบสีจางๆ ก็แปลว่า "ติดโควิด"

วิธีอ่าน "ผลตรวจ ATK" ชัดๆ ขึ้น 2 ขีดแม้แถบสีจางๆ ก็แปลว่า "ติดโควิด"

ใครเริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ต้องรีบตรวจ ATK พร้อมรู้วิธีอ่าน "ผลตรวจ ATK" ให้ชัวร์ชัดๆ คือ ถ้าขึ้น 2 ขีด ไม่ว่าจะเป็นสีเข้มหรือสีจางๆ ก็แปลว่า "ติดโควิด"

เมื่อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 กำลังระบาดมากขึ้นในไทยในช่วงนี้ ขอเตือนพี่น้องคนไทยว่าอย่าชะล่าใจ! คุณอาจเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่โดยไม่รู้ตัว แม้ว่าจะฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบโดสแล้วก็ตาม หากมีอาการป่วยที่เข้าข่าย "ติดโควิด" ต้องรีบตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ให้ไว

โดยเฉพาะเมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานการปรากฏตัวของโควิดสายพันธุ์ย่อยน้องใหม่ล่าสุดอย่าง “BA.2.75” ที่พบว่ามีความสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นไปอีก และอาจเข้ามาแพร่ระบาดเป็นวงกว้างแทนทีสายพันธุ์ BA.4/BA.5 

สำหรับใครที่มีอาการป่วยเข้าข่ายติดโควิด ได้แก่ ปวดเมื่อยตามร่างกาย, ไอ, เจ็บคอมาก, ไข้ซม, ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ, อ่อนเพลีย, ท้องเสีย ต้องรีบตรวจ ATK และควรรู้วิธีอ่านผลตรวจให้ถูกต้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

โดยล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีข้อแนะนำถึงประชาชนในการอ่านและแปลผลชุดตรวจ ATK ว่า ถ้าติดโควิดผลตรวจบน ATK จะขึ้นกี่ขีด? แล้วลักษณะขีดหรือแถบสีต้องเป็นแบบไหน?

กรณีที่ 1 ขึ้นสีแดงขีดเดียวที่ตัว C

แปลผลได้ว่า : ผลลบ (Negative) ไม่พบเชื้อ ณ วันที่ตรวจ

แต่ทั้งนี้อาจอยู่ในระยะที่เชื้อฟักตัว ดังนั้น ลำดับถัดไปที่ต้องทำคือ ควรตรวจ ATK ซ้ำอีกภายใน 3-5 วัน และ 10-14 วัน หรือตรวจอีกทันทีเมื่อมีอาการ รวมถึงแยกกักตัวเองจากผู้อื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

กรณีที่ 2 ขึ้นสีแดงสองขีด ทั้งตัว C และ T *ไม่ว่าจะมีสีเข้มหรือสีจาง*

แปลผลได้ว่า : ผลบวก (Positive) พบเชื้อ

ให้ติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านที่กำหนด เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์​บริการสาธารณสุข คลินิกหมอครอบครัว รพ.สต. รพช. รพท. รวมถึงแยกกักตัวเองจากผู้อื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

กรณีที่ 3 ไม่ขึ้นแถบสีใดๆ, ขึ้นสีแดงขีดเดียวที่ตัว T, ขึ้นสีฟ้าขีดเดียวที่ตัว C หรือขึ้นขีดสีฟ้าที่ตัว C และสีแดงที่ตัว T

แปลผลได้ว่า : ผลตรวจใช้งานไม่ได้ (Invalid)

ไม่สามารถแปลผลได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก ชุดตรวจเสื่อมสภาพ หรือวิธีทำการทดสอบไม่ถูกต้อง หรือตัวอย่างตรวจมีสภาพไม่เหมาะสม ข้อแนะนำคือ ให้ทำการตรวจด้วยชุดตรวจอันใหม่

นอกจากนี้ ผู้ตรวจสามารถตรวจซ้ำด้วยชุดตรวจ ATK หลายๆ ชุด ในยี่ห้อที่แตกต่างกันไปเพื่อเปรียบเทียบกัน ก็ช่วยให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำมากขึ้น หรือถ้าอยากได้ผลที่แม่นยำที่สุด สามารถไปที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจยืนยันแบบ RT-PCR ก็ได้ แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

---------------------------------------

อ้างอิง : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์