ไทยเจอแล้ว! โควิดสายพันธุ์ย่อย “BA.2.75” เป็นมิตรหรือศัตรู?

ไทยเจอแล้ว! โควิดสายพันธุ์ย่อย “BA.2.75” เป็นมิตรหรือศัตรู?

พบคนไทย “ติดโควิด” สายพันธุ์ย่อย “BA.2.75” จำนวน 1 รายใน จ.ตรัง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยัน พบตำแหน่งกลายพันธุ์ที่อาจหลบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิม ไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการแพร่ระบาดในไทยมากขึ้น

ถึงไทยแล้ว! พบคนไทย "ติดโควิด" สายพันธุ์ย่อยน้องใหม่ “BA.2.75” จำนวน 1 ราย ใน จ.ตรัง ล่าสุดวันนี้ (20 ก.ค. 65) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่าพบผู้ป่วยโควิด “BA.2.75” จริง เป็นชาวไทยอายุ 53 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง เดินทางไปประชุมที่ภูเก็ต ที่มีชาวต่างชาติร่วมประชุมด้วย ต่อมามีอาการป่วยและได้ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด และตรวจยืนยันด้วย RT-PCR พบว่าติดเชื้อ

จากนั้นโรงพยาบาลได้ส่งตัวอย่างมาตรวจสายพันธุ์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างส่งต่อจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง เพื่อยืนยันสายพันธุ์ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงนำส่งข้อมูลขึ้นบนฐานข้อมูลสากล GISAID เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้จักโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย “BA.2.75” ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์สายพันธุ์น้องใหม่ที่เพิ่งพบในประเทศไทย ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

1. โควิด BA.2.75 หลบภูมิคุ้มกันเก่งขึ้น

สายพันธุ์ BA.2.75 พบครั้งแรกที่ต่างประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 แต่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอินเดีย ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ล่าสุดฐานข้อมูล GISAD มีรายงานตรวจพบจากทั่วโลกแล้ว จำนวน 359 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2565)

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า โควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 เบื้องต้นพบการกลายพันธุ์บน spike protein หลายตำแหน่งที่ต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 โดยสองตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ 

  • ตำแหน่งกลายพันธุ์ G446S อาจทำให้เกิดการหลบภูมิคุ้มกัน ที่สร้างขึ้นภายหลังการติดโรคโควิด 19 หรือจากการฉีดวัคซีน ทำให้โอกาสการติดเชื้อซ้ำ จากไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น
  • ตำแหน่งกลายพันธุ์ R493Q ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์และรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก จัดให้ BA.2.75 อยู่ในกลุ่มสายพันธ์ที่น่ากังวลที่ต้องจับตาดู (VOC-LUM) ขณะที่ความเร็วในการแพร่เชื้อและความรุนแรงยังไม่มีข้อมูลที่มากพอ จึงยังไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป ด้านกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ของไทย มีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ขอเน้นย้ำให้ประชาชาเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอ ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

2. ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เคยคาดการณ์เรื่องนี้ไว้แล้ว

ก่อนหน้านี้ "ศูนย์จีโนมทางการแพทย์" คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ม.มหิดล เคยคาดการณ์ว่า BA.2.75 และ BA.3.5.1 จะเป็นโควิดสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดขึ้นมาใหม่แทนที่สายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้

จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนม ของศูนย์จีโนมทางการแพทย์พบว่า โควิดสายพันธุ์ย่อย “BA.2.75” (The Super Contagious Omicron Subvariant) หรือชื่ออย่างไม่เป็นทางการคือ "เซนทอรัส (Centaurus)" มีการกลายพันธุ์ไปมากที่สุด เมื่อเทียบกับไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ที่มีการระบาดมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีการกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม (อู่ฮั่น) ไปมากกว่า 100 ตำแหน่ง

ส่วนโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.3.5.1 (Bad Ned) กลายพันธุ์มากเป็นอันดับสอง ต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 90 ตำแหน่ง

คาดว่าไม่นานโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ที่ขณะนี้กลายพันธุ์ไปมากกว่า 100 ตำแหน่ง (ต่างจากอู่ฮั่น) น่าจะระบาดเข้ามาเป็นสายพันธุ์หลัก แทนที่ทุกสายพันธุ์ที่เคยมีมา

3. เช็กสายพันธุ์โควิดที่เคยระบาดก่อนหน้านี้

สำหรับ โควิดโอมิครอนสายพันธุ์ต่างๆ ที่เคยมีการแพร่ระบาดมาก่อนหน้านี้ ได้แก่ 

  • BA.1 พบในไทยร้อยละ 2.2
  • BA.2 พบในไทยร้อยละ 13
  • BA.4 พบในไทยร้อยละ 54.3
  • BA.5 พบในไทยร้อยละ 26.1
  • BA.2.12.1 พบในไทยร้อยละ 4.3

สำหรับข้อมูลการระบาดและข้อมูลทางคลินิกของ BA.2.75 และ BA.3.5.1 ยังมีน้อยมาก จึงสรุปไม่ได้ว่าสองสายพันธุ์นี้จะเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูกับมนุษย์ แต่ที่แน่นอนคือมีกลายพันธุ์ไปมากกว่า BA.4 และ BA.5 อันน่าจะส่งผลให้มีอัตราการแพร่ระบาดที่สูงกว่า BA.4 และ BA.5 หลายเท่า

4. ยิ่งไวรัสกลายพันธุ์มากเท่าไร ก็ยิ่งติดเชื้อง่ายขึ้นเท่านั้น

จากการศึกษาธรรมชาติการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 โดยอาศัยข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้จากผู้ติดเชื้อกว่า 11.8 ล้านราย ที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกช่วยกันอัปโหลดขึ้นบนระบบคลาวด์ของฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” พบว่า 

ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ที่อุบัติขึ้นมาใหม่ หากมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” มากเท่าไร ก็จะส่งผลให้สายพันธุ์นั้นมีการแพร่ระบาดในกลุ่มประชากรได้รวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น (growth advantage) โดยแปรผันตรงกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น แต่อาจไม่สัมพันธ์กับอาการเจ็บป่วยและเสียชีวิต 

อย่างไรก็ตาม ไวรัสดูเหมือนจะมีการปรับตัวอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้มากขึ้น ซึ่งอาจมีปัจจัยสืบเนื่องมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อตามธรรมชาติ และ/หรือ จำนวนประชากรได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนเกิดเป็นภูมิคุ้มกันที่ยั่งยืน (จาก Memory T & B cells) สามารถช่วยให้ผู้ติดเชื้อไม่เจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แม้จะติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์เดิมหรือสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ ซึ่งร่างกายไม่เคยพบหรือมีภูมิคุ้มกันมาก่อนก็ตาม