เช็ค อาการเด็กติดโควิด-19 ที่ไม่ควรชะล่าใจ

เช็ค อาการเด็กติดโควิด-19  ที่ไม่ควรชะล่าใจ

กรมการแพทย์เผยเด็กติดโควิด-19  อัตราเสียชีวิต - เกิดภาวะ MIS-C น้อยมาก เตือนเด็กไม่รับวัคซีน - อายุต่ำกว่า 5 ปีอย่าชะล่าใจ

 เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์การติดโควิด-19 ในกลุ่มเด็กว่า ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่ติดโควิด-19 จะมีอาการน้อย จากที่มีการรวบรวมข้อมูลโดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ มีอัตราการเสียชีวิตน้อยมาก โดยอัตราเด็กป่วย อยู่ที่ 16.3% ของผู้ป่วยโควิด -19 ทั้งหมด อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 0.02% รวมถึง การเกิดภาวะ MIS-C ก็น้อยมากเช่นกัน แต่ยังไม่มีตัวเลขรวมในประเทศไทย ขณะที่ในต่างประเทศ พบเกิดได้ 1 ต่อ 4,000-5,000 คน 

“ข้อที่ควรระวังในกรณีที่เด็กติดโควิด- 19 คือ ถ้าเด็กมีอาการปุ๊บปั๊บมาก เช่น มีอาการไข้สูงมาก  หน้าแดงตัวแดง คลื่นไส้ อาเจียน หรือถ่ายเหลวผิดปกติมากๆ ซึมลง ไม่รู้ตัว  ต้องรีบพามาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ โดยเฉพาะเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่โดยทั่วไปเด็กจะไม่มีอาการมาก”นพ.สมศักดิ์กล่าว   
       นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์  ซึ่งข้อมูลจากรพ.สังกัดกรมการแพทย์  3 แห่งในพื้นกทม. คือ รพ.ราชวิถี เลิดสิน และนพรัตน์ฯ ยังรายงานตรงกัน และผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้มีอาการทางปอด แต่พบว่ามีโรคเดิมอยู่แล้ว เช่น  ไตวายเรื้อรัง โรคอ้วน โรคเบาหวานที่น้ำตาลขึ้นสูงมาก แล้วมาติดโควิด-19 ร่วมด้วย 

   สำหรับแนวทางการรักษาโควิด-19 ในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี  ออกโดยกรมการแพทย์ ฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2565 ระบุว่า ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (Probable case) ผู้ที่มีผลตรวจ ATK ต่อเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ให้ผลบวก และรวมผู้ติดเชื้อยืนยันทั้งผู้ที่มี อาการและไม่แสดงอาการ ให้ใช้ยาในการรักษาจำเพาะดังนี้ โดยมีระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลเหมือนผู้ใหญ่
1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ แนะนำให้ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์
2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แนะนำให้ดูแลรักษาตามอาการ พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา  5 วัน 

3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อยไม่เข้าเกณฑ์ข้อ 4 ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วมสำคัญ ได้แก่ อายุน้อยกว่า 1 ปี  และภาวะเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่  โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้ง หอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า  แนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5 วัน อาจให้นานกว่านี้ได้หากอาการยังมาก โดยแพทย์พิจารณาตามความเหมาะสม


4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการปอดอักเสบ และมีหายใจเร็วกว่าอัตราการหายใจตามกำหนดอายุหรือมีอาการรุนแรง อื่นๆ เช่น กินได้น้อย มีภาวะขาดน้ำ ไข้สูง ชัก หรือท้องเสียมาก เป็นต้น  แนะนำให้ยาเรมเดซิเวียร์ หรือฟาวิพิราเวียร์  เป็นเวลา 5-10 วัน พิจารณาให้ยาต้านการอักเสบ คอร์ติโคสเตียรอยด์ ตามความเหมาะสม และดุลยพินิจของแพทย์

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์