สธ.ออกประกาศ ปรับเพิ่มอาการ “ฝีดาษวานร”

สธ.ออกประกาศ ปรับเพิ่มอาการ “ฝีดาษวานร”

สธ.ออกประกาศ เพิ่มอาการ “ฝีดาษวานร” มีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เจ็บคอ มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนังลักษณะเป็นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง ส่วนในไทยมีผู้ป่วยสงสัย 13 ราย

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 เว็บไซต์ "ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 สำหรับ โรคฝีดาษวานร หรือ โรคฝีดาษลิง โดยประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (56) ของข้อ 4 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง พ.ศ. 2562

"(56) โรคฝีดาษวานร หรือ โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เจ็บคอ มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนังลักษณะเป็นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แขน หรือขา บางตุ่มอาจเกิดขึ้นที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า"

ฝีดาษวานรเป็นโรคเฝ้าระวัง

         ก่อนหน้านั้นคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้จัดโรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากยังไม่มีผู้ป่วยในประเทศ การแพร่กระจายของโรคเป็นลักษณะของการใกล้ชิดกันมากๆ เฉพาะกลุ่ม และยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างไปหลายทวีป อัตราป่วยตายยังเป็นสายพันธุ์ที่ป่วยรุนแรงน้อย

โดยจะเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้าประเทศที่มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการป่วยอย่างน้อยหนึ่งอย่าง คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีผื่นตุ่มนูน ร่วมกับประวัติเดินทางหรืออาศัยในประเทศที่มีรายงานการระบาด มีประวัติร่วมกิจกรรมที่มีรายงานพบผู้ป่วยเข้าข่ายหรือยืนยัน และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนำเข้าจากแอฟริกา

นอกจากนี้ ยังเฝ้าระวังผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล คลินิกโรคผิวหนัง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมทั้งเตรียมการในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ทีมสอบสวนโรค รวมถึงเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ไว้แล้ว

ฝีดาษวานรมี 2 สายพันธุ์      

โรคฝีดาษวานรมี 2 สายพันธุ์ คือ

  1. สายพันธุ์ West African Clade ซึ่งอัตราป่วยตายอยู่ที่ 1% ต่ำกว่าสายพันธุ์ Central African Clade 
  2. สายพันธุ์ Central African Clade ซึ่งมีอัตราป่วยตาย 10% 

มีสัตว์ที่เป็นรังโรค คือ สัตว์ฟันแทะและลิง ติดต่อจากสัตว์สู่คน ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือแผลของสัตว์ที่ป่วย ส่วนการติดจากคนสู่คน จะผ่านการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยมากๆ สัมผัสกับแผลหรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรง หรือเสื้อผ้าของใช้ผู้ป่วยที่มีสารคัดหลั่ง ซึ่งบางประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด มีการรวมกลุ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้นช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับระยะฟักตัวอยู่ที่ 5-21 วัน อาการป่วยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรุนแรง ช่วง 5 วันแรก จะมีอาการนำ คือ ไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ และหมดแรง ระยะนี้เริ่มแพร่เชื้อได้บ้างแล้ว และช่วงออกผื่น 2-3 วันหลังมีไข้ จะมีผื่นขึ้นเริ่มจากใบหน้า ลำตัว แขนขา รวมถึงบริเวณที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ช่องปาก และอวัยวะเพศ เริ่มจากตุ่มนูนแดงเล็กๆ เป็นตุ่มใส ตุ่มหนอง เมื่อแตกจะมีแผลเป็นหลุม ส่วนใหญ่หายเองได้ บางรายอาจมีเป็นแผลเป็น และบางรายอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาสุขภาพเดิม อาจมีปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่กระจกตาทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

ผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานรในไทย 13 ราย

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ได้มีระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่รับรักษาในโรงพยาบาลและคลินิกเฉพาะ ซึ่งจากการเฝ้าระวังยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทย แต่มีรายงานผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค เป็นผู้ป่วยสงสัย 13 ราย ผู้สัมผัส 3 ราย โดยผู้สัมผัสทั้ง 3 ราย ครบกำหนดการติดตามแล้วไม่มีอาการ ส่วนผลตรวจทางห้องปฏิบัติการผู้ป่วยสงสัยทั้ง 13 ราย ไม่พบเชื้อฝีดาษวานร แต่เป็นการพบเชื้อไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus) ซึ่งติดมาจากการสัมผัส และใช้สิ่งของร่วมกัน

โรคฝีดาษวานรที่แพร่ระบาดอยู่ในแถบทวีปยุโรปในขณะนี้นั้น มีความรุนแรงน้อย มีเพียงร้อยละ 10 ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดต่อจากคนสู่คน โดยการใกล้ชิดกับผู้ป่วยและสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย จากนั้น 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา จะมีอาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการรับมือโรคฝีดาษวานร โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจเชื้อโดยวิธีการ RT-PCR ได้ทันที และในการรตรวจวินิจฉัยเชื้อทำได้โดยการเก็บตัวอย่าง ทั้งการสะกิดแผล เลือด ป้ายหลังโพรงจมูกและป้ายลำคอ และนำมาถอดรหัสสารพันธุกรรม ซึ่งผลตรวจจะออกภายใน 24 ชั่วโมง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422