มติศบค.ชุดใหญ่ ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน 23 จ.โควิด19ขาขึ้น

มติศบค.ชุดใหญ่ ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน 23 จ.โควิด19ขาขึ้น

มติศบค.ชุดใหญ่ ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน อัตราครองเตียงป่วยหนัก11.9 % มี 23 จังหวัดขาขึ้นเป็นระลอกคลื่นเล็ก สธ.ชง 4 มาตรการขับเคลื่อนหลังโควิด19ระบาดใหญ่  เตรียมพร้อมเป็นโรคเฝ้าระวัง 10 จ.ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นน้อยสุด ครึ่งปีนทท.เข้าไทย 2.2 ล้านคน รายได้ 1.25 แสนล้านบาท


       เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล  นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงข่าวภายหลังการประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า มีสรุปประเด็นสำคัญ  5 เรื่อง ได้แก่  1.สถานการณ์ของโรคโควิด19 ตอนนี้การติดเชื้อทั้งโลกเป็นการผ่านการติดเชื้อชุดใหญ่มาพอควร ดดยในเอเชียเป็นกราฟที่กำลังพุ่งขึ้นและลดลงเช่นเดียวกับทั่วโลก ตอนนี้จะเป็นระลอกเล็กๆเกิดขึ้นมา แม้ว่าปัจจุบันมีความกังวลเรื่องของสายพันธุ์ BA.4/BA.5
        สำหรับประเทศไทย ในวันนี้ มีผู้ป่วยใหม่นอนรพ. 2,144 ราย ส่วนผู้ป่วยหนัก 763 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 327 ราย เสียชีวิต 20 คน  100 %เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 อัตราการครองเตียงในระดับ 2-3 อยู่ที่ 11.9 % 

      ทั้งนี้ มี 54 จังหวัดมีแนวโน้มลดลง  อีก 23 จังหวัด เป็นขาขึ้นและคลื่นเล็ก(Small Wave) ได้แก่  กรุงเทพฯ ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ  ภูเก็ตที่ดูจะเป็นก้อนใหญ่ที่พุ่งขึ้นสูงพอควร  เชียงใหม่ ลพบุรี สงขลา ระยอง  ชัยนาท ตาก สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม พระนครศรีอยุธยา  กระบี่ พังงา นราธิวาส ตรัง ปัตตานี และยะลา ขอให้ช่วยกันลดยอดระลอกคลื่นเล็กๆลดลงให้ได้


       2.กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เสนอแนวทางกาขับเคลื่อนการบริหารจัดการโควิด-19หลังการระบาดใหญ่(Post Pandemic) มียุทธศาสตร์และมาตรการที่วางแผนไว้ 4 ด้าน คือ 1.ด้านสาธารณสุข เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้ 60 % ปรับระบบการเฝ้าระวัง เน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและผู้ป่วยปอดอักเสบ ปรับแนวทางแยกกักผู้ป่วยและกักกันผู้สัมผัส 2.ด้านการแพทยื ปรับแนวทางการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก ดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรง และมีอาการรุนแรงรวมทั้งภาวะลองโควิด 3.ด้านกฎหมายและสังคม บริหารจัดการด้านกฎหมายในทุกหน่วยงาน ให้สอดคล้องกับการปรับตัวเข้าสู่Post Pandemic ทุกภาคส่วนส่งเสริมมาตรการUP และ COVID Free Setting และ 4.ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ทุกภาคส่วนร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับโควิด19อย่างปลอดภัย

         การคาดการร์ภาวะที่จะเกิดขึ้นในส่วนของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตระยะ Post Pandemic  ตั้งแต่ ก.ค.2565-ธ.ค.2566 คาดพบระบาดระลอกเล็ก (Small Wave)ได้ โดยเหตุปัจจัย คือ ภูมิคุ้มกันต่อโรคลดลงหลังได้รับวัคซีนเกิน 6 เดือน ประชาชนลดการสวมหน้ากากอนามัยและเลี่ยงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคในสถานที่/กิจกรรมเสี่ยง  พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่/กิจกรรมเสี่ยงดดยเฉพาะหลังเทศกาลและการเพิ่มขึ้นจองBA.4/BA.5ทั่วโลกและในประเทศ

   “ผู้ป่วยรายใหม่ที่รักษาในรพ.อาจพุ่งได้ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้น สูงขึ้นราว ก.ย.2565 และพ.ย.น่าจะแนวระนาบลงมา หากประชาชาชนช่วยกัน ฉากทัศน์ก็จะต่ำกว่าการคาดการณ์ การเสียชีวิตก็จะเพิ่มในเดือนก.ย.เช่นกัน  เพราะฉะนั้ขอให้กลุ่ม 608มารับวัคซีนก็จะความเสี่ยงลงได้มาก”นพ.ทวีศิลป์กล่าว  

       สธ.เสนอ4 กิจกรรมที่ เพื่อ ศบค.อนุมัติ และหน่วยงานเกี่ยวข้องไปดำเนินการ คือ 1.การประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง ผู้ป่วยรับการรักษาใน รพ.ไม่เกิน 4 พันรายต่อวัน ป่วยตายน้อยกว่า 0.1% เสียชีวิตไม่เกิน 40 รายต่อวัน ครองเตียงหนัก-วิกฤตไม่เกิน 25% กลุ่ม 608 รับวัคซีนเข็มสองมากกว่า 80%  2.การเตรียมบริหารจัดการโควิด 19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังแทนโรคติดต่ออันตราย 3.มาตรการดำเนินการเมื่อโรคโควิดเป็นติดต่อต้องเฝ้าระวัง เช่น การแนะนำประชาชน การดำเนินการด้านการแพทย์ และ 4.การประเมินผล" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

      การพิจารณาเกณฑ์ความรุนแรง ปัจจุบันเราอยู่ในช่องสีเขียวมีรักษาตัวนอนใน รพ.ประมาณ 2 พันรายต่อวัน เราอยากลงไปสู่ช่องสีขาว คือ ต่ำกว่า 2 พันราย แต่หากมีสมอลเวฟอาจเป็นสีเหลืองคือรุนแรงน้อย 4-6 พันรายต่อวัน ต้องสร้างความตระหนักประชาชน ส่วนสีส้มคือรุนแรงปานกลาง มีผู้ป่วย 6-8 พันรายต่อวัน และสีแดงคือรุนแรงมาก 8 พัน - 1 หมื่นรายต่อวัน ตรงนี้จะโยงเรื่องการจัดซื้อยา วัคซีน การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย การเบิกจ่ายรักษาพยาบาล ที่ผ่านมาภาครัฐส่งงบประมาณเต็มที่เพื่อดูประชาชน แต่อาจจะต้องเปลี่ยนผ่านการเบิกจ่ายค่ารักษาต่างๆ รพ.เอกชนก็มีความพร้อมช่วย สิ่งสำคัญคือ สปสช.หรือคนดูแลการเบิกจ่ายต้องปรับตัว เพื่อนนำไปสู่การใช้สิทธิฉุกเฉิน UCEP ให้ช่วยการเปลี่ยนผ่านลื่นไหลไปด้วยดี การเปิดกิจการกิจกรรมต้องขอความร่วมมือ เพราะเราให้เปิดกันแล้ว เพื่อให้ตัวเลขไม่พุ่งมากไปกว่านี้

        " ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการนี้และให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนดกราอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคตามมาตรา 14 (1) พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนมารับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 จัดระบบเข้าถึงยาต้านไวรัสที่สะดวกเข้าถึงง่าย มอบกรมประชาสัมพันธ์กระตุ้นประชาชนเห้นความสำคัญสวมหน้ากาก รับวัคซีน ให้กระทรวงมหาดไทยศึกษากฎหมายเรื่องของการตัดออกจากดรคต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

     3. แผนการให้บริการวัคซีนโควิด 19 เดือน ส.ค. ที่ประชุมเสนอข้อมูลว่าผู้สูงอายุฉีดเข็มสามเพียง 47.1% เด็ก 12-17 ปีก็ฉีดเข็มกระตุ้น 20.5% ข่าวตอนนี้ที่นายกฯ ให้ความสำคัญคือการติดเชื้อในโรงเรียน จึงมีการปิดเรียนและสอนออนไลน์ อยากให้ สธ.หรือ กทม.และจังหวัดต่างๆ เข้ามาดูแลใกล้ชิดให้คำแนะนำอย่างถูกต้องจากกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย การฉีดวัคซีน 2 กลุ่มนี้ต้องเพิ่มขึ้นด้วย

     การจัดสรรวัคซีนนั้น มี 4 จังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นเกิน 60% ตามเป้าหมาย คือ กทม. ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ ส่วนอีก 10 จังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นน้อยที่สุด คือ  นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล บึงกาฬ สกลนคร หนองบัวลำภู แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช และพัทลุง เพื่อลดอัตราการสูญเสียให้มากที่สุด ส่วนกลุ่ม 60 ปีฉีดน้อยสุด 10 จังหวัดอยู่ที่ นราธิวาส ปัตตานี บึงกาฬ ยะลา สตูล  สกลนคร หนองบัวลำภู แม่อ่องสอน สระแก้ว และหนองคาย

      “มีการวิเคราะห์สถานการณ์ 4 เข็มป้องกันติดเชื้อ 76% ป้องกันป่วยหนักใส่ท่อ 96% ใครมีพ่อแม่สูงอายุไม่อยากให้ป่วยหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจเสียชีวิต ไปรับเข็มที่ 4 ให้ได้ หลังฉีดเข็ม 3 แล้ว 4 เดือน ที่ประชุมรับทราบการเปลี่ยนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มาเป็นแอนติบอดี LAAB 2.5 แสนโดส ผ่านที่ประชุม ครม.มาแล้ว ใช้ในภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีประโยชน์ในโรคไตระยะสุดท้าย เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ และรับยากดภูมิคุ้มกันต่างๆ และยังเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนไฟเซอร์ ที่รับมอบไปแล้ว 26.4 ล้านโดส มาเป็นวัคซีนเฉพาะของเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี จำนวน 3 ล้านโดส”นพ.ทวีศิลป์กล่าว 

     4.การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ขยายอีก 2 เดือนเป็นคราวที่ 19 ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. - 30 ก.ย. 2565 นายกฯ เน้นย้ำว่าการขยายนี้เพื่อการควบคุมป้องกันโรคและรักษาชีวิตประชาชนเรื่องนี้เท่านั้น เรื่องอื่นไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ยืนแนวทางนี้มาตลอด ไม่มีส่วนที่ต้องการไปจำกัดเสรีภาพแต่อย่างใด

    และ 5 นักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. - 6 ก.ค. สะสม 2.2 ล้านคน รายได้ขึ้นมา 1.25 แสนล้านบาท อินเดียมามากที่สุดเกือบ 2.5 แสนคน มาเลเซีย 2.2 แสนคน สิงคโปร์ 1.3 แสนคน อังกฤษเกือบ 1.2 แสนคน และสหรัฐอเมริกา 1.1 แสนคน 
       จังหวัดที่มาเที่ยวมากสุด คือ กทม. ชลบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี โดยรายได้จากการที่ไทยเที่ยวไทย คือ 3.05 แสนล้านบาท จากต่างชาติได้ส่วนหนึ่ง รวมกันแล้วรายได้ท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ 4.3 แสนล้านบาท ยืนยันว่าพวกเราช่วยกันได้ โครงการต่างๆ ที่ออกมาขอบคุณประชาชนที่ช่วยกัน ส่วนด่านต่างๆ มีการเปิดขึ้นมา 39 จุดผ่านแดน มีคนเข้าออกแล้ว 9.7 แสนราย ทำให้เกิดการใช้จ่าย ขอให้ช่วยกันทำให้เกิดบรรยากาศที่ดี

"นายกฯ ย้ำและขอบคุณที่ยังสวมหน้ากาก และฉีดวัคซีน เรื่องคลัสเตอร์ต่างๆ ขอให้ลงไปดูอย่างรวดเร็ว ฝ่ายปกครองของพื้นที่ สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเดินทางเข้าประเทศขอให้ตรวจสอบมีผู้ติดเชื้อจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศหรือเข้ามาในไทยอยู่เท่าไร จะเห็นความรุนแรงและติดตามกัน ซึ่งตัวเลขไม่มาก เป็นหลักหน่วย ส่วนการเปิดจุดผ่อนปรนตามแนวชายแดน มีจุดเล็กๆ ทั่วไทย ต้องให้คุยในพื้นที่ หามาตรการกับประเทศเพื่อนบ้านร่วมกันรับผิดชอบหากต้องมีการเดินทางระหว่างกัน ต้องช่วยกันมีมาตรการที่เข้มงวดในการดูแล และหากมีคนป่วยให้บริการดูแลอย่างดี" นพ.ทวีศิลป์กล่าว