รพ.ตราด นำร่องแห่งที่ 2 เก็บดีเอ็นเอ แก้ปัญหาคนไทยไร้สิทธิ

รพ.ตราด นำร่องแห่งที่ 2 เก็บดีเอ็นเอ แก้ปัญหาคนไทยไร้สิทธิ

สปสช.เผยเป็นโรงพยาบาลนำร่องแห่งที่ 2 รับเก็บตัวอย่าง DNA ช่วยให้เข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ในพื้นที่ ไม่ต้องเดินทางมาถึงส่วนกลาง ด้านเครือข่ายภาคประชาชนชี้ทุกเคสที่ผ่านกระบวนการนี้ได้บัตรประชาชน 100% แก้ปัญหาคนไทยไร้สิทธิอย่างเป็นระบบ

ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดินทางลงพื้นที่โรงพยาบาลตราด จ.ตราด เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานเก็บตัวอย่าง DNA เพื่อพิสูจน์สถานะทางทะเบียนของคนไทยที่มีปัญหาสถานะ

โดยโรงพยาบาลตราด เป็นโรงพยาบาลนำร่องแห่งที่ 2 ในการเป็นตัวแทนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์รับเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อพิสูจน์สารพันธุกรรมบุคคล (DNA) ให้แก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน เพื่อใช้ความสอดคล้องกันของ DNA ระหว่างผู้มีปัญหาสถานะและญาติที่มีบัตรประชาชน

เป็นหลักฐานในการยืนยันความเป็นคนไทยและให้นายทะเบียนพิจารณาออกบัตรประชาชนให้ได้ ซึ่งการจัดเก็บ DNA ที่โรงพยาบาลตราดในวันนี้มีผู้เข้ารับการเก็บสิ่งส่งตรวจทั้งหมด 21 คู่ (39 คน) จากพื้นที่ จ.ตราด และจังหวัดใกล้เคียงเข้ารับการตรวจ

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า จุดยืนของ สปสช. ต้องการนำเงินภาษีจากให้คนไทยไปใช้เพื่อการรักษาและส่งเสริมสุขภาพแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เข้าไม่ถึงการรักษาเพราะไม่มีสถานะทางทะเบียนแม้จะเป็นคนไทยก็ตาม ทำให้โรงพยาบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายและไม่สามารถเบิกค่ารักษาจาก สปสช. ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาให้คนกลุ่มนี้ได้บัตรประชาชนและได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานจากรัฐ เป็นการแก้ปัญหารายบุคคล แต่เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งพบว่าผู้ที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนยังมีอีกมาก

 

  • รพ.ตราด เก็บDNA  เพิ่มสิทธิคนไทย

ดังนั้น จึงต้องปรับการทำงานเพื่อแก้ปัญหาในเชิงระบบ และเกิดความร่วมมือจาก 9 หน่วยงาน คือ สปสช. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย

จัดระบบการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้โดยใช้โรงพยาบาลเป็นฐานในการเก็บตัวอย่าง DNA เมื่อมีหลักฐานการตรวจ DNA แล้ว ก็จะเข้ากระบวนการออกบัตรประชาชนของกระทรวงมหาดไทยและได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลต่อไป

ผศ.วรวีร์ วัยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนยังขาดโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาล ทำให้หลายคนไม่กล้าเข้ารักษาตั้งแต่แรก จนกระทั่งอาการป่วยลุกลามและถึงขั้นเสียชีวิต แต่เดิมสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใน 2-3 ลักษณะ คือประชาชนเดินทางไปตรวจที่ส่วนกลาง

สถาบันฯจัดทีมเดินทางลงไปตรวจ DNA ในพื้นที่ที่มีปัญหา ซึ่งในพื้นที่ จ.ตราด มีการจัดทีมลงพื้นที่ตรวจ DNA แล้ว 4 ครั้ง และในครั้งนี้หลายหน่วยงานได้ร่วมแก้ไข ร่วมมือกับโรงพยาบาลตราดเป็นโรงพยาบาลนำร่องจัดเก็บ DNA แห่งที่ 2 ต่อจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อเป็นตัวแทนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ดำเนินการเก็บตัวอย่าง DNA ผู้มีปัญหาสถานะในพื้นที่ จ.ตราดและ จ.ใกล้เคียงต่อไป

 

  • ยกระดับดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง ได้รับสิทธิคนไทย

ด้าน นพ.วินัย บรรจงการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตราด กล่าวว่า ความร่วมมือกันครั้งนี้เป็นการยกระดับครั้งสำคัญในการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางให้ได้รับสิทธิเป็นคนไทยและเข้าถึงสวัสดิการต่างๆของรัฐ โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับบริการสุขภาพซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อคุณภาพชีวิต ที่ผ่านมา จ.ตราด

มีปัญหาคือบุคคลที่มีปัญหาสถานะตามชายแดนห่างไกลหรือบนเกาะมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ยาก เดินทางลำบาก ดังนั้น การกำหนดขั้นตอนให้โรงพยาบาลตราดเป็นหน่วยเก็บตัวอย่าง DNA จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มเปราะบางกลุ่มนี้ให้เข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ง่าย เมื่อได้บัตรประชาชนก็จะเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลและสวัสดิการอื่นๆของรัฐต่อไป

นายสุริยะศักดิ์ เหมือนอ่วม ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กล่าวว่า ตามขั้นตอนตามกฎหมายประชาชนที่ตกหล่นทางทะเบียนสามารถติดต่อยื่นคำร้องที่สำนักทะเบียนในแต่ละอำเภอได้เลย แต่ในทางปฏิบัติบางทีประชาชนไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้

กรมการปกครองจึงเน้นทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายให้ช่วยค้นหาผู้มีปัญหาสถานะในพื้นที่ เมื่อหาเจอแล้วก็จะพาคนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการแก้ไขเพื่อให้ได้สถานะความเป็นคนไทย

"กลุ่มเป้าหมายคือคนที่ตกหล่นและยากจะหาเอกสารหลักฐานแสดงความเป็นสัญชาติไทย ด้วยเหตุนี้ DNA จึงเป็นหลักฐานสำคัญว่าเป็นคนไทยตามหลักสายโลหิต ภาครัฐจึงให้ความสำคัญในการตรวจ DNA แต่การตรวจ DNA ก็ยังเป็นภาระในการเดินทาง บางคนต้องเหมารถมาตรวจที่ส่วนกลางเป็นหมื่นกว่าบาท" นายสุริยะศักดิ์ กล่าว

แต่ถ้าทำเครือข่ายโดยให้โรงพยาบาลเป็นฐานในการเก็บตัวอย่าง DNA ชาวบ้านในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงก็จะมาตรวจได้สะดวกขึ้น ถ้ามีผล DNA แล้วทุกอย่างจะรวดเร็วขึ้น นายทะเบียนไม่ต้องใช้ดุลพินิจ สามารถใช้หลักฐานนี้ประกอบการพิจารณาได้เลย เพียงแค่เสนอชื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณา เพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน และถ่ายรูปออกบัตรประชาชน ขั้นตอนมีแค่นี้ ซึ่งกรมการปกครองมีแนวปฏิบัติไว้อยู่แล้วว่าหลังจากมีผลตรวจ DNA แล้ว ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่เกิน 30 วัน

ด้าน น.ส.วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเป็นการค้นหาและช่วยเหลือแบบรายบุคคล ซึ่งเมื่อดำเนินการมา 2-3 ปีพบว่าไม่สามารถช่วยได้ทั้งระบบ แต่เมื่อมีความร่วมมือระหว่าง 9 หน่วยงานและเกิดโมเดลการใช้โรงพยาบาลในพื้นที่เป็นฐานในการเก็บตัวอย่าง DNA พบว่า เคสที่เข้าสู่กระบวนการนี้สามารถแก้ปัญหาได้ 100% ถ้าขยายโมเดลนี้ไปได้เรื่อยๆ คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลจะกล้าลุกขึ้นมาขอทำบัตรประชาชนมากขึ้น

ความร่วมมือแบบนี้ควรเป็นรูปแบบการทำงานในทุกจังหวัด เพียงแต่ต้องมีคนช่วยในระหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายแกนนำหรือหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจที่อยู่ใกล้บ้าน และที่สำคัญคือเมื่อผลตรวจ DNA ไปถึงอำเภอแล้ว จะต้องมีคนช่วยติดตามเคสให้เข้ามาทำบัตรประชาชน ถ้าสามารถทำได้ครบวงจรแบบนี้ ทุกคนก็จะสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สถานะบุคคลและได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลอย่างเป็นระบบมากขึ้น" น.ส.วรรณา กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand