"สปสช." ไขข้อสงสัย หลัง 1 ก.ค. นี้ "ผู้ป่วยโควิด" ยังรักษาฟรีหรือไม่

"สปสช." ไขข้อสงสัย หลัง 1 ก.ค. นี้ "ผู้ป่วยโควิด" ยังรักษาฟรีหรือไม่

สปสช. ยืนยันไม่ได้ลอยแพ "ผู้ป่วยโควิด" หลัง 1 ก.ค.65 ยังรักษาฟรีเหมือนเดิม เพียงปรับแนวทางการจ่ายค่าบริการสาธารณสุขโรคโควิด-19 ให้หน่วยบริการเพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่นตามนโยบายรัฐบาล ย้ำประชาชนยังคงได้รับการดูแลรักษาพยาบาลตามสิทธิของตนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์โรค โควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยหนักอย่างลดลงต่อเนื่อง ไม่พบการระบาดเป็นวงกว้างต่อเนื่อง จำนวนเตียง ยา และเวชภัณฑ์ มีเพียงพอต่อการให้บริการได้ตามมาตรฐาน รัฐบาลจึงมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับการเดินหน้าไปสู่ โรคประจำถิ่น อย่างปลอดภัย

 

ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 มิ.ย. 2565 ได้มอบหมายให้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการดำเนินการรองรับการเดินหน้าไปสู่โรคประจำถิ่น โดยประชาชนยังคงได้รับการดูแลรักษาพยาบาลตามสิทธิสุขภาพที่ตนมีอยู่ ทั้งนี้แม้ว่าโรคโควิด-19 จะเข้าสู่ โรคประจำถิ่น แต่ถือว่ายังเป็นโรคหนึ่งโรค กระทรวงสาธารณสุขเอง มีแนวคิด “Health for Wealth” ที่มุ่งคืนระบบบริการการแพทย์แก่ประชาชนทุกคนทุกโรค และประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้

 

"สปสช." ไขข้อสงสัย หลัง 1 ก.ค. นี้ "ผู้ป่วยโควิด" ยังรักษาฟรีหรือไม่

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ในส่วนของ สปสช.นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมตามนโยบายรัฐบาลเพื่อรองรับการเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่นเช่นกัน โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในวันที่ 4 ก.ค.2565 นี้ อย่างไรก็ตามมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 สปสช.จะลอยแพผู้ป่วยโควิด-19 สปสช.ขอชี้แจงและยืนยันว่าไม่มีการลอยแพผู้ป่วยโควิด-19 แต่อย่างใด

 

"ผู้ป่วยยังคงได้รับการรักษาฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม โดยหลังจากนี้หากประชาชนมีอาการเข้าข่ายว่าจะติดโควิด สามารถขอรับชุดตรวจ ATK ที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอปเป๋าตังหรือใช้บัตรประชาชนไปรับ เพื่อตรวจยืนยันได้ทันที"

 

ผู้ป่วยสีเขียว รักษาตามสิทธิ

 

หากขึ้น 2 ขีดคือผลเป็นบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มที่มีอาการไม่มากหรือ กลุ่มสีเขียว เข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิหรือหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะได้รับการดูแลรักษาตามแนวทาง เจอแจกจบ ของกระทรวงสาธารณสุข หรือ โทร.ประสานร้านขายยาตามรายชื่อที่อยู่ในเว็บไซต์ สปสช. เพื่อรับยาตามโครงการเจอแจกจบที่ร้านขายยาได้เช่นกัน

กลุ่มเสี่ยง และ กลุ่ม 608 

 

กรณีเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่ม 608 หรือมีอาการรุนแรง จะถูกพิจารณาให้พบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา หากแพทย์ให้การรักษาแบบใดตามดุลพินิจของแพทย์ สิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละท่านก็จะดูแลครอบคลุมหมด

 

ผู้ป่วยบัตรทอง 30 บาท 

 

ในส่วนของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท สปสช.ก็ดูแลค่าใช้จ่ายครอบคลุมทั้งหมดเช่นกัน หากแพทย์มีดุลพินิจให้รักษาแบบ Home Isolation หรือเป็นผู้ป่วยในต้องแอทมิทนอนโรงพยาบาล ก็อยู่ในความครอบคลุมของสิทธิประโยชน์เช่นกัน 

 

กลุ่มสีเหลือง แดง ใช้สิทธิ UCEP Plus

 

หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์สีเหลือง-แดง ก็ใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

ทั้งนี้ ในส่วนของสายด่วน สปสช. 1330 หลังจากวันที่ 1 ก.ค.2565 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้อง โทร.แจ้งแล้ว แต่หากมีข้อสงสัยว่าจะต้องทำอย่างไร โทร.มาสอบถามขั้นตอนได้ หรือหากมีอาการแย่ลงจะต้องทำอย่างไรต่อ หรือต้องการประสานหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลก็โทรมาได้เช่นกัน เลขาธิการ สปสช.กล่าว 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

หมายเหตุ ดูรายชื่อร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการเจอ แจก จบ ดูได้ที่ คลิก