สธ. ย้ำตู้เครื่องดื่มผสม "กัญชา" ห้ามขายเด็ก-คนท้อง โทษคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่น

สธ. ย้ำตู้เครื่องดื่มผสม "กัญชา" ห้ามขายเด็ก-คนท้อง โทษคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่น

สธ. ย้ำ ตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ ที่มี "กัญชา" เป็นส่วนผสม ผู้ประกอบการต้องแจงรายละเอียดให้ผู้บริโภคทราบ เตือนห้ามขายกัญชาให้เด็ก คนท้อง หรือหญิงให้นมบุตร ฝ่าฝืนโทษคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ

วันที่ 17 มิถุนายน 2565 "กรมอนามัย" ย้ำผู้ประกอบการต้องแจงรายละเอียดอาหารและเครื่องดื่มที่มี "กัญชา" เป็นส่วนผสม หากผู้บริโภคได้รับผลกระทบผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ ขณะที่ กรมแพทย์แผนไทยฯ เตือน หากจำหน่ายกัญชาให้เด็ก คนท้อง หรือหญิงให้นมบุตร มีความผิดจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณี ตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ ที่มีการประกอบหรือปรุงเครื่องดื่มที่ตู้ ลักษณะนี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของกรมอนามัย โดยอยู่ภายใต้มาตรา 33 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ที่เข้าข่ายเป็นกิจการอันตรายประเภทที่ 3 ต้องมีการจดแจ้งยื่นขออนุญาติท้องถิ่นในการติดตั้งตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติ

 

ส่วนเมนูที่ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา ทางผู้จำหน่ายจะต้องมีการติดประกาศคำเตือนให้ผู้บริโภครับทราบ รวมถึงข้อกำหนดในการห้ามจำหน่ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) เช่น ห้ามจำหน่ายในเด็กที่อายุต่ำว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร นอกจากนั้นต้องแจ้งรายละเอียดส่วนประกอบของเมนูเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของกัญชาให้ผู้บริโภครับทราบ

 

ส่วนบริการส่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นและเดลิเวอร์รี่ ทางผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาติในการขายอาหาร เครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมกัญชา ซึ่งจะต้องมีแจกจ่ายส่วนประกอบของเมนูรวมถึงคำเตือนให้กับผู้บริโภครับทราบ เนื่องจากหากเกิดความเสียหาย หรือผู้บริโภคได้รับผลข้างเคียง ทางผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ หากผู้บริโภคยืนยันต้องการจะที่บริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของกัญชา แม้ทางร้านจะแจ้งให้ทราบแล้ว เกิดผลข้างเคียง ผู้บริโภคต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง

 

ทั้งนี้ หากพบผู้ประกอบการร้านค้าที่ไม่ฏิบัติตามข้อกำหนด ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าไปตรวจสอบและดำเนินตามกฎหมายได้

 

 

ส่วนข้อกังวลในการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมกัญชา ในโรงเรียนและบริเวณโดยรอบ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาได้มีการหารือร่วมกัน ผ่านโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเคยดำเนินการมาแล้วอาจจะปรับใช้แนวทางเดียวกับโรงเรียนสีขาว ที่เป็นโครงการกำจัดยาเสพติดในโรงเรียน

 

ทั้ง นพ.สุวรรณชัย ย้ำต่อว่า การที่กระทรวงสาธารณสุขได้ปลดล็อกกัญชาเพราะเห็นว่ามีประโยชน์โดยเฉพาะทางการแพทย์ แต่ถ้าใช้ไม่เหมาะสมก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนตัวคิดว่าการปลดล็อกกัญชาเป็นเรื่องใหม่และท้าทาย แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถหาแนวทางในการควบคุมและจัดการการใช้กัญชาได้อย่างเหมาะสม

 

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ว่า ออกมาเพื่อคุ้มครอง ป้องกันกลุ่มเปราะบาง คือ เด็ก เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ไม่ให้มีการเข้าถึงการใช้กัญชา

 

ดังนั้นในกลุ่มนี้กฎหมายจะเป็นไปในเชิงป้องกัน แต่สำหรับคนที่นำกัญชาไปให้กลุ่มเปราะบางที่ห้ามใช้กัญชาตามประกาศนี้ จะต้องมีความผิดตามกฎหมาย เช่น ขายกัญชาให้เด็ก ให้คนท้อง จะมีโทษทางอาญา และมีความผิดมาตรา 78 พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ