มอง ‘ปัญหาเด็ก’ กลุ่ม ‘แรงงานสร้างสรรค์’ ในวันต่อต้านใช้ 'แรงงานเด็ก' สากล

มอง ‘ปัญหาเด็ก’ กลุ่ม ‘แรงงานสร้างสรรค์’ ในวันต่อต้านใช้ 'แรงงานเด็ก' สากล

เตือนความสำคัญของวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก วันที่ 12 มิถุนายน ของทุกปี พร้อมทำความเข้าใจสิทธิแรงงานเด็กในกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ บริบทใหม่ในปัญหา "แรงงานเด็ก" ที่ใครหลายคนยังมองข้าม

12 มิถุนายนของทุกปี องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Orginazation: ILO) กำหนดให้เป็น “วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก” (World Day Against Child Labour)  เพื่อขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไปตามหลัก ILO (ไอโอแอล)

แรงงานเด็ก” นิยามได้ว่า คือ กลุ่มแรงงาน ที่มีอายุน้อยและยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายแรงงานของแต่ละประเทศกำหนดให้สามารถทำงานได้ รวมไปถึงเด็กที่ถูกบังคับให้เลิกเรียนเพื่อมาทำงานหรือทำให้ไม่ได้รับสวัสดิการตามสิทธิที่เด็กควรจะได้รับ ซึ่งเกณฑ์ของประเทศไทยเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งกำหนดห้ามไม่ให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าทำงาน เป็นลูกจ้างในงานทั่วไปและงานเกษตรกรรม และอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าทำงานในงานประมงทะเล งานในโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และในกิจการเกี่ยวกับการแปรรูปสัตว์น้ำ

หากมีผู้พบเห็นการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี สามารถแจ้งได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร. สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546 และทางสื่อออนไลน์ของกรมทุกช่องทาง

มอง ‘ปัญหาเด็ก’ กลุ่ม ‘แรงงานสร้างสรรค์’ ในวันต่อต้านใช้ \'แรงงานเด็ก\' สากล

ภาพจากกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน

  • แรงงานสร้างสรรค์ บริบทใหม่ของ “แรงงานเด็ก”

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของไอแอลโอ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจปิดตัวลง ทั้งยังเปลี่ยนสถานะแรงงานที่มีสังกัด ให้เป็นแรงงานอิสระ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ ที่นิยามกันว่า เป็นกลุ่มที่ใช้ทักษะและความสร้างสรรค์ในการผลิตผลงาน ไม่ว่าจะเป็น กราฟิกดีไซเนอร์ ผู้ผลิตรายการ นักเขียน นักแสดง ช่างภาพ ฯลฯ และกล่าวโดยเฉพาะในแวดวงอุตสาหกรรมบันเทิง การถ่ายทำละคร ภาพยนตร์ โฆษณา  ซึ่งใน “วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก” ปีนี้ ได้มีบริบทเรื่อง “แรงงานเด็ก” ให้ร่วมกันเฝ้าระวัง

สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกร้องสวัสดิการให้กับกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ ซึ่งเชื่อมโยงถึง แรงงานเด็ก ยกตัวอย่างตอนหนึ่งว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยประกอบไปด้วย 'แรงงานกองถ่าย' จำนวนมาก และด้วยความสามารถของแรงงานเหล่านั้นเกิดเป็นการยอมรับในระดับสากล จากการที่ต่างประเทศมาลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยและสร้างรายได้จำนวนมหาศาล

หากแต่แรงงานเหล่านี้กลับไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเท่าที่ควร ขาดหลักประกันทางสังคม ขาดสวัสดิการ จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ยาวนานกว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน อุบัติเหตุในกองถ่าย ความไม่มั่นคงในอาชีพ และไร้ตัวแทนในการเจรจาต่อรอง ตลอดจนไปถึงแรงงานเด็กที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย จนเกิดเป็นแผลเป็นภายในจิตใจต่อพวกเขาเหล่านั้นในอนาคต

  • นักแสดงเด็กในกองถ่าย เสี่ยงถูกละเมิดสิทธิ์แรงงาน

ตัวอย่างจากประสบการณ์ของแรงงานเด็ก สหจักร บุญธนกิจ นักแสดงไทยที่ผ่านผลงานมาหลายต่อหลายเรื่อง เล่าว่า เมื่อสิบปีก่อน เขาเคยพาลูกไปคาสติ้งและได้เล่นโฆษณา จากนั้นก็ได้เล่นภาพยนตร์ ซึ่งระหว่างถ่ายทำด้วยความที่ตัวเองเป็นนักแสดงอยู่แล้ว เลยไว้ใจให้อยู่กับทีมงาน ซึ่งการถ่ายทำภาพยนตร์ในครั้งนั้นก็ผ่านไป แต่เมื่อมีกองถ่ายเรียกลูกไปคาสติ้ง ลูกกลับปฏิเสธ จึงแปลกใจที่ลูกทิ้งโอกาสนี้ไป แม้จะเคยบอกว่าอยากเป็นนักแสดง

“ตอนนี้เข้าอายุ 18 ปีแล้ว แต่ตอนนั้นย้อนไปเมื่อประมาณ 7-8 ขวบ เคยมีคนเรียกไปคาสติ้งอีก เขาบอกกับผมว่าไม่อยากไป ไม่เอาอีกแล้ว มารู้ทีหลังตอนโตว่า หนังเรื่องแรกที่เขาเล่น เขาถูกปฏิบัติตัวที่ทำให้ได้รับผลกระทบทางจิตใจ โดยในตอนนั้นเขาต้องแสดงอารมณ์ความกลัว ซึ่งทีมงานก็ใช้วิธีสร้างอารมณ์โดยจับขังใส่ถุงผ้าให้กลัวจริงๆ เพื่อให้สมกับบทบาท”

หรือ อย่างอีกเรื่องหนึ่ง ในขณะที่เด็กต้องแสดงบทร้องไห้ ซึ่งต้องส่งอารมณ์ออกมา วิธีที่ผู้กำกับในกองนั้นใช้คือ วิธีเขย่าตัวให้ร้องไห้

“ตอนเด็กเขายังไม่เล่าให้ผมฟังนะ เขาคิดว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติของกองถ่าย ถ้ารู้ผมคงไม่ยอมปล่อยให้ลูกผมถูกปฏิบัติแบบนั้น ผมคิดว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้เขาล้มเลิกความคิดที่จะเป็นนักแสดง อีกอย่างเวลาการทำงานของเด็กในกองถ่ายก็ไม่มีขีดจำกัด คือถ่ายไปจนกว่าทีมงานจะพอใจ วันนี้ผมไม่ได้คิดจะกล่าวโทษใคร แต่นี่คือสิ่งที่ลูกผมเคยเล่าให้ฟัง ในฐานะที่เป็นเด็ก และเคยได้ทำงานในกองถ่ายมาก่อน” สหจักร กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565

มอง ‘ปัญหาเด็ก’ กลุ่ม ‘แรงงานสร้างสรรค์’ ในวันต่อต้านใช้ \'แรงงานเด็ก\' สากล

มอง ‘ปัญหาเด็ก’ กลุ่ม ‘แรงงานสร้างสรรค์’ ในวันต่อต้านใช้ \'แรงงานเด็ก\' สากล

ภาพจาก เฟสบุ๊ค สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย

  • ข้อเสนอถึงแรงงานเด็ก ในธุรกิจสร้างสรรค์

ปัจจัยด้านชื่อเสียงและรายได้ ทำให้ไม่มีใครอยากปฏิเสธอาชีพนักแสดง และก็มีไม่น้อยที่ผู้ปกครองเป็นผู้ชักนำบุตรหลานเพื่อเข้าวงการด้วยตัวเอง เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองแสวงหาโอกาส ทั้งในรูปแบบเดินสายคาสติ้งตามโมเดลลิ่งเอเจนซี่ การสร้างตัวตนผ่านโลกออนไลน์เผื่อที่สักวันหนึ่งผู้มีหน้าที่คัดเลือกนักแสดงจะมองเห็น

ไชยวัฒน์ วรรณโคตร หนึ่งในทีมนโยบายของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (Creative Workers Union Thailand: CUT) กล่าวว่า สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ตั้งคำถามถึงการทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิงที่หนักเกินไป โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานเด็กที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน เนื่องจากยึดตามสภาพร่างกายของผู้ใหญ่ จึงส่งผลกระทบต่อร่างกายและพัฒนาการเด็ก รวมทั้งสภาพแวดล้อมในกองถ่าย ทั้งแสงไฟ สภาพแวดล้อม ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก

ทั้งนี้แม้จะมีกฎหมายว่าด้วยการไม่อนุญาตให้ใช้แรงงานเด็กต่ำกว่า 18 ปี แต่การว่าจ้างเด็กในอุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ใช่การจ้างงานตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่เป็นการจ้างในลักษณะ “รับจ้างทำของ” แบบเดียวกับกลุ่มแรงงานฟรีแลนซ์ แรงงานรับจ้างทั่วไป ซึ่งหมายความว่า เด็กรายนั้นต้องทำผลงานให้ผู้ว่าจ้างพอใจเพื่อแลกกับรายได้ โดยไม่จำกัดเวลา และการถูกปฏิบัติ

“ได้งานมาแล้วก็ต้องทำให้จบ จะมาแต่เช้ากลับดึก หรือทำงานเกินกว่า 8 ชั่วโมงก็ได้ ซึ่งเมื่อเด็กต้องมาอยู่ในกองถ่าย และทำตามสิ่งที่ผู้กำกับหรือทีมงานบอก ถูกผู้ปกครองบังคับให้ทำงาน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่บางกองถ่ายก็ไม่ได้มีการดูแลความปลอดภัย เช่นนี้ถือว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิ์ของเด็กหรือไม่”

แรงงานเด็ก” ในอุตสาหกรรมบันเทิง จึงยังไม่มีมาตรฐาน ไม่มีหลักเกณฑ์ถึงความเหมาะสม ซึ่งเมื่อไม่มีกติกาที่ชัดเจนนั่นหมายความว่า ดุลยพินิจและความเหมาะสมขึ้นอยู่กับ ผู้กำกับ ผู้บริหารในธุรกิจ หรือผู้จัดการในกองถ่ายนั้นๆ ซึ่งถ้าเจอผู้บริหาร ผู้จัดการที่เห็นความสำคัญ เด็กก็จะได้รับการปฏิบัติที่ดี แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ในกองถ่ายแทบไม่สนใจสิทธิ์ของเด็กกลุ่มนี้ โดยเฉพาะกองถ่ายขนาดเล็กที่มีต้นทุนไม่มากนัก เป็นกองถ่ายเล็กๆ รับงานเป็นรายชิ้น ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคที่เน้นการผลิตเนื้อหาสำหรับการตลาดออนไลน์ และในช่วงโควิด-19

สำหรับข้อเสนอของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย ในเรื่องดังกล่าวนี้ ได้มีการยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการแรงงาน คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ อู่อ้น เป็นประธานฯ โดยมีสาระสำคัญ คือการยึดตามหลักการอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการใช้แรงงานเด็ก ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ของสหประชาชาติ (UN) ที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองไว้แล้ว โดยคำนึงถึงความยินยอมในการทำกิจกรรม, สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย และสุขภาพของเด็กเป็นสำคัญ ประกอบด้วย

  1. คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ, สํานักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมกิจการเด็กและเยาวชน ต้องนำมาตรฐานนี้ไปปรับใช้เป็นขั้นต่ำของการคุ้มครองนักแสดงเด็กและเยาวชนในอุตสาหกรรมสื่อ และให้มีผลต่อการอนุมัติของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติให้ถ่ายทำสื่อที่มีนักแสดงเด็กภายในกอง
  2. กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)ต้องนำมาตรฐานนี้เป็นเงื่อนไขของการสนับสนุนการผลิตสื่อที่มีนักแสดงเด็กภายในกอง
  3. กระทรวงวัฒนธรรม ต้องปรับแก้กฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อนําเนื้อหาเกี่ยวกับสวัสดิการการคุ้มครองแรงงานเข้าเป็นเนื้อหาทางกฎหมายเพื่อบังคับใช้
  4. รัฐและหน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ต้องเฝ้าระวังและบังคับใช้มาตรฐานความปลอดภัย ชั่วโมงการทํางาน สัญญาจ้าง มาตรฐานแรงงานเด็กในการผลิตสื่อ และเวลาในการทํางานที่เป็นธรรม
  5. ผู้อำนวยการ และผู้สนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่มีนักแสดงเด็กภายในกอง ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว

ทั้งนี้เพื่อให้หน้าฉากของผลงานที่สวยหรู ดูน่าชื่นชม มีเบื้องหลังที่เป็นไปตามมาตรฐานของการดูแล คุ้มครอง แรงงานเด็ก ด้วยนั่นเอง 

ที่มา : เตือนผิดกม. "นายจ้าง" ห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้าทำงาน

CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์