ส่องสถานการณ์ "ทะเลไทย" ทรัพยากร - สัตว์ทะเลหายาก มีอยู่เท่าไหร่

ส่องสถานการณ์ "ทะเลไทย" ทรัพยากร - สัตว์ทะเลหายาก มีอยู่เท่าไหร่

เนื่องใน "วันสิ่งแวดล้อมโลก" 5 มิ.ย. ของทุกปี ทรัพยากรทางทะเล และ ชายฝั่ง เป็นอีกหนึ่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีความสำคัญ และอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่ออนุรักษ์ ไม่ว่าจะหญ้าทะเล ปะการัง พื้นที่ชายฝั่ง สัตว์ทะเลน้อยใหญ่ รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก

5 มิถุนายน 2565  ถือเป็นการครบรอบ 50 ปี "วันสิ่งแวดล้อมโลก" (World Environment Day) จากจุดเริ่มต้นที่ องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ต้องการให้เกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตสิ่งแวดล้อมทั่วโลก จึงเกิด โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ภายใน การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (UN Conference on the Human Environment) ในวันที่ 5-16 มิถุนายน 2515 ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และในปีนี้ กำหนดแนวคิด “Only One Earth” เพื่อสื่อสารให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นเตือนว่าเรามีโลกเพียงใบเดียว 

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีความหลากหลาย และ "ทะเลไทย" ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของนักเดินทาง โดยในช่วงโควิด-19 พบว่า จากการที่นักท่องเที่ยวลดลงในระยะ 2 ปีกว่า ทำให้เต่ามะเฟือง ซึ่งถือเป็นสัตว์ทะเลหายาก มีปริมาณเพิ่มขึ้น จากค่าเฉลี่ยของการเพาะฟักวางไข่ปี 2550 มีเพียง 1.5 รังต่อปี ขณะที่ปัจจุบัน พบว่า เต่ามะเฟืองมีการวางไข่หลายสิบรังต่อปี

 

สถานการณ์ทะเลและชายฝั่งของไทย

 

ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไทย ไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง และสัตว์หายาก ในปัจจุบัน พบว่า

 

“ทรัพยากรป่าชายเลน”

เมื่อดูภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงความร่วมมือกับ GISTDA จำนวนพื้นที่ป่าชายเลน 2.86 ล้านไร่ พบว่า

  • พื้นที่ป่าสมบูรณ์ 1.74 ล้านไร่
  • เพิ่มขึ้น 2 แสนไร่จากปี 2557
  • ถูกบุกรุกเปลี่ยนสภาพ 1.12 ล้านไร่
  • ป่าชายหาด 40,254.52 ไร่
  • พื้นที่ป่าในเมือง 30 แห่ง 18 จังหวัด

“ทรัพยากรทางทะเล”

มีสัตว์หายาก ได้แก่

  • พะยูน 261 ตัว
  • เต่าทะเล 5 ชนิด
  • พบการวางไข่ของเต่าทะเลเพิ่มขึ้น จาก 413 รัง ในปี 2561 เป็น 491 รัง ในปี 2563
  • วาฬและโลมา 3,025 ตัว

สัตว์ทะเลหายากที่ได้ขึ้นทะเบียนตามบัญชีสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 ได้แก่ วาฬโอมูระ วาฬบรูด้า ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง และพะยูน

 

“โสภณ ทองดี” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า โดยรวมของสัตว์ทะเลหายากของไทยมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพะยูน ซึ่งมีแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติในการเพิ่มจำนวนให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงวาฬ โลมา และเต่ามะเฟือง ซึ่งเป็นเต่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

ขณะเดียวกันจากสถานการณ์โควิดที่มีนักท่องเที่ยวน้อยลง หรือนักท่องเที่ยวในประเทศที่เดินทางไปท่องเที่ยวตามจังหวัดชายทะเลน้อยลงในระยะ 2 ปีกว่า ทำให้เต่ามะเฟือง มีปริมาณเพิ่มขึ้น สมัยก่อนค่าเฉลี่ยของการเพาะฟักวางไข่ ปี 2550 มีเพียง 1.5 รังต่อปี เท่านั้น ขณะที่ปัจจุบัน เต่ามะเฟืองมีการวางไข่หลายสิบรังต่อปี

“ทรัพยากรปะการัง”

  • พื้นที่ปะการัง 149,025 ไร่
  • จำนวนชนิดปะการัง 280 ชนิด

สถานะภาพ

  • ฝั่งอันดามันเสียหายเพิ่มขึ้น
  • ฝั่งอ่าวไทยมีความสมบูรณ์ปานกลาง
  • ฝั่งตะวันออกสมบูรณ์ปานกลาง

 

“ทรัพยากรหญ้าทะเล”

  • พื้นที่หญ้าทะเล 159,829 ไร่
  • จำนวนชนิดหญ้าทะเล 13 ชนิด
  • สมบูรณ์มาก 27%
  • สมบูรณ์ปานกลาง 64%
  • สมบูรณ์น้อย 9%

 

“ทรัพยากรชายฝั่ง”

  • ความยาวชายฝั่งทะเล 3,151 กิโลเมตร
  • 3% พื้นที่พบปัญหากัดเซาะชายฝั่ง 91.69 กิโลเมตร
  • รุนแรง 12.87 กม.
  • ปานกลาง 28.64 กม.
  • น้อย 50.18 กม. 22%
  • พื้นที่ไม่มีโครงสร้างแล้ว 702.68 กทม.
  • 75% พื้นที่ไม่มีปัญหากัดเซาะ 2,356.76 กม.

 

"สัตว์ทะเลหายากหลายชนิดเกยตื้นตาย"

ในปี 2563

  • เต่าทะเลเกยตื้น 536 ตัว
  • โลมาและวาฬ 248 ตัว
  • พะยูน 17 ตัว

สาเหตุการตายของเต่าทะเล พะยูน 80% เกิดจากเครื่องมือประมง อวน ใบพัดเรือ

สาเหตุการตายของโลมาและวาฬ 65% เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ 

 

ทั้งนี้ เป้าหมายของ กรมทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่ง คือ การเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน อาทิ โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต 3 แสนไร่ ในปี 2575 เพิ่มจำนวนพะยูนในธรรมชาติเป็น 280 ตัวในปี 2565 ลดจำนวนสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น แก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ลดการทำลาย และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน