สัปดาห์หน้าอาจพบ“ฝีดาษลิงในไทย”  ร่วมงาน“บางกอกไพรด์”อย่าสัมผัสใกล้ชิด

สัปดาห์หน้าอาจพบ“ฝีดาษลิงในไทย”  ร่วมงาน“บางกอกไพรด์”อย่าสัมผัสใกล้ชิด

สธ.หวั่นสัปดาห์หน้าพบ “ฝีดาษลิงในไทย”  เหตุ “บางกอกไพรด์” มีต่างชาติเดินทางมาก แนะคนร่วมงานอย่าสัมผัสใกล้ชิดกัน

  เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2565  นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง)ว่า
โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย ยังอยู่ในระดับโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเทียบได้กับโรคไข้เลือดออก ซึ่งจากการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงในไทย ยังไม่พบผู้ป่วยสงสัย ผู้ป่วยเข้าข่ายและผู้ป่วยยืนยัน  ส่วนการติดตามอาการผู้ใกล้ชิด 12 รายนั้น ขณะนี้ไม่มีอาการใดๆ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ จึงไม่น่ากังวล แต่จะต้องติดตามจนครบ21วัน

         ทั้งนี้ ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิด แม้จะไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่กรมควบคุมโรคได้ประสานไปยังโรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทางต่างๆ เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง ในการสังเกตุและเฝ้าระวังผู้ป่วยด้วย โดยหากพบผู้ป่วยที่เข้านิยามสงสัยให้ส่งข้อมูลมาส่วนกลาง

       “สัปดาห์นี้ไทยจะมีงานไพรด์พาเหรดขึ้นที่กรุงเทพฯ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย เนื่องจากจะมีการเดินขบวนพาเหรดงานไพรด์ในไทย ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าร่วมงานจำนวนมาก ก็อาจจะพบผู้ป่วยเข้ามาอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเฝ้าระวังเที่ยวบินตรงจากประเทศที่พบการติดเชื้อภายในประเทศแล้ว อย่างเช่น แถบแอฟริกากลาง อังกฤษ โปรตุเกส สเปน และแคนาดา และจับตาเยอรมนีเพิ่มเติม โดยมีผู้เดินทางเข้าประเทศไทย เฉลี่ยวันละ 1 หมื่นคน”นพ.จักรรับกล่าว

      ผู้สื่อข่าวถามว่ามาตรการที่ต้องเตรียมในการจัดงานไพรด์พาเหรดกรุงเทพฯ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ที่จัดงานยังไม่ได้ประสานข้อมูลมา แต่ สธ. วางแผนระบบเฝ้าระวังสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร พร้อมประสานเครือข่ายผู้ดูแลงานโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เข้าไปรักษาในคลินิกเฉพาะทางด้วย แต่ย้ำว่าโรคฝีดาษลิงไม่ได้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรง ดังนั้น มาตรการ Universal Prevention หรือ UP ด้วยการเว้นระยะห่างกัน ไม่สัมผัสใกล้ชิด ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่ายๆ จะยังช่วยป้องกันได้

ผู้เข้าร่วมงานไพรด์พาเหรดกรุงเทพฯ หากมั่นใจว่าไม่ได้ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการป่วย ออกผื่นก็ไม่น่ากังวล แต่หากใกล้ชิดกันโดยไม่ได้สังเกต ก็เป็นความเสี่ยง ฉะนั้นหากพบผู้ที่มีอาการผื่นก็ขอให้พามาตรวจที่ รพ. เพื่อยืนยันว่าไม่ใช่โรคฝีดาษลิง ทั้งนี้ ระยะฟักตัวของโรคคือ 5-21 วัน ดังนั้นหากจะเฝ้าระวังตัวเองก็ต้องอย่างน้อย 3 สัปดาห์หรือ 21 วันหลังจากมีความเสี่ยงนั้นๆ อาการเบื้องต้น 10 วันแรกจะเป็นไข้ หลังจากนั้นจะเป็นผื่นขึ้น ก็ขอให้รับการตรวจที่ รพ.

      “ช่วงงานไพรด์พาเหรดกรุงเทพฯ แม้คนที่ร่วมงานยังไม่มีผื่น แต่ถ้าจะให้ดียังคงต้องทำ UP เว้นระยะห่างจากคนให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งมีความกังวลว่าหลังจากจบงานแล้วจะมีการเที่ยวกันต่อหลายวัน มีการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ ก็อาจติดเชื้อได้” นพ.จักรรัฐกล่าว
        สำหรับ อาการของผู้ร่วมงานที่จะต้องสังเกต ตามแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรประเทศไทย (ฝีดาษลิงในไทย) ซึ่งกรมควบคุมโรค จะแยกผู้ป่วย 3 กลุ่ม คือ 

1.ผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร(ฝีดาษลิง) คือ ผู้ทีมีอาการดังต่อไปนี้

- ไข้หรืออุณหภูมิมากกว่า  38 องศาเซลเซียส  และมีอาการอย่างน้อย 1 อย่างนี้ ได้แก่ 

  • เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • ต่อมน้ำเหลืองโต หรือผื่น ตุ่มนูน ผื่นกระจายตามใบหน้า ลำตัว ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด 

- ประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาภายใน 21 วันที่ผ่านมา ได้แก่ 

  • ประวัติเดินทางมาจาก/อาศัยอยู่ในประเทศที่การรายงานการระบาดโรคฝีดาษวานร ภายในประเทศ(Local transmission)  
  • ประวัติร่วมกิจกรรมในงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศเป็นประจำ
  • ประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นำเข้าจากทวีปแอฟริกา 

2.ผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร(ฝีดาษลิง) คือ ผู้ป่วยสงสัยที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด ดังต่อไปนี้  ได้แก่ 

  • สัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย
  • สัมผัสสิ่งของที่อาจมีเชื้อปนเปื้อนของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้าผู้ป่วย
  • ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ที่อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วย หรือใช้ห้องน้ำหรืออุกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย
  • ผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้อง หรืออยู่ใกล้ ผู้ป่วยภายในระยะ 2 เมตร

3.ผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) คือ ผู้ป่วยสงสัยหรือเข้าข่ายที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน สำหรับแนวทางการจัดการผู้ป่วย หากเป็นผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยเข้าข่าย ตรวจหาเชื้ตามแนวทางที่กำหนด รับการรักษา ตรวจสอบประวัติเสี่ยง สอบสวนโรคและพิจารณาแยกกัก จนกว่าตรวจไม่พบเชื้อ ส่วนผู้ป่วยยืนยัน รับการรักษาและพิจารณาแยกกัก 21 วัน นับจากวันเริ่มป่วย