ต่างกันตรงไหน "ฝีดาษลิง"-"เริม" และ "อีสุกอีใส"

ต่างกันตรงไหน "ฝีดาษลิง"-"เริม" และ "อีสุกอีใส"

ฝีดาษลิง เริม และอีสุกอีใสต่างกันอย่างไร หลังจากที่ระบบเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงในไทย พบผู้เข้าข่ายสงสัย 3 ราย  แต่ผลตรวจยืนยันเชื้อจากห้องแล็ปกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า เป็นเชื้อเริม

  นพ.สุประกิต จิรารัตน์วัฒนา นายแพทย์ปฏิบัติการ สถาบันโรคผิวหนัง  กรมการแพทย์ กล่าวว่า เริม อีสุกอีใส และงูสวัด เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากไวรัสตระกูลเดียวกัน เริมเป็นตุ่มใสที่แตกง่าย จะเป็นบริเวณเดิมๆ ส่วนใหญ่เป็นที่ริมฝีปาก อวัยวะเพศ ก้นกบ คนไข้อาจเป็นซ้ำๆ ได้โดยเฉพาะช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ อดนอน เครียด เนื่องจากเมื่อโรคหาย แต่เชื้อยังฝังในเส้นประสาท พอร่างกายอ่อนแอจะถูกกระตุ้นให้โผล่ออกมา ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่เดิมๆ ไม่กระจายทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่หายเองภายใน 7-15 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน  และไม่มีอาการไข้นำ

     แต่ฝีดาษลิง จะมีไข้นำมาก่อน และต่อมน้ำเหลืองโต ประมาณ 1-3 วัน จากนั้นผื่นจึงจะเริ่มขึ้นและจะเป็นทั้งใบหน้า แขนขา ขณะที่อาการโรคอีสุกอีใสจะเป็นทั้งตัวและมีไข้นำมาก่อนเช่นกัน จากนั้นเริ่มมีผื่นและตุ่มขึ้น
      ข้อแตกต่างจากฝีดาษ คือ อีสุกอีใสเวลามีผื่นตุ่มขึ้น ไม่นานภายใน 12 ชั่วโมงจากตุ่มแดงก็จะกลายเป็นตุ่มใส ตุ่มหนอง แปรสภาพได้รวดเร็ว และในคนเดียวกันรอยโรคจะมีหลายระยะในเวลาเดียวกัน ทั้งผื่นแดง ตุ่มใส ตุ่มหนอง ปนกันในเวลาเดียวกัน
       ส่วนฝีดาษลิงเวลาเปลี่ยนสภาพรอยโรคจะเปลี่ยนไปพร้อมกันทั้งร่างกาย เช่น ช่วงเป็นตุ่มใสก็จะเป็นทั้งตัว หรือตุ่มหนองก็จะเป็นทั้งตัว แต่ละระยะใช้เวลาแปรสภาพนานกว่าประมาณ 1-2 วัน และอีกจุดที่ต่างคือ อีสุกอีใส มีไข้ แต่ไม่มีต่อมน้ำเหลืองโต ต่างจากฝีดาษลิงที่มีต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเป็นจุดที่ใช้วินิจฉัยแยกโรค

เริม อีสุกอีใสและฝีดาษลิง แพร่เชื้อได้จาก

  • ระหว่างคนสู่คนโดยการสัมผัส
  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
  • ใช้ของใช้ร่วมกับผู้มีรอยโรคระยะแพร่เชื้อ

แต่ฝีดาษลิงยังสามารถแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยจากทางเดินหายใจส่วนบนได้

  • โดยการไอจามในช่วงที่มีอาการตั้งแต่เริ่มมีไข้ ในระยะ 3 ฟุตหรือ 1 เมตร 
  • สามารถติดได้จากการรับประทานเนื้อสัตว์นำเข้าที่มีเชื้อฝีดาษโดยไม่ได้ปรงสุก หรือผู้ปรุงไปสัมผัสเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อ

จึงต้องระวังการนำสัตว์ป่าโดยไม่ผ่านด่านกักโรค นพ.สุประกิต กล่าวอีกว่า ประเทศไทยยังไม่เคยปรากฏโรคฝีดาษลิงมาก่อน ตระกูลฝีดาษหรือ Pox Virus มีทั้งฝีดาษวัว  (Cowpox) ฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) และฝีดาษลิง (Monkeypox) อาการจะคล้ายกัน ตัวรุนแรงสุดคือ ฝีดาษคน เคยระบาดไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2460 ปี 2489 ระบาดในประเทศไทย จนนำไปสู่การปลูกฝีทั่วประเทศ และกำจัดได้ในที่สุดปี 2523 องค์การอนามัยโลกก็ประกาศสามารถกำจัดโรคฝีดาษไปได้แล้ว จนนำไปสู่การยกเลิกปลูกฝีดาษ

ความรุงแรงของฝีดาษลิง

เทียบอัตราเสียชีวิตน้อยกว่าฝีดาษ ในช่วงที่ระบาดอัตราการเสียชีวิตสมัยนั้นสูงถึง 30% แต่อัตราเสียชีวิตฝีดาษลิงในประเทศที่ระบบสาธารณสุขดีจะอยู่ที่ 3-6% ส่วนประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่ดี อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 6-10% แต่ยังถือว่าสัดส่วนสูงพอสมควร อย่างไรก็ตามโรคฝีดาษลิงสามารถหายเองได้ในเวลา 2-4 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ภาวะแทรกซ้อนของโรคที่พบได้คือ สมองอักเสบ ปอดอักเสบ และติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนบนแผล เป็นเหตุที่ทำให้อัตราเสียชีวิตสูง

     “ความเสี่ยงในประเทศไทยที่จะพบฝีดาษลิงนั้น การเปิดประเทศให้มีการเดินทางเสรีมีความเสี่ยงในทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย และเนื่องจากระยะฟักตัวของโรคนานถึง 21 วัน หลังติดเชื้ออาจจะยังไม่แสดงอาการและเมื่อเดินทางเข้าประเทศใดๆ ก็เป็นไปได้ที่จะพบ ข้อกังวลหนึ่งที่โรคนี้อาจจะสร้างภาระทางสาธารณสุขได้ หากเกิดการระบาดเนื่องจากระยะฟักตัวโรคนานถึง 21 วัน  ถ้าต้องกักตัวก็ต้องกักตัวนาน แต่ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ทุกประเทศ รวมถึงบ้านเรามีการป้องกันสอบสวนโรค โดยเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยง หากเรารู้เท่าทัน มีมาตรการควบคุมดี เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก คัดกรองกลุ่มเสี่ยง ก็จะสามารถควบคุมได้”นพ.สุประกิต กล่าว