"ฝีดาษลิงในไทย" ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย 12 ราย

"ฝีดาษลิงในไทย" ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย 12 ราย

ฝีดาษลิงในไทย ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด 12 ราย 21 วัน หลังใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันชาวต่างชาติบนเครื่องบิน  ถือว่าเสี่ยงต่ำ เผย 7 วันยังไม่มีอาการ ส่วนผู้ป่วยสงสัยในไทย 5 ราย พบไม่ใช่ฝีดาษลิง ขอความร่วมมือคนกลับจากต่างประเทศ หากมีอาการเข้าข่ายและประวัติเสี่ยง รีบพบแพทย์

    เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2565  ที่กระทรวงสาธารณสุข  นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ว่า  

แนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรประเทศไทย (ฝีดาษลิงในไทย) จะแยกผู้ป่วย 3 กลุ่ม คือ 

1.ผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร(ฝีดาษลิง) คือ ผู้ทีมีอาการดังต่อไปนี้

- ไข้หรืออุณหภูมิมากกว่า  38 องศาเซลเซียส  และมีอาการอย่างน้อย 1 อย่างนี้ ได้แก่ 

  • เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • ต่อมน้ำเหลืองโต หรือผื่น ตุ่มนูน ผื่นกระจายตามใบหน้า ลำตัว ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด 

- ประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาภายใน 21 วันที่ผ่านมา ได้แก่ 

  • ประวัติเดินทางมาจาก/อาศัยอยู่ในประเทศที่การรายงานการระบาดโรคฝีดาษวานร ภายในประเทศ(Local transmission)  
  • ประวัติร่วมกิจกรรมในงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศเป็นประจำ
  • ประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นำเข้าจากทวีปแอฟริกา 

2.ผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร(ฝีดาษลิง) คือ ผู้ป่วยสงสัยที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด ดังต่อไปนี้  ได้แก่ 

  • สัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย
  • สัมผัสสิ่งของที่อาจมีเชื้อปนเปื้อนของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้าผู้ป่วย
  • ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ที่อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วย หรือใช้ห้องน้ำหรืออุกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย
  • ผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้อง หรืออยู่ใกล้ ผู้ป่วยภายในระยะ 2 เมตร

3.ผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) คือ ผู้ป่วยสงสัยหรือเข้าข่ายที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน สำหรับแนวทางการจัดการผู้ป่วย หากเป็นผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยเข้าข่าย ตรวจหาเชื้ตามแนวทางที่กำหนด รับการรักษา ตรวจสอบประวัติเสี่ยง สอบสวนโรคและพิจารณาแยกกัก จนกว่าตรวจไม่พบเชื้อ ส่วนผู้ป่วยยืนยัน รับการรักษาและพิจารณาแยกกัก 21 วัน นับจากวันเริ่มป่วย

สถานการณ์ฝีดาษวานรทั่วโลก

ข้อมูล ณ  29  พ.ค.2565  พบผู้ป่วยยืนยัน 406 ราย และผู้ป่วยสงสัย 88 ราย รวม 494 รายใน 32 ประเทศ ส่วนฝีดาษลิงในไทย ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทย แต่มีติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่พบในต่างประเทศ 12 ราย เป็นผู้โดยสารเครื่องบินและลูกเรือ ที่มีประวัติใกล้ชิดบนเครื่องกับผู้ป่วยยืนยันที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งตรวจพบว่าเป็น โรคฝีดาษวานรหลังเดินทางถึงออสเตรเลียแล้วหลายวัน และพบว่ามีประวัติแวะพักบนเครื่องบินที่ประเทศไทย ตอนนั้นยังไม่มีอาการ  แต่ประเทศไทยก็มีการเฝ้าระวังจากกรณีไว้ก่อน ด้วยการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดพบ 12 ราย ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากช่วงที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันนั้น ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ และทั้ง 12 รายไม่ต้องแยกกัก สามารถไปทำงานได้ตามปกติ และให้สังเกตอาการ หากพบมีอาการให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ โดยติดตามมา 7 วันแล้ว ยังไม่มีอาการป่วย และจะติดตามจนครบ 21 วัน

"ฝีดาษลิงในไทย" ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย 12 ราย

นพ.จักรรัฐ  กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ พบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานรที่พบในประเทศไทย จำนวน 5 ราย  ผลตรวจทางห้องแล็ป 2 แห่ง คือ  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก จุฬาลงกรณ์ ยืนยันตรงกันว่าไม่ใช่ฝีดาษวานร และผลตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์และสถาบันบำราศนราดูร พบเป็นเชื้อเริม  โดยประวัติเสี่ยงของผู้ป่วยกลุ่มนี้ 3 รายแรกเป็นชาวไอร์แลนด์เป็นพี่น้องกัน เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อเรียนมวยไทย บินตรงที่จ.ภูเก็ต
       ต่อมาพบอาการป่วยเข้าได้กับนิยามผู้ป่วยสงสัย คือ มีไข้ มีผื่น และมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง เข้ารับการรักษารพ.เอกชนและได้รับการแจ้งผ่านระบบเฝ้าระวังจากรพ. จึงให้มาเข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร  และมีการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม พบผู้ป่วยสงสัยเพิ่มอีก 2 รายที่ยิมเดียวกัน จ.ภูเก็ต รวม 5 ราย แต่ทั้งหมดไม่ใช่ผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร เป็นผู้ป่วยโรคเริม 

        กรณีกลุ่มนี้ปัจจัยเสี่ยง ประวัติสัมผัส เนื่องจากมีการใช้อุปกรณ์ชกมวย กระสอบทราย ร่วมกับผู้มีประวัติเป็นผื่นก่อนหน้าในยิมเดียวกัน ประวัติเพศสัมพันธ์กับหญิงไทยช่วงที่อยู่ในไทย คลุกคลีใกล้ชิดกันตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศไทย แต่ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยฝีดาษวานรที่ไอร์แลนด์หรือร่วมกิจกรรมที่มีรายงานพบผู้ป่วยฝีดาษวานร
      “ฝีดาษลิงในไทย จัดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย เพราะฉะนั้น ผู้สัมผัสใกล้ชิด ที่เป็นผู้เสี่ยงต่ำ ให้ติดตามอาการตนเอง ไปทำงานได้ปกติ ถ้ามีอาการให้แจ้งเจ้าหน้าที่ แต่กรณีที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้แยกกักตัวเองที่บ้าน 21 วัน ส่วนในการรักษาผู้ป่วยยืนยันจะให้การรักษาจนกว่าแผลตกสะเก็ด ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้แล้ว ก็จะให้ออกจากรพ. ซึ่งอาจจะเร็ว ช้ากว่า 21 วันก็ได้”นพ.จักรรัฐกล่าว 

     นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า  สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษวานร หากมีอาการเข้าข่ายให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางและประวัติเสี่ยง โดยเฉพาะการร่วมกิจกรรมในต่างประเทศ  ส่วนผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศขอให้ปฏิบัติมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการร่วมกิจกรรมและล้างมือบ่อยๆ  ทั้งนี้ สถานการณ์โรคขณะนี้ทั่วโลกยังต้องติดตามใกล้ชิดว่าสามารถแพร่คนสู่คนเร็วแค่ไหน และมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์หรือไม่ แต่ที่ตรวจพบสายพันธุ์ที่ระบาดตอนนี้เป็น West African Clade  อัตราป่วยเสียชีวิตราว 1 %