31 พ.ค. "วันงดสูบบุหรี่โลก" สกัดนักสูบหน้าใหม่ ลดเสี่ยง ควันบุหรี่มือสอง

31 พ.ค. "วันงดสูบบุหรี่โลก" สกัดนักสูบหน้าใหม่ ลดเสี่ยง ควันบุหรี่มือสอง

31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น "วันงดสูบบุหรี่โลก" ข้อมูลปี 2564 พบว่า ไทยมีผู้สูบบุหรี่อายุ 15 ปีขึ้นไป 9.9 ล้านคน การสูบบุหรี่ตั้งแต่วัยเด็กนิโคตินจะทำให้เสพติดได้ง่าย หลายหน่วยงานจึงพยายามแก้ปัญหานักสูบหน้าใหม่ บุหรี่ไฟฟ้า และอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง

ผลการสำรวจจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบคนไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็น 17.4% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ผู้ชายสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิงถึง 20 เท่า แม้ผู้สูบบุหรี่จะมีแนวโน้มที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีผู้สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน แต่ยังบรรลุตามเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2565-2570) ที่กำหนดลดคนสูบบุหรี่ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 14% ภายในปี 2570 รวมถึงเป้าหมายการลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Global NCDs Target) ที่กำหนดให้มีผู้สูบบุหรี่ไม่เกิน 15% ภายในปี 2568

 

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 65 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ผ่านสัญลักษณ์ “กระต่ายขาเดียว” ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า ผลเสียจากการเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่วัยเด็กที่สมองยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ สมองจะถูกกระตุ้นด้วยนิโคตินทำให้เด็กเสพติดได้ง่าย และจะกลายเป็นผู้ติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต

 

“การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเด็กวัยเรียน จึงเป็นมาตรการที่ทุกประเทศในโลกให้ความสำคัญ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้รู้เท่าทันพิษภัยอันตรายของการสูบบุหรี่ ป้องกันไม่ให้นักเรียนที่มีอายุน้อยเข้าสู่วงจรของการเป็นนักสูบหน้าใหม่ เห็นคุณค่า ของการดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่นให้พ้นจากควันพิษของบุหรี่”

“กรมอนามัย” ได้ร่วมกับ “ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในโรงเรียนประถมศึกษา รณรงค์ไม่ให้สูบบุหรี่ ผ่านสัญลักษณ์ “NoNo กระต่ายขาเดียว ยืนยัน มั่นใจไม่สูบ” เพื่อกระตุ้นให้เด็กประถมศึกษามีความสนใจ ตระหนักถึงพิษภัยและโทษของการสูบบุหรี่ ส่งเสริมแนวคิดปฏิเสธบุหรี่อย่างไรไม่เสียเพื่อน สนับสนุนให้เด็ก กล้าที่จะปฏิเสธบุหรี่ เมื่อถูกชักชวน

 

เน้นที่เด็กนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวัยรุ่นเพราะเป็นวัย ที่กำลังอยากรู้ อยากทดลอง โดยได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และได้รับการสนับสนุนรางวัลจากทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ให้กับนักเรียนและโรงเรียนที่ชนะการประกวด โดยในปีนี้ มีโรงเรียนทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 1,073 โรงเรียน และมีนักเรียนเข้าร่วม จำนวน 22,574 คน

 

"บุหรี่ไฟฟ้า" ดึงดูดเด็กวัยเรียน

 

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ พบว่า กลุ่มวัยเรียนมัธยมปลายมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุด (46.4%) เมื่อเทียบกับทุกกลุ่มวัย โดยเริ่มสูบเพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีรสและกลิ่นที่หอมและคิดว่าดีกว่าบุหรี่มวน ส่วนใหญ่หาซื้อได้ง่ายจากช่องทางออนไลน์

 

ตัวอย่าง กรณีเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีการอ้างว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น เพราะเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดการสูบบุหรี่ ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของเด็กอายุ 13-14 ปีของนิวซีแลนด์ลดลงเหลือ 1.3% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุด และยังพบว่าช่วยให้อัตราการสูบบุหรี่ของเด็กนักเรียนจากทุกเชื้อชาติลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อัตราการสูบบุหรี่ธรรมดาของเด็กนิวซีแลนด์ลดเหลือ 1.3% จริง แต่เป็นการลดจากที่เคยต่ำอยู่แล้วคือ 2% ในช่วงระหว่างปี 2015-2019 หรือเท่ากับว่าลดลงเพียง 0.7% หากดูตัวเลขการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กนักเรียนนิวซีแลนด์จะพบว่า นักเรียนเหล่านี้ไม่ได้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดหรือเลิกบุหรี่ตามที่เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวอ้าง

 

แต่กลับสะท้อนว่ามีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ไม่เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อนเข้ามาเริ่มจากสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เด็กกลุ่มนี้ติดบุหรี่ไฟฟ้าในที่สุด เพราะบุหรี่ไฟฟ้าโดยทั่วไปจะมีสารนิโคตินในปริมาณที่สูงกว่าบุหรี่ธรรมดา ยิ่งทำให้เพิ่มฤทธิ์การเสพติด นอกจากนี้กลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย และรสชาติที่หลากหลาย ก็เพื่อหวังผลทำการตลาดในกลุ่มเด็กและเยาวชนทั้งสิ้น บุหรี่ไฟฟ้าเป็นบุหรี่แบบใหม่ที่จะเข้ามาแทนบุหรี่ธรรมดา และจะยิ่งเพิ่มจำนวนเด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงยิ่งกว่าที่เคยสูบบุหรี่ธรรมดาหลายเท่าตัว

 

“การที่อ้างว่าเด็กนักเรียนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่นั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากฝากไปถึงสังคมและผู้เกี่ยวข้องให้พิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ที่เครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าส่งให้อย่างรอบคอบ และตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเครือข่ายที่ออกมาสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าเหล่านี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ กับกลุ่มธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่”

 

“สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการคือ การบังคับใช้กฎหมายที่เรามีอยู่แล้วเข้มข้นขึ้น เช่น ดำเนินการปราบปรามการโฆษณาและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างจริงจัง และสื่อสารให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน รวมไปถึงผู้ปกครองรู้ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อกลุ่มที่หวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

 

"ควันบุหรี่มือสอง" ภัยร้ายในบ้าน

 

ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก พบว่า ในแต่ละปีมีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เป็นจำนวน และไม่เพียงแต่คนที่สูบบุหรี่เท่านั้น แต่ควันบุหรี่ที่ประกอบไปด้วยสารพิษมากกว่า 4,000 ชนิด ส่งผลเสียต่อคนในครอบครัว โดยเฉพาะอันตรายจาก “ควันบุหรี่มือสอง” ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ได้รับโดยเฉพาะในเด็ก และหญิงมีครรภ์โดยทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั่วโลกกว่า 1.2 ล้านคนต่อปี และในแต่ละปีมีเด็กกว่า 65,000 ราย ที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะ

 

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” เผยว่า ในประเทศไทยจากการสำรวจข้อมูลขององค์การสหประชาชาติร่วมกับองค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ในปี 2564 ระบุว่า ในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้ที่เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองประมาณ 6,000 ราย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สำรวจประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป พบว่า 23.7% มีการสูบบุหรี่ในตัวบ้าน โดยจำนวนนี้มีการสูบในตัวบ้านทุกวันสูงถึง 67.53%

 

ซึ่งการสูบบุหรี่ในตัวบ้านจะส่งผลในสมาชิกในครัวเรือนได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งมีสารพิษมากกว่า 4,000 ชนิด และเป็นสารก่อมะเร็งประมาณ 50 ชนิด รวมถึงบุหรี่มือสามที่ติดตามเส้นผม เสื้อผ้า ช่องแอร์ หรือเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งสารพิษจากควันบุหรี่สามารถตกค้างอยู่ภายในบ้านนานถึง 6 เดือน ทำให้เกิดการสัมผัสสารพิษซึ่งส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

 

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งสร้าง การตระหนักรู้ของประชาชนถึงความอันตรายของการสูบบุหรี่รวมถึงผลกระทบของควันบุหรี่มือสองและ มือสามซึ่งอาจเป็นการทำร้ายคนในครอบครัวหรือคนรอบตัวโดยไม่ตั้งใจ

 

ควันมือสอง อันตรายต่อเด็ก หญิงตั้งครรภ์

 

ด้าน อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แสดงถึงความห่วงใย เรื่องการสูบบุหรี่ใกล้หญิงตั้งครรภ์และทารก จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตร โดยอาจมีอาการครรภ์เป็นพิษ แท้ง คลอดก่อนกำหนด และเกิดอาการไหลตายในเด็กสูงขึ้น มีความเสี่ยงที่ทารกแรกคลอดจะมีน้ำหนักตัวและความยาวน้อยกว่าปกติ พัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ และอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท ในเด็กเล็ก อาจก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวมสูงกว่าเด็กทั่วไป มีอัตราการเกิดโรคหืดเพิ่มขึ้น เกิดการติดเชื้อของหูส่วนกลางในระยะยาว

 

เด็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสองจะมีพัฒนาการของปอดน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ วิธีการป้องกัน หลีกเลี่ยงพาเด็กไปในสถานที่ที่มีโอกาสเจอควันบุหรี่ เมื่อจำเป็นต้องออกไปข้างนอก พ่อแม่และผู้ปกครองควรเตรียมหน้ากากอนามัย หรือผ้าปิดจมูกไปด้วยทุกครั้ง พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กโดยไม่สูบบุหรี่

 

จากข้อมูลพบว่าเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ หากสมาชิกในบ้านสูบบุหรี่ ดังนั้น จึงขอเชิญชวนพ่อแม่และผู้ปกครองทุกท่านร่วมกันทำ “บ้านปลอดบุหรี่” เพื่อปกป้องสุขภาพให้แก่ลูกหลาน

 

 

3 สมุนไพร ลดความอยากบุหรี่

 

นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองหรือ อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่เพียงแต่ผู้สูบเท่านั่น ควันบุหรี่มือสองยังทำร้ายผู้ใกล้ชิดที่สูดดมควันอีกด้วย อีกทั้งก้นบุหรี่ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน

 

ทั้งนี้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะนำ 3 สมุนไพรลดความอยากบุหรี่ ได้แก่ 

 

1.กานพลู มีรสเผ็ดร้อน ใช้ดอกกานพลู 2 - 3 ดอก อมไว้ในปากประมาณ 5 – 10 นาที สารสำคัญในดอกกานพลูจะทำให้เกิดอาการชาในปากเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้อาการอยากสูบบุหรี่ลดลง อีกทั้ง น้ำมันหอมระเหยจากดอกกานพลูยังช่วยทางเดินหายใจหอมสดชื่นและช่วยลดกลิ่นปากได้อีกด้วย

 

2.หญ้าดอกขาว (หญ้าหมอน้อย หญ้าละออง หรือถั่งแฮะดิน) มีสารสำคัญที่ทำให้ลิ้นชาหรือลิ้นฝาด ช่วยให้ความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลง ปัจจุบันหญ้าดอกขาวถูกบรรจุเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ รูปแบบชาชง วิธีใช้ นำหญ้าดอกขาวแห้งปริมาณ 2 กรัม ต่อ น้ำร้อน 120 - 200 มิลลิลิตร แช่ไว้ 5 - 10 นาที ดื่มหลังอาหาร วันละ 3 - 4 ครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคไต เพราะหญ้าดอกขาวมีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูง อาจส่งผลให้โรคประจำตัว กำเริบได้ และอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยคือ อาการปากแห้ง คอแห้ง

 

3.มะนาว เป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่มีวิตามินซีสูง และมีผลต่อการทำงานของต่อมรับรสขม ทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป วิธีใช้ง่ายๆ เพียงหั่นมะนาว ทั้งเปลือก เป็นชิ้น ๆ พอคำ รับประทานทุกครั้งเมื่อมีความอยากบุหรี่

 

อีกทั้ง ทางการแพทย์แผนจีนก็มีวิธีการฝังเข็มเพื่อลดความอยากบุหรี่ จากการศึกษาวิจัยพบว่า การฝังเข็มช่วยทำให้ผู้ติดบุหรี่มีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลงหรือถึงขั้นเลิกสูบได้ เนื่องจากการฝังเข็มมีผลทำให้เพิ่มการหลั่งสาร serotonin ในสมองส่วน hypothalamus ซึ่งเป็น สารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกอยากหรือเบื่ออาหาร การย่อยอาหาร และควบคุมการนอนหลับให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ