ในหลวง-พระราชินี พระราชทานปริญญาบัตร บัณฑิตธรรมศาสตร์

ในหลวง-พระราชินี พระราชทานปริญญาบัตร บัณฑิตธรรมศาสตร์

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2562-2563

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2562-2563  ในวันที่ 27-30 พฤษภาคม 2565  ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติ     มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา 2562  ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี   กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

นอกจากนี้ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ นางสุกัญญา ชลศึกษ์ ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย และProfessor Scott D.Nelson, MD ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวคลินิก

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 13/2564 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติมอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา 2563 จำนวน 1 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.มิทสึรุ อิเคดะ (Prof.Dr.Mitsuru lkeda (Mr.) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี

สำหรับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2562-2563 ซึ่งในปีการศึกษา 2562 มีจำนวนบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา จำนวน 9,523 คน และในปีการศึกษา 2563 มีจำนวนบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา จำนวน 9,049 คน แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี จำนวน 15,136 คน

 

 

  • ปฎิทินรับปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระดับบัณฑิตศึกษา  จำนวน 3,436 คน (ประกาศนียบัตรบัณฑิต จำนวน 68 คน ปริญญาโท จำนวน 3,121 คน และปริญญาเอก จำนวน 247 คน) รวมทั้งสิ้น 18,572 คน โดยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม ดังนี้

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2565 (บัณฑิตระดับปริญญาตรี) จำนวน 10 คณะ รวม 5,027 คน   

กลุ่ม 1 บัณฑิตระดับปริญญาตรี จำนวน 6 คณะ รวม 2,533 คน ได้แก่ คณะศิลปศาสตร์ 1,750 คน  วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ 30 คน วิทยาลัยนวัตกรรม 334 คน วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ 176 คน วิทยาลัยโลกคดีศึกษา 50 คน คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ 193 คน

กลุ่มที่ 2 บัณฑิตระดับปริญญาตรี จำนวน 4 คณะ รวม 2,494 คน ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร    938 คน   วิทยาลัยสหวิทยาการ 418 คน  คณะเศรษฐศาสตร์ 718 คน   คณะแพทยศาสตร์ 420 คน วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565 (บัณฑิตระดับปริญญาตรี) จำนวน 8 คณะ รวม 5,044 คน 

กลุ่ม 3 บัณฑิตระดับปริญญาตรี จำนวน 4 คณะ รวม 2,533 คน ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ 1,432 คน  คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน 560 คน คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 378 คน   คณะศิลปกรรมศาสตร์ 163 คน

กลุ่มที่ 4 บัณฑิตระดับปริญญาตรี จำนวน 4 คณะ รวม 2,511 คน ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1,434 คน   คณะเภสัชศาสตร์ 58 คน  คณะทันตแพทยศาสตร์ 222 คน   คณะสหเวชศาสตร์ 797 คน วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม 2565 (บัณฑิตระดับปริญญาตรี) จำนวน 8 คณะ รวม 5,065 คน 

กลุ่มที่ 5 บัณฑิตระดับปริญญาตรี จำนวน 4 คณะ รวม 2,526 คน ได้แก่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี   1,208 คน   คณะพยาบาลศาสตร์ 186 คน คณะสาธารณสุขศาสตร์ 407 คน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง 725 คน

 

  • ธรรมศาสตร์ ขยายโอกาสความเท่าเทียมการศึกษา

กลุ่มที่ 6 บัณฑิตระดับปริญญาตรี จำนวน 4 คณะ รวม 2,539 คน ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ 1,060 คน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ 172 คน   คณะรัฐศาสตร์ 650 คน   คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ 657 คน

บัณฑิตพิการที่สำเร็จการศึกษาในโครงการนักศึกษาพิการ ประจำปีการศึกษา 2562 จำนวน 18 คน และบัณฑิตพิการที่สำเร็จการศึกษาในโครงการนักศึกษาพิการ ประจำปีการศึกษา 2563 จำนวน 11 คน  รวมทั้งสิ้น 29 คน

ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และประกาศนียบัตรบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2562 - 2563 รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,436 คน จะเข้าพระราชทานปริญญาบัตรจากพานเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนหยัดเรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อคนทุกกลุ่มในสังคม มุ่งสร้างความเสมอภาค ลดช่องว่างทางการศึกษา ตามปณิธานในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน โดยเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกที่ก่อตั้ง ‘โครงการนักศึกษาพิการ’ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และผลิตบัณฑิตที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน เรามารู้จักเรื่องราวของบัณฑิตพิการที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้ คือ น.ส.ณิชชารีย์  เป็นเอกชนะศักดิ์ บัณฑิตปีการศึกษา 2562  และ นายพศวัต เขียวเหมือน บัณฑิตปีการศึกษา 2563      
น.ส.ณิชชารีย์  บัณฑิตคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เกียรตินิยมอันดับ 2  ซึ่งเป็นบัณฑิตที่มีความโดดเด่นทั้งทางด้านการเรียน และการทำงาน โดยปัจจุบันทำงานเป็นนักสื่อสารองค์กร ให้กับองค์กร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ทำงานขับเคลื่อนนโยบายของคนพิการ โดย น.ส.ณิชชารีย์ เป็นผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว เนื่องจากประสบอุบัติเหตุ 

น.ส.ณิชชารีย์  ได้เล่าถึงการเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า การเรียนที่ธรรมศาสตร์ช่วยซัพพอร์ตเราหลาย ๆ ด้าน ที่จริงเป็นความตั้งใจตั้งแต่ต้นในการเข้ามาเรียนที่ธรรมศาสตร์ เพราะรู้สึกว่าธรรมศาสตร์ค่อนข้างเสรี เปิดกว้างในความคิด ไม่ใช่แค่ทางการเมือง

แต่เป็นความคิดในสิ่งที่เราอยากจะทำ ธรรมศาสตร์ช่วยทำให้เราเห็นมุมมองที่มากขึ้น อย่างที่ธรรมศาสตร์ก็มีอาจารย์ที่ผลักดันเรื่องคนพิการ จากตอนนั้นปี 1 เรียนที่ธรรมศาสตร์ เห็นพื้นที่ที่วีลแชร์ไปไม่ได้ แต่ทุกวันนี้มีการแก้ไขและใช้ได้จริง โดยที่สำคัญคือเป็นมหาวิทยาลัยตัวอย่างทางด้าน  Universal design ซึ่งธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่ผลักดันเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ และการช่วยเรื่องสังคม

“ไม่เคยเห็นมหาวิทยาลัยไหนที่คนพิการสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากจะเป็น ไม่ว่ามีความฝันอยากเป็นอะไร เรียนที่ธรรมศาสตร์ทำให้เห็นว่าความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรค คือคุณอยากจะทำกิจกรรมอะไร ธรรมศาสตร์ก็พร้อมที่จะสนับสนุน เรารู้สึกดีทุกครั้งที่ไปทำกิจกรรมข้างนอกแล้วมีติดชื่อมหาวิทยาลัย เราภูมิใจ ที่เราเป็นคนพิการคนหนึ่งที่ได้เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”  

 

ด้าน นายพศวัต เขียวเหมือน หรือ น้องเต้ย บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันทำงานฟรีแลนซ์และที่ปรึกษาในการทำโครงการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ        ภาคการเมือง และภาคประชาสังคมในประเด็นด้านสวัสดิการสังคมและอื่น ๆ โดย นายพศวัต เป็นผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว สวมใส่ขาเทียมเหนือเข่าบริเวณขาด้านขวา เนื่องจากช่วงอายุ 17 ปี มีอาการป่วยทำให้เราต้องได้รับการรักษาผ่าตัดครั้งใหญ่ หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตในฐานะคนพิการมาจนถึงปัจจุบัน 

นายพศวัต กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเรียนว่า คือ “ความสนุกในการเรียน”  สนุกที่จะเรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ และได้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นผ่านมุมมองความเข้าใจของตัวเอง ชอบความรู้สึกที่เวลาเพื่อนหรือคนอื่นฟังสิ่งที่ผมเล่าแล้วมีอารมณ์คล้อยตาม รวมถึงเข้าใจในสิ่งที่ผมต้องการสื่อสาร ผมก็เลยมักที่จะอ่านหนังสือ หรือเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ เพื่อนำมาบอกเล่ากับเพื่อน ๆ

ดังนั้นเป้าหมายการเรียนของผมก็เลยไม่ได้อยู่ที่ผลคะแนนเกียรตินิยมตั้งแต่แรก แต่เป็นความสนุกที่ได้จากการเรียนรู้เพื่อที่จะนำไปใช้ส่งต่อและแก้ไขปัญหา ทั้งของตัวเราเองและของคนรอบข้าง เรียกได้ว่าชีวิตนักศึกษาในตลาดวิชาแห่งนี้ของผมขับเคลื่อนด้วยความอยากรู้ ซึ่งมันก็ทำให้เรามีความสุขกับการเรียน

แล้วก็สามารถที่จะนำความรู้อื่น ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้กับคณะที่กำลังเรียนอยู่ด้วยในขณะนั้น ขอแค่ให้เราสนุกและมีความสุขกับการเรียนรู้ อันนี้ถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการเรียนของผมเลยก็ว่าได้    

นายพศวัต เล่าว่าคติประจำใจของตน คือการ “เคารพตนเอง” เคารพการตัดสินใจ เคารพในสิ่งที่ทำและเคารพในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจด้วยการเรียนที่ธรรมศาสตร์ผ่านทั้งเรื่องของการเรียนการทำกิจกรรม  และการทำงานร่วมกับองค์กรภายนอกที่หลากหลาย ซึ่งทำให้เราเข้าถึงและเข้าใจสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้น และตกผลึกได้ว่าการอยู่ร่วมกับความหลากหลายสิ่งที่สำคัญคือการเคารพซึ่งกันและกัน สำคัญที่สุด คือการเคารพตนเอง

ในที่นี้หมายถึงการยอมรับและเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเราเอง เชื่อมั่นว่าจะนำศักยภาพนั้นมาใช้ในการอยู่ร่วมกับทุกคนได้ เชื่อมั่นว่าเราจะสามารถใช้ศักยภาพนั้นได้อย่างเต็มที่กับทุกเรื่องที่เราทำและรับผิดชอบ

รวมถึงยอมรับในผลที่จะเกิดขึ้นทุกรูปแบบซึ่งมันทำให้ตัวเราเกิดการใช้ชีวิตอย่างเข้าใจและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาภายใต้สัจธรรมความเป็นอนิจจังของสังคม โดยการตกผลึกผ่านการใช้ชีวิตในรั้วธรรมศาสตร์และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเองมีสิ่งที่ใช้ยึดเหนียวทั้งในเรื่องของการเรียน และการทำงานในปัจจุบัน

นายพศวัต ทิ้งท้ายถึงรุ่นน้องว่า แรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดคือตัวของเราเอง สิ่งที่ทำให้เราเรียนได้ดีก็คือเรามีความสุขกับการเรียน สิ่งที่ทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างอิสระก็คือ การสร้างความสุขให้กับช่วงชีวิตในขณะนั้น

ดังนั้น แรงบันดาลใจจึงเป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องค้นหาจากตัวเองเป็นลำดับแรก ผ่านการยอมรับและเคารพในตัวเอง เมื่อเราเข้าใจว่าตนเองมีศักยภาพพร้อมที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายของเราได้แล้ว

เมื่อนั้นเราก็จะค้นพบว่าไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรคในชีวิตของเราและเราก็จะค้นพบความสุขรวมถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการใช้ชีวิต หวังว่าน้อง ๆ ทุกคนจะสามารถค้นพบแรงบันดาลใจของตนเอง