ธรรมศาสตร์เร่ง “อีอีซีเอ็มดี” อัดสิทธิประโยชน์ดึงลงทุน

ธรรมศาสตร์เร่ง “อีอีซีเอ็มดี” อัดสิทธิประโยชน์ดึงลงทุน

ธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา วางแนวทางการพัฒนาสำหรับอนาคต มากกว่า “แคมปัสการศึกษา” เตรียมพัฒนาเป็น Medical Valley ต้นแบบของไทย จะบูรณาการสร้างระบบการแพทย์ครบวงจร ทั้งการผลิตบุคลากร การศึกษาวิจัย การรักษาและการส่งเสริมสุขภาพใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังก้าวสู่ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญภายใต้วิสัยทัศน์ “Better Future Beyond Boundaries” ที่ตอบโจทย์โลกอนาคตมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและระบบสุขภาพ ข้ามพรมแดนด้านการศึกษา ทลายปัญหาความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่ภารกิจใหม่ คือ สร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เป็น “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษสำหรับกิจการการแพทย์ครบวงจร (EECmd) ธรรมศาสตร์พัทยา”

ในปี 2565 นับเป็นจุดเริ่มต้นในแนวคิด “เมืองนวัตกรรมแห่งสุขภาพและเวลเนส” ที่สมบูรณ์และบูรณาการความเป็นเลิศด้านการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พื้นที่ 584 ไร่ ณ ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุงจังหวัดชลบุรี ซึ่งออกแบบเป็น 4 โซน คือ ด้านการศึกษา ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ ด้านบริการและด้านที่พักอาศัย

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะขับเคลื่อน EECmd บนพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ให้เป็นต้นแบบศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร และกำหนดเป้าหมายการเป็น สมาร์ทซิตี้ และ สมาร์ทแคมปัส โดยได้งบก่อสร้าง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา เพื่อพัฒนาเป็นโรงพยาบาลดิจิทัลที่มีเครือข่ายศูนย์การแพทย์เฉพาะทางและให้บริการชุมชนรอบ EEC 

รวมทั้งเชื่อมอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งการพัฒนา EECmd จะยกระดับศักยภาพและความรู้คนไทยสู่มาตรฐานระดับโลก

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษาและภาคธุรกิจที่มีเป้าหมายให้ไทยเป็น Medical Hub โดยวันที่ 5 เม.ย.2565 มีงาน THAMMASAT EECmd Vision “Now and Next” แสดงศักยภาพของนวัตกรรมทางการแพทย์และวิศวกรรมด้าน Health Tech ของ EECmd พิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) กับภาคี 25 หน่วยงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “4F” ได้แก่ 

F1 Future Workforce สร้างพลังการทำงานแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มพัฒนาการศึกษาและการวิจัย 

F2 Future Workplace พัฒนาที่ทำงานแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มความร่วมมือด้าน Digital Health 

F3 Future Life and Society สร้างคุณภาพชีวิตและสังคมแห่งอนาคต ด้านความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานUtility 

F4 Future Collaboration พัฒนารูปแบบความร่วมมือแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มความร่วมมือด้านนวัตกรรมการศึกษา การพัฒนาที่ดิน ศูนย์ความเป็นเลิศ และสตาร์ทอัพ

รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศูนย์พัทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จะเห็นสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยการแพทย์ชั้นสูง โรงพยาบาลดิจิทัล ศูนย์ดูแลสุขภาพ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และศูนย์กีฬาขนาดใหญ่ พร้อมเชื่อมการลงทุนกลุ่ม Health Tech ระดับโลก ภายใต้แนวคิด Better Future Beyond Boundaries มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

"ขณะนี้นักลงทุนในและต่างประเทศติดต่อมาลงทุนใน EECmd จำนวนมาก เป็นการก้าวสู่มิติใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในทศวรรษหน้า”

สำหรับความน่าสนใจของ EECmd มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา คือ นักลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี11-13 ปี อาทิ การเว้นและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นภาษีอากรขาเข้า การหักลดหย่อนพิเศษ รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่ภาษี และมีสิทธินำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาพักอาศัยพร้อมครอบครัว และสิทธิซื้อคอนโดมิเนียมในสัดส่วนที่เกินกว่า 50%

การดำเนินงาน EECmd จะไม่นำเงินเป็นตัวตั้งแต่มองประโยชน์เชิงสังคม แก้ความเหลื่อมล้ำของประเทศเป็นหลักและโฟกัสที่ประชาชนภาคตะวันออก ซึ่งเป็น Digital Hospital และอนาคตการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ 5 ด้านได้แก่ 

1.พัฒนาโรงพยาบาลที่ทันสมัยเพื่อให้บริการชุมชนในท้องถิ่น 2.วางแผนผลิตบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขพยาบาล และการดูแลผู้สูงวัย 3.ศึกษาวิจัยและสร้างความก้าวหน้าทางการแพทย์ 

4.ตั้งศูนย์สุขภาพสำหรับพัฒนาและรองรับการเติบโตด้านการดูแลกลุ่มผู้สูงวัยในพื้นที่และชาวต่างชาติ 5.เป็นฐานความร่วมมือกับต่างประเทศและเอกชนเสริมความแข็งแกร่งด้านการแพทย์ครบวงจร

“ประชาชนจะได้ความสะดวกเพราะใช้ระบบดิจิทัลเริ่มตั้งแต่การทำเวชระเบียนจากที่บ้าน จองคิวผ่านสมาร์ทโฟน มีหุ่นยนต์นำทางให้คนพิการหรือพาผู้ป่วยไปสถานที่ตรวจ การรับยาที่บ้าน การปรึกษาโรคด้วยระบบเทคโนโลยีทางไกลและมีทีมดูแลสุขภาพชุมชนคู่ขนาน”

ขณะนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หาความเชี่ยวชาญจากต่างชาติเพื่อยกระดับเป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศ” ด้านโรคตาทางเดินอาหาร รวมถึงกระดูกและข้อ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์แล้วยังดึงต่างชาติมาใช้บริการ ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจใน EEC ตอบโจทย์ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ธรรมศาสตร์เร่ง “อีอีซีเอ็มดี” อัดสิทธิประโยชน์ดึงลงทุน

“EECmd ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศสูงมาก ทุกฝ่ายมองเห็นศักยภาพ องค์ความรู้ และโอกาสธุรกิจที่จะนำไปสู่ Medical Hub และสร้าง Medical Valley ในไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมสนับสนุนพร้อมด้วยพันธมิตร”