ส่องกฎหมาย “แท็กซี่” ปฏิเสธผู้โดยสาร มีโทษอย่างไร ?​

ส่องกฎหมาย “แท็กซี่” ปฏิเสธผู้โดยสาร มีโทษอย่างไร ?​

จากชาวเน็ตเข้าใจผิดว่า “ชัชชาติ” ถูกแท็กซี่เท ชวนเช็กกฎหมายเกี่ยวกับการให้บริการ “แท็กซี่” ต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสารอย่างไร และกรณี “ปฏิเสธผู้โดยสาร” มีโทษอย่างไรบ้าง ?

หลังจาก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” โกยคะแนน “เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” กว่า 1.3 ล้านคะแนน เป็นว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 ทุกการเคลื่อนไหวของ “ชัชชาติ” ก็ยิ่งตกอยู่ในความสนใจเป็นพิเศษ

ล่าสุดชาวเน็ตกลับมาพูดถึงชัชชาติอีกครั้งในกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์คลิประบุว่าเจอชัชชาติและทีมงานกำลังเรียกแท็กซี่ ซึ่งหลังจากเมื่อแท็กซี่จอดและพูดคุยก็ถูกปฏิเสธ ซึ่งเมื่อคลิปนี้เผยแพร่ออกไปต่างมีชาวเน็ตมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้จำนวนมาก และมีหลากหลายมุมมอง ทั้งแซวถึงความแข็งแกร่งของชัชชาติ ที่มักพบได้บ่อยในโซเชียลมีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ผู้ว่า กทม.คนใหม่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถูกแท็กซี่เท โซเชียลแห่แซว (คลิป)

แม้ล่าสุด “ชัชชาติ” ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า แท็กซี่คันดังกล่าวไม่ได้ปฏิเสธผู้โดยสาร แต่กำลังรอผู้โดยสารที่เรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น 

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวสะท้อนว่าปัญหาพฤติกรรมของผู้ขับ “แท็กซี่” ในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจและแน่นอนว่าในกรณีที่ผู้ให้บริการรถสาธารณะ อย่างแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารจริงนั้น ควรจะได้รับโทษหรือไม่อย่างไร ?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงชวนผู้ใช้บริการแท็กซี่ไปทบทวนดูว่า ความจริงแล้วกฎหมายแท็กซี่เป็นอย่างไร มีอะไรที่ผู้ขับแท็กซี่สามารถปฏิบัติต่อผู้โดยสารได้และไม่ได้ โดยข้อปฏิบัติของผู้ขับขี่รถแท็กซี่มีดังนี้

  •  ข้อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 

1) ในขณะอยู่ในระหว่างการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ผู้ขับขี่รถแท็กซี่จะปฏิเสธ ไม่รับจ้างคนโดยสารมิได้ เว้นแต่การบรรทุกนั้นน่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนหรือแก่คนโดยสาร (มาตรา 57 จัตวา) กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

2) ต้องพาคนโดยสารไปยังสถานที่ที่ว่าจ้างตามเส้นทางที่สั้นหรือถึงที่หมายเร็วที่สุด หรือเส้นทางที่ไม่อ้อมเกินควร และต้องส่งคนโดยสาร ณ สถานที่ตามที่ตกลงกันไว้ โดยห้ามมิให้ พาคนโดยสารไปทอดทิ้งระหว่างทางไม่ว่าด้วยประการใด ๆ (มาตรา 57 เบญจ) กรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

3) ในขณะขับรถต้อง (มาตรา 57 ฉ)

- ไม่สูบบุหรี่ หรือกระทําด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่ก่อความรําคาญให้แก่ คนโดยสาร กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

- ไม่กล่าววาจาไม่สุภาพ เสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว หรือแสดงกิริยาในลักษณะ ดังกล่าวต่อคนโดยสาร กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

- ไม่เสพหรือเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

- ไม่เสพยาเสพติดให้โทษ กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษสูงกว่าที่กําหนดไว้ใน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีก 1 ใน 3

- ไม่เสพติดวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษสูงกว่า ที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอีก 1 ใน 3

- ไม่ขับรถในขณะที่หย่อนความสามารถในอันที่จะขับ กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึงหนึ่ง 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

- ต้องปฏิบัติตามข้อกําหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร

  •  ข้อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 

1) ห้ามปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร เว้นแต่การบรรทุกนั้นน่าจะก่อให้เกิด อันตรายแก่ตนหรือคนโดยสาร กรณีที่ประสงค์จะไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสารให้แสดงป้ายงดรับจ้าง บรรทุกคนโดยสาร (มาตรา 93) กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

2) ห้ามรับบรรทุกคนโดยสารเกินจํานวนที่กําหนดไว้ในใบอนุญาต (มาตรา 94) กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

3) ห้ามเรียกให้คนขึ้นรถแท็กซี่โดยส่งเสียงอื้ออึงหรือในลักษณะที่ก่อความรําคาญ แก่คนโดยสารหรือผู้อื่น รวมทั้งห้ามต้อน ดึง เหนี่ยว หรือยึดยื้อคนหรือสิ่งของเพื่อให้ขึ้นรถแท็กซี่ (มาตรา 95) กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

4) ห้ามเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่ปรากฏจากมาตรแท็กซี่ (มาตรา 96) กรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

5) ในขณะขับรถ (มาตรา 99)

- ห้ามสูบบุหรี่เปิดวิทยุหรือกระทําด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่ก่อความรําคาญ ให้แก่คนโดยสาร

- ห้ามยื่นมือ แขน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกรถ เว้นแต่ เป็นการกระทําเพื่อให้สัญญาณ

- ห้ามจับคันบังคับรถด้วยมือเพียงด้านเดียว เว้นแต่มีเหตุจําเป็น

- ห้ามใช้เสียงสัญญาณเมื่อเข้าในบริเวณโรงพยาบาล สถานที่ทํางาน หรือ สถานศึกษา

- ห้ามใช้เสียงสัญญาณแตรเพื่อเร่งรถคันอื่น หรือแซงหรือตัดหน้ารถอื่น ในลักษณะฉวัดเฉวียนเป็นที่น่าหวาดเกรงว่าจะเกิดอันตราย

- ห้ามรับคนโดยสารภายในบริเวณที่เจ้าพนักงานจราจรได้กําหนดเครื่องหมาย จราจรห้ามรับคนโดยสาร และห้ามขับรถเข้าในบริเวณบ้านของผู้อื่น

- ห้ามกล่าววาจาไม่สุภาพ เสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว หรือแสดงกริยาดังกล่าว ต่อคนโดยสารหรือผู้อื่น กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

-----------------------------------------------------

อ้างอิง: วุฒิสภา, กรมการขนส่งทางบก