ส่งทีมสุขภาพจิตดูแลเยียวยาจิตใจนักเรียน-ครูโรงเรียนสตรีพัทลุง

ส่งทีมสุขภาพจิตดูแลเยียวยาจิตใจนักเรียน-ครูโรงเรียนสตรีพัทลุง

กรมสุขภาพจิตห่วงเพื่อนนักเรียน-ครูโรงเรียนสตรีพัทลุง มอบรพ.จิตเวชสงขลาฯ-ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ประสานรพ.พัทลุงติดต่อร.ร. ส่งทีมสุขภาพจิตเข้าดูแลจิตใจ แนะคนใกล้ชิดต้องอยู่ใกล้ชิด พร้อมรับฟังความรู้สึก ห่วงโซเชียลมีเดียเติมความคิดชักนำเด็กไปทิศทางลบมากขึ้น

     พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต  ให้สัมภาษณ์กรณีการสูญเสียนักเรียนหญิงร.ร.สตรีพัทลุงว่า  เป็นการสูญเสียที่น่าเสียใจและน่าเป็นห่วงความรู้สึกของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในกลุ่มเพื่อนสนิทของเด็กถ้าจากข้อมูลของเนื้อข่าวดูเหมือนว่ามีความใกล้ชิดและได้พยายามช่วยเหลือดูแลกันระยะหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ ความทุกข์ ความรู้สึกผิด ความรู้สึกโกรธและยอมรับสถานการณ์ไม่ได้ จะมีโอกาสเกิดขึ้นในจิตใจของกลุ่มเพื่อนๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของการสูญเสีย  ในการดูแลเด็กๆกลุ่มนี้ที่สำคัญมาก คือ การได้มีผู้ที่คอยรับฟังความรู้สึกติดค้างในใจและความทุกข์อื่นๆที่เกิดขึ้น ซึ่งสมาชิกครอบครัว ผู้ใกล้ชิดหรือกลุ่มเพื่อนๆจะมีบทบาทืสำคัญในการช่วยดูแลความรู้สึกได้มากที่สุด

        “เหตุนี้เป็นสิ่งสะเทือนใจสูงมาก ไม่ใช่การสูญเสียปกติที่เป็นไปตามธรรมชาติ จึงเป็นไปได้ที่หลายๆคนอาจจะต้องการความช่วยเหลือ ดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์หรือทีมสุขภาพจิตเข้าไปช่วยดูแลปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา เช่น ความรู้สึกผิด ความรู้สึกโกรธที่มากๆ หรืออารมณ์ด้านลบอื่นใดที่เกิดขึ้นมาก รวมถึง ปัญหาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับ การคิดวนเวียน การเกิดภาพติดตาที่มีเหตุการณ์บางเรื่องที่ชวนให้สะเทือนใจ  ซึ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพร้อมลงไปช่วยเหลือ โดยได้มอบหมายให้ทีมสุขภาพจิต  ของรพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตทื่ 12 ประสานรพ.พัทลุง  ติดต่อถึงโรงเรียน เพื่อที่จะพยายามเข้าไปดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด”พญ.อัมพรกล่าว

    อีกหนึ่งกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มคุณครู เนื่องจากด้วยสถานการณ์มีการพาดพิงถึงอย่างมาก ดูเหมือนว่าเกี่ยวข้องอยู่ในบริบทพอสมควร เป็นสภาพจิตใจที่น่าจะเกิดทั้งความเครียด ความวิตกกังวล ความรู้สึกด้านลบอื่นๆรวมถึงความสับสน ถ้าหากโรงเรียนมีความต้องการให้ทีมสุขภาพจิต เข้าไปช่วยดูแลก็มีความพร้อมและพยายามติดต่อโรงเรียนอยู่ด้วย
         “เรื่องความเข้าใจระหว่างกันของครูและนักเรียน ในการที่จะทำให้การสูญเสียครั้งนี้ เป็นบาดแผลทางใจที่น้อยที่สุดของทุกฝ่าย และเกิดความเข้าใจเพื่อที่จะนำไปสู่การช่วยกันดูแลเด็กๆให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นห่วงเรื่องนี้อย่างมาก”พญ.อัมพรกล่าว 

    ในการดูแลกลุ่มเพื่อนๆที่ใกล้ชิดมากๆ พญ.อัมพร แนะนำว่า ที่สำคัญต้องอยู่ใกล้ชิด เพื่อรับฟังความรู้สึก  และเป็นการรับฟังที่พยายามทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด พยายามระมัดระวังการที่เด็กจะได้รับข้อมูลเชิงลบจากสื่อต่างๆ และปัจจุบันสิ่งที่เป็นห่วงมาก คือ สังคมโซเชียลมีเดียที่อาจจะไปเติมความคิด ที่บางครั้งชักนำเด็กไปในทิศทางลบได้มากยิ่งขึ้น เจ็บปวดมากขึ้น วิธีการสังเกต จะต้องดูอารมณ์ด้านลบที่ถ่ายทอดออกมา การบ่นถึงความทุกข์ความเศร้าอยู่ในระดับที่รบกวนชีวิตประจำวันหรือไม่ กินอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับหรือไม่ ซึ่งในช่วงสัปดาห์แรกสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ อาจจะมีการร้องไห้ คิดวนเวียน เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัว แต่ถ้ารบกวนการใช้ชีวิตเกินไปอาจจะต้องอาศัยยา หรือใช้กระบวนทางจิตวิทยา การบำบัดทางจิตใจ เข้าไปช่วยเหลือ
     “สัญญาณที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง คือ พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  เช่น ความโกรธมากๆ ถึงขั้นคิดร้ายต่อตนเองหรือผู้อื่น แสดงออกถึงความก้าวร้าวหรือเสียใจมากๆ ต้องให้ความใส่ใจ และเรื่องของการที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้เลย  ตกอยู่แต่ในความคิดเรื่องนี้เท่านั้น ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแล”พญ.อัมพรกล่าว