4 ปี ไทยพบวัยรุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มสูงกว่าวัยทำงานถึง 4 เท่า

4 ปี ไทยพบวัยรุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มสูงกว่าวัยทำงานถึง 4 เท่า

4 ปี ไทยพบวัยรุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มสูงกว่าวัยทำงานถึง 4 เท่า ขณะที่บอดร์ดสุขภาพจิตแห่งชาติ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต ลดอัตราการฆ่าตัวตาย

  ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2565 มีการติดตามสถานการณ์สุขภาพจิต ของวัยรุ่น โดยข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต พ.ศ. 2560-2564  พบว่า อัตราจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จและทำร้ายร่างกายตนเองในวัยเรียน และวัยทำงานตอนต้นหรือช่วงอายุ15-34ปี เพิ่มมากขึ้นกว่าวัยทำงานที่อายุเกิน 34 ปีขึ้นไป ถึง 4 เท่า  โดยอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ในกลุ่มวัยเรียนอายุ 15-24 ปี ในปี 2563 มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 428 คน และปี 2564 เสียชีวิต 439 คน 
      ส่วน ในกลุ่มวัยทำงานตอนต้น อายุ 25-34 ปี  พบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ในปี 2564 จำนวน 956 คน มากกว่า ปี 2563 จำนวน 896 คน  ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหา ให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลคู่เครือข่ายพื้นที่ กับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อร่วมดูแลเด็กวัยเรียนในสถานศึกษา  ช่วยเหลือส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสภาพจิตใจ ส่งมายังสถานพยาบาล

     นอกจากนี้ ยังพบว่า ในปี 2564 คนไทยมีอัตราความเครียดสูง นำไปสู่การฆ่าตัวตาย สำเร็จอยู่ที่ 7.8 คนต่อแสนประชากร หรือกว่า 5,000 คน  ขณะเดียวกันประสานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพิ่มขยายสิทธิประโยชน์ในการรักษาโรคจิตเภทให้ครอบคลุมมากขึ้น  เพิ่มค่าเหมาจ่ายมากขึ้น และช่วยประสานให้การรักษาดูแลผู้ป่วยครอบคลุม ทั้ง 3 สิทธิการรักษา  โดยข้อมูลของ สปสช. ปี 2564 ค่าใช้จ่าย ในกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเภทอยู่ที่ 6,000 บาทต่อราย จำนวนผู้ป่วย 12,000 รายต่อปี รวม  72,000 คน  พบผู้ป่วยอาการกำเริบซ้ำลดลง จาก 26%  เหลือ 12 %  และลดค่าใช้จ่ายในการนอนรพ. 16,700 บาทต่อราย 

      นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากมติที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการดูแลสุขภาพจิตประชาชนภายใต้สถานการณ์ COVID-19 จึงจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานในระดับจังหวัดเพื่อให้มีประสิทธิภาพเต็มที่  ขณะนี้พบว่า มีจังหวัดที่ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยจำนวน 32 จังหวัด  และนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่จุดที่น่าเป็นห่วงคือ จังหวัดที่ยังไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งมีจำนวนถึง 22 จังหวัด โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นจังหวัดกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาการฆ่าตัวตายถึง 12 จังหวัดอีกด้วย กลไกของคณะกรรมการฯในระดับจังหวัด ขอให้ความสำคัญในเป้าหมายในการดำเนินงานที่สำคัญ 5 ประเด็น

     ได้แก่ 1. สร้างเสริมความเข้มแข็งทางใจ 2. ลดอัตราการฆ่าตัวตาย 3. ประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากสถานการณ์ COVID-19 4. ผู้ป่วย Long Covid-19 และ 5.ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้จะสำเร็จได้ต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงขอเน้นย้ำให้เร่งดำเนินการติดตามจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯให้ครอบคลุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาการฆ่าตัวตายโดยเร็วต่อไป

      ด้านพญ.อัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิด19 จะทำให้คนไทยมีความเครียดสูงแต่จากติดตามพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จยังคงอยู่ที่ 7.8 คนต่อแสนประชากร ทั้งนี้รายงานจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จในระหว่างปี 2560 – 2564 พบว่าแนวโน้มที่สูงขึ้น คือกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว กรมสุขภาพจิตได้ทำการสำรวจถึงความต้องการในการดูแลช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตนักศึกษา สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
       พบข้อมูลที่น่าสนใจถึงความต้องการของวัยรุ่นเหล่านั้นว่า ต้องการให้มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถาบัน  เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตในมหาวิทยาลัย การคัดกรอง เครื่องมือประเมิน การให้คำปรึกษาช่องทางต่างๆ ที่สะดวก การดูแลช่วยเหลือติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ยังต้องการให้สถานศึกษาสามารถประสานกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ได้รับการสนับสนุนนโยบาย งบประมาณและแหล่งทุน
         ท้ายที่สุดคือการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดูแลช่วยเหลือนักศึกษาด้านสุขภาพจิตในมหาวิทยาลัย จากข้อคิดเห็นของนักศึกษาเหล่านี้เป็นโอกาสในการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตในนักเรียนนักศึกษา สู่การเป็นคู่เครือข่ายดูแลจิตใจสู่การเป็นคนไทยคุณภาพ โดยความร่วมมือของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป

      “ที่ประชุมยังมีมติมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้ร่วมกับกองทุนด้านสุขภาพ ได้พิจารณากลไกการสนับสนุนบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และกลไกของพรบ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ต่อไป”พญ.อัมพรกล่าว