สุดเจ๋ง! เด็กไทยคว้า 1 ใน6 รางวัลสูงสุด เวทีประกวดโครงงานระดับโลก

สุดเจ๋ง! เด็กไทยคว้า 1 ใน6 รางวัลสูงสุด เวทีประกวดโครงงานระดับโลก

“ตรีนุช” ชื่นชมเด็กไทย คว้า 1 ใน 6 รางวัลสูงสุด พร้อม 10 รางวัลจากเวที “Regeneron ISEF 2022“ การประกวดโครงงานของนักเรียนมัธยมฯ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

วันนี้ (14 พ.ค.65) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้คัดเลือกนักเรียนตัวแทนประเทศไทย จำนวน 16 ทีม ไปประกวดแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรร

สำหรับเยาวชน ในงาน ”Regeneron International Science and Engineering Fair (ISEF) 2022“ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2565 ณ เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา  ซึ่งเป็นการประกวดโครงงานของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีนักเรียนเข้าร่วมกว่า 1,800 คนจาก 130 ประเทศทั่วโลก นั้น

ขอชื่นชมนักเรียนไทยได้แสดงความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำเสนอโครงงานและคว้ามาครองได้สำเร็จถึง 10 รางวัล โดยนักเรียนไทยสามารถคว้าอันดับ 1 ในรางวัลใหญ่ (Grand Award) ได้ถึง 2 สาขาจากทั้งหมด 21 สาขา และยังได้รับ 1 ใน 6 รางวัลสูงสุดในงาน (Winner of the Top Award) อีกด้วย

 

  • แสดงความยินดีเด็กไทยคว้ารางวัลประกวดโครงงานระดับโลก

สำหรับ 10 รางวัลที่นักเรียนไทยได้รับ แบ่งประเภทเป็นรางวัล Grand Award จำนวน 8 รางวัล และรางวัล Special Award จำนวน 2 รางวัล

รางวัล Grand Award เด็กไทยได้รางวัลสูงสุด 1 รางวัล อันดับ 1 จำนวน 2 รางวัล อันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล  อันดับ 3 จำนวน 1 รางวัล และอันดับ 4 จำนวน 3 รางวัล ดังนี้

1. โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ได้อันดับ 1 ในสาขา Translational medical science จากโครงงานเรื่อง “เครื่องมือช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีจากการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับจากภาพถ่ายอุจาระและการวิเคราะห์ข้อมูลแบบประเมินความเสี่ยงด้วยเทคโนโลยี AI”  และได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 6 โครงงานที่ได้รับรางวัลสูงสุดในงาน Winner of the Top Award จาก The Gordon E. Moore Award for Positive Outcomes for Future Generations of $50,000 ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่องให้กับโครงงานสร้างสรรค์ที่มีผลกระทบสูงในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป รับเงินรางวัลมูลค่ากว่า 1.7 ล้านบาท

2. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้อันดับ 1 ในสาขา Computational Biology and Bioinformatics 
จากโครงงานเรื่อง “การทำนายความไวต่อยาด้วยเทคนิคผสมผสาน Graph Attention Networks เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แบบแม่นยำ โดยใช้โครงสร้างโมเลกุลยาร่วมกับข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์” 

3. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้อันดับ 2 ในสาขา Earth and Environmental Sciences จากโครงงานเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล”

4. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้อันดับ 3 ในสาขา Animal Science จากโครงงานเรื่อง “การเพิ่มศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยแสงสีเพื่อลดอัตราการตายจากพฤติกรรมการสลัดขาทิ้ง”

 

  • เล็งถอดแนวทางการเรียนการสอนโรงเรียนที่ได้รางวัลสร้างเด็กเก่ง

5. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้อันดับ 4 ในสาขา Biomedical and Health Sciences จากโครงงานเรื่อง การพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม

6. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้อันดับ 4 ในสาขา Biomedical Engineering จากโครงงานเรื่อง “การพัฒนาเข็มระดับไมโครเพื่อการตรวจวัดแบบ non-invasive ของสารครีเอตินินในของเหลวระหว่างเซลล์สู่นวัตกรรมการประเมินโรคไตแบบพกพา”

7. โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ได้อันดับ 4 ในสาขา Physics and Astronomy  จากโครงงานเรื่อง “การแกว่งของลูกตุ้มที่มีกระแสลมรบกวน”

และ Special Award ซึ่งเป็นรางวัลที่ให้จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานวิจัย บริษัทอุตสาหกรรม จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ 

1. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้รับ Special Award First Life Science Award of $1500 จาก Sigma Xi, The Scientific จากโครงงานเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล ” 

2. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับ Special Award จาก USAID Science for Development First Award – Global Health จากโครงงานเรื่อง “การพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม”

“นับเป็นอีกเวทีที่นักเรียนไทยสามารถแสดงศักยภาพในเวทีระดับโลก ซึ่งจะถอดแนวทางการเรียนการสอนไปต่อยอดและขยายผล เพื่อสร้างนักเรียนเก่งในทุกสาขาวิชา ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ให้กระจายทั่วถึงกันในทุกโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว