6 มหาวิทยาลัยจัดตั้ง A.I.Engineering พัฒนากำลังคนดิจิทัลตอบโจทย์ธุรกิจ

6 มหาวิทยาลัยจัดตั้ง A.I.Engineering พัฒนากำลังคนดิจิทัลตอบโจทย์ธุรกิจ

6 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ร่วมจัดตั้ง "สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ A.I.Engineering" เร่งพัฒนากำลังคนดิจิทัลตอบโจทย์ธุรกิจ อุตสาหกรรม ระบุหลักสูตรแรกในกลุ่มหลักสูตรSandbox ที่เกิดขึ้นจริง

“A.I. หรือปัญญาประดิษฐ์” เป็นเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง และเป็นความต้องการของหลากหลายภาคธุรกิจ  ซึ่งจำนวนบัณฑิตด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

รายงานแนวโน้มความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตของ สอวช. พบว่า ใน อีก 5 ปี ข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ มีความต้องการบุคลากรจำนวนสูงถึง 34,500 ตำแหน่ง ขณะที่รายงานสารสนเทศด้านการศึกษาในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย ปี 25602564 พบว่า นักศึกษามีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีการศึกษา2564 พบจำนวนนักศึกษาใหม่ 17,485 คน และลดลงกว่าปี2560 ร้อยละ 7.6  

  • 6 มหาวิทยาลัยจัดตั้ง A.I.Engineering

วันนี้ (9 พ.ค.2565)  มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคเเอล ร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) ลงนามความร่วมมือจัดตั้ง “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์” สู่การสร้าง A.I. Sandbox การจัดการศึกษาที่แตกต่างด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอ พร้อมร่วมมือในหลักสูตรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์(A.I.Engineering) 

รศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่า ด้วยความต้องการบัณฑิตด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) จำนวนมาก และไม่เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความขาดแคลนกำลังคนด้านนี้

มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันในการผลิตบัณฑิตมีความจำเป็นต้องเตรียมบุคลากรที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม อันนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

 

  • A.I.Sandbox หลักสูตรแรกผลิตบัณฑิตด้านดิจิทัล

“ภาคการศึกษา มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะและผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศ โดยเน้นสมรรถนะของผู้เรียน ดังนั้น ภายใต้การดำเนินงานร่วมกันของ 6 มหาวิทยาลัยจัดตั้ง สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ จะเป็นการจัดการศึกษาที่แตกต่าง เพื่อช่วยขับเคลื่อนดำเนินงานนโยบายมหาวิทยาลัย แบ่งปันทรัพยากร เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัย รวมถึงมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการหลักสูตร ผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานรศ.ดร.สุพันธุ์ กล่าว

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ภารกิจของกระทรวงอว.มี2เรื่องใหญ่ คือการพัฒนากำลังคนขั้นสูง และสร้างความเป็นเลิศ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่อว.ต้องดำเนินการผ่านมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ ซึ่งในแง่ของการพัฒนากำลังคนขั้นสูง อว.มีหลักสูตรในการพัฒนากำลังคนผ่านมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน

โดยการจัดทำหลักสูตรจะต้องมีมาตรฐานอุดมศึกษา และมาตรฐานหลักสูตร มีเงื่อนไขมากมาย แต่ในส่วนของการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลให้ตอบโจทย์กับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม หากรอให้มีการพัฒนาหลักสูตรให้ได้มาตรฐานที่กำกับอาจจะไม่ผลิตบุคลากรไม่เท่าทัน

“ หลักสูตร A.I.Engineering  เป็นหลักสูตรแรกๆ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดำเนินการตามมาตรฐานหลักสูตร แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีมาตรฐาน เพียงแต่จะทำให้การดำเนินการพัฒนาหลักสูตร สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น”ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

ตามพ.ร.บ.อุดมศึกษา พ.ศ.2562  ได้มีการกำหนดว่า อว.สามารถกำหนดหลักสูตรโดยไม่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ต้องเป็นหลักสูตรเร่งด่วนที่เป็นความต้องการของประเทศ  โดยหลักสูตร Sandbox ทั้งหมดจะเป็นการพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ 

 

  • สจล.พร้อมเปิดลงทะเบียนคาดเริ่มปีการศึกษานี้

รศ.ดร.อนุวัฒน์  จางวนิชเลิศ รักษาการแทนอธิการบดีสจล.กล่าวว่าความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการร่วมกันจัดการศึกษาที่แตกต่างโดยพลิกรูปแบบการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาอย่างสิ้นเชิง โดยในส่วนของสจล.จะเริ่มในปี 2565  เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาข้ามสถาบัน

สามารถใช้หน่วยกิตของรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันระหว่างสถาบันที่มีความร่วมมือให้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยกิตในหลักสูตรของสถาบันที่นักศึกษาเรียนรู้ นำรายวิชาที่มีการลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันไปอยู่ในระบบคลังหน่วยกิตและเก็บสะสมได้ตามข้อกำหนดของแต่ละสถาบัน รวมถึงส่งเสริมประสบการณ์ทางวิชาการและสังคมแก่นักศึกษา

  • เอกชนย้ำต้องการกำลังคนด้านดิจิทัล

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัทเวสเทิร์นดิจิตอล(ประเทศไทย) จำกัด  กล่าวว่าตอนนี้A.I.มีความสำคัญและสร้างโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจำนวนมาก ซึ่งหากสถาบันอุดมศึกษาไม่ปรับตัว ไม่มีการ Re-skill ,Up-skill  พัฒนาบุคลากรร่วมกับภาคเอกชน อนาคตการทำธุรกิจในเมืองไทย ในอุตสาหกรรมใหญ่คงจะมีแต่โรงงาน แต่ไม่มีคนทำงาน คนกดปุ่มการทำงานต่างๆอาจจะอยู่ต่างประเทศ

ต้องเร่งพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพ มีความเชี่ยวชาญด้านA.I. การวิเคราะห์วิจัย ซึ่งการทรานฟอร์ม A.I.ต้องเริ่มจากการเปลี่ยน mindset ของสถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจ ซึ่งทุกองค์กรต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยน และรู้จักการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม โดยต้องเห็นภาพที่ชัดและร่วมกันทรานฟอร์มA.I.ให้เกิดขึ้นดร.สัมพันธ์ กล่าว

นางศิรินุช ศรารัชต์ ผู้อำนวยการภาคธุรกิจการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายภาคการศึกษาของไมโครซอฟท์ ไม่ได้ร่วมมือเฉพาะอว. แต่มีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งวิสัยทัศน์ คือ ทำอย่างไรให้แต่ละองค์กรมีการปรับตัว และพัฒนาคนได้

เดิมAI มองเป็นด้านเทคโนโลยี แต่ตอนนี้ไม่ใช่  A.I. For Education  จะเป็นการเตรียมคน พัฒนาครูให้พร้อมในเรื่องของ A.I.  ดังนั้น การจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ทำให้เกิดการจัดการเรียนการสอน และการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลตอบโจทย์ประเทศ

  • นำร่องหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ 

นอกจากความร่วมมือระหว่าง 6 มหาวิทยาลัยเพื่อจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์เเล้ว ยังร่วมกันนำสถาบันดังกล่าวลงนามความร่วมมือร่วมกับภาคเอกชนอย่าง กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด จำกัด บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด บริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัด เเละ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป 

ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เผยว่า โครงสร้างหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ที่ได้รับเลือกเป็นหลักสูตรนำร่องนั้น ได้ถอดความต้องการจากประสบการณ์งานวิจัยและการพัฒนาของคณาจารย์ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มาพัฒนาเป็นองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทั้งสี่ด้านของสาขาวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (A.I. Engineering)

 สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (A.I. Engineering Institute; AIEI) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแกนกลางในการช่วยประสานงานระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันจัดการศึกษา แบ่งปันทรัพยากรเเละ เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์(AiCE) มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ได้รับการพิจารณาให้เป็นหลักสูตรนำร่องสำหรับการจัดการศึกษาที่เน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนเป็นหลัก(Competency-based Education) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของการศึกษารูปเเบบเดิม เพื่อให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้จริง

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ และสร้างปรากฎการณ์ใหม่เเห่งวงการการศึกษาในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ตรงต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ