ปั้นกำลังคน “Cyber Security” หลักสูตร "แซนบ็อกซ์” ตอบโจทย์ประเทศ

ปั้นกำลังคน “Cyber Security” หลักสูตร "แซนบ็อกซ์” ตอบโจทย์ประเทศ

กระทรวง อว. เดินหน้า Higher Education Sandbox หรือ หลักสูตร "แซนด์บ็อกซ์" ตอบโจทย์กำลังคนขั้นสูง พัฒนาประเทศ หารือ ทปอ. ปั้นหลักสูตร “Cyber Security” รับความก้าวหน้าเทคโนโลยี ตั้งเป้าอย่างน้อย 1,000 คน

ในวันนี้ โจทย์ใหญ่ของการพัฒนาประเทศ เพื่อเดินหน้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 คือ การผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง ให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเตรียมรับการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ความปลอดภัยทางเทคโนโลยี หรือกำลังคนด้าน ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ “Cyber Security” จึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไทยยังมีการพัฒนากำลังคนด้านนี้น้อย

 

ขณะเดียวกัน หลังจากที่ ครม. ไฟเขียว Higher education Sandbox หรือ หลักสูตร “แซนด์บ็อกซ์” ซึ่งสามารถสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงได้ภายในเวลา 2 ปี ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ จึงเป็นหนึ่งในหลักสูตรอันดับต้นๆ ที่ทางกระทรวง อว. ได้ร่วมหารือกับ ทปอ. เพื่อเตรียมกำลังคนด้านนี้

 

  • หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ การศึกษาไร้ข้อจำกัด

 

สำหรับมหาวิทยาลัย การสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงในระยะเวลา 4 ปี อาจไม่ทันต่ออุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานศักยภาพสูงและเฉพาะด้าน ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ขับเคลื่อนกลไก Higher Education Sandbox สนับสนุนการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน ผลักดันให้ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมหรือสถาบันอุดมศึกษา ได้ร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรแบบนอกกรอบอย่างเร่งด่วน นำไปสู่การใช้งานจริงสนองนโยบายของประเทศโดยตรงในการสร้างและพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สามารถออกไปทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ไม่ใช่การหนีเกณฑ์มาตรฐานที่กำกับหลักสูตร แต่เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการและรูปแบบการศึกษาอย่างไร้ข้อจำกัด เพื่อให้ทันต่อการปรับตัวอย่างรวดเร็วและความต้องการจากตลาดแรงงาน

  • หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ต่างจากหลักสูตร ปกติอย่างไร

 

“ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล” รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ใน พ.ร.บ. อุดมศึกษา ปี 2562 มาตรา 69 ให้อำนาจของ กระทรวง อว. ในการกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้สภานโยบายกำหนดได้ว่าจะให้มีหลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามหลักสูตรอุดมศึกษา

 

ในปัจจุบัน หลักสูตรต่างๆ ที่จะอยู่ในอุดมศึกษา ต้องเป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตร ต้องมีเกณฑ์การจบการศึกษาของอาจารย์ผู้สอน จำนวนหน่วยกิต อาจารย์ผู้สอน อาจารย์ประจำหลักสูตร มีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อกำกับควบคุมหลักสูตรให้เป็นที่ยอมรับ และเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน เป็นมาตรฐานอุดมศึกษา เป็นการกำกับดูแลว่า ไม่ว่าจะเรียนที่ไหน มหาวิทยาลัยรัฐ หรือ เอกชน หลักสูตรต้องผ่านการรับรอง เป็นการยืนยันว่าผู้เรียนได้ประโยชน์และคุณภาพตามที่กำหนด

 

“อย่างไรก็ตาม การที่จะเป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษาในปัจจุบัน ในเรื่องเทคโนโลยี และสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หากบางกรณีเราต้องการพัฒนากำลังคนอย่างรวดเร็ว การมีหลักสูตรให้เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว อาจจะไม่ตอบโจทย์ทันท่วงที เพราะฉะนั้น พ.ร.บ. อุดมศึกษา มาตรา 69 จึงให้สามารถจัดทำหลักสูตรทดลอง ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษาได้ เช่น ต้องการกำลังคนทางด้าน AI อย่างเร่งด่วน เพื่อตอบโจทย์บริษัทที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทย หากเราต้องมาออกหลักสูตรตามมาตรฐาน อาจจะผลิตกำลังคนไม่ทัน”

“มาตรฐานอุดมศึกษา มีข้อดี แต่ก็มีข้อเสียในแง่ที่บล็อกการพัฒนาคนตอบโจทย์ประเทศอย่างทันท่วงที ดังนั้น เราสามารถออกหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ได้ โดยนำภาคเอกชนมาสอนทั้งหมดก็ได้ คุณสมบัติอาจารย์อาจไม่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ต้องเป็นคนที่มีศักยภาพและตอบโจทย์ หรือไปเรียนในสถานประกอบการ สอนโดยเอกชน แต่ต้องผลิตให้ได้ตามความต้องการของประเทศ คือ กำลังคนขั้นสูงอย่างรวดเร็ว”

 

  • กำลังคนทักษะสูง แรงจูงใจนักลงทุน

 

ศ.ศุภชัย กล่าวต่อไปว่า จากการทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า การที่จะดึงนักลงทุนเข้ามาในประเทศ บริษัทที่เป็น Advance Technology เรื่องของการลดหย่อนทางภาษี มาตรการทางภาษี ไม่ได้เป็นแรงจูงใจที่สำคัญให้บริษัทเหล่านี้ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ กำลังคนที่มีทักษะสูง จะตอบโจทย์บริษัทเขาได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น Robotic , AI หรือ ด้าน ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ซึ่งเราอาจจะยังมีไม่พอ หรือ หากเขาต้องการเราอาจจะผลิตให้ไม่ทันเพราะหากอยู่ตามหลักสูตรปกติ ต้องเรียน 4 ปี ต่อ ปริญญาโท เป็นต้น

 

หากต้องการคนดิจิทัลด้านนี้ แล้วเพิ่งมาเปิดหลักสูตร และเรียนปี 1-4 จบ เทคโนโลยีอาจจะล้าสมัยไปแล้ว อาจจะไม่ตอบโจทย์ทันที ดังนั้น แซนด์บ็อกซ์ จะเข้ามาช่วย หากต้องการคน เด็กในสาขาที่ใกล้เคียง สามารถเปลี่ยนในปีสุดท้าย หรือ 2 ปีสุดท้าย มาเรียนด้านนี้ และอาจจะนำคนจากภาคเอกชน หรือ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ อาจารย์ที่ไม่ได้อยู่ในหาวิทยาลัยมาสอน เพื่อพัฒนากำลังคน

 

  • ปั้นกำลังคน “ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้”

 

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยมีความต้องการคนทางด้าน “ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้” ค่อนข้างมาก แม้ประเทศไทยจะมีการสอนด้าน “ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้” แต่ยังผลิตกำลังคนได้น้อย ขณะที่ทุกวันนี้ ระบบด้านไซเบอร์ มีความสำคัญสูงขึ้นเรื่อยๆ ในเชิงเศรษฐกิจ

 

"กระทรวง อว. อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในการหารือเรื่อง หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ โดยทำร่วมกันในหลายมหาวิทยาลัย พัฒนากำลังคนในด้าน “ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้” อย่างน้อย 1,000 คน โดยอาจเป็นการเปิดรับนักศึกษาที่อยู่ชั้นปี 2 สาขาต่างๆ ที่มีความสนใจด้าน “ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้” สามารถเปลี่ยนมาเรียนหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ในช่วงปี 3-4 ได้ ในมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตร เพื่อให้การผลิตกำลังคนตามความต้องการมีความรวดเร็วและยืดหยุ่นตามความต้องการตลาด"

 

  • หลักสูตรแซนด์บ็อก ต้องตอบโจทย์ประเทศ

 

รองปลัด กระทรวง อว. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม หลักสูตรที่จะเข้าแซนด์บ็อกซ์ได้ ต้องมั่นใจว่า ตอบโจทย์ความต้องการผลิตกำลังคนของประเทศ ณ เวลานี้จริงๆ ไม่ใช่ทุกหลักสูตรจะแซนด์บ็อกซ์ได้หมด เพราะต้องคุมมาตรฐานหลักสูตร แต่ในกรณีที่คิดว่ามีความจำเป็นจริงๆ และตอบโจทย์สังคม เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ก็สามารถใช้แซนด์บ็อกซ์ได้ และแซนด์บ็อก จะมีระยะเวลา เช่น 5-6 ปี และต้องประเมินว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ หากประสบความสำเร็จ อาจจะเปลี่ยนเป็นมาตรฐานหลักสูตรทั่วไป

 

“เนื่องจากหลัดสูตรแซนด์บ็อกซ์ ละเว้นมาตรฐานทุกอย่างได้ หลักสูตรนั้นต้องเป็นไปตามความต้องการของประเทศจริงๆ เป็นไปตามการพัฒนากำลังคนขั้นสูง อย่างที่กำลังทำ “ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้” ร่วมกับ ทปอ. จะมีหลายมหาวิทยาลัยร่วมกันพัฒนาคนด้านนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยว่า อาจเป็นหลักสูตรเฉพาะปี 3-4 หรือ ปี 4 ซึ่งเปิดให้เด็กจากสาขาไหนก็ได้ที่ต้องการเรียนและผลิตกำลังคนด้านนี้ออกไป”

 

ขณะเดียวกัน ยังมีด้าน Robotic เพื่ออุตสาหกรรม , การพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป , หลักสูตรด้าน Data Science หรือ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมทางการแพทย์อย่างรวดเร็ว เป็นต้น ซึ่งมีบางมหาวิทยาลัยเสนอเข้ามา ซึ่งช่วยกันดูว่าจะเป็นหลักสูตรใดที่จะตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศจริงๆ อย่างรวดเร็ว

 

“นักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรปริญญาตรี ก็จะได้หลักสูตรปริญญาตรี ส่วนสาขาไหนขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย เช่น เรียนเศรษฐศาสตร์ 2 ปี และสลับมาเรียนในหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ด้าน Data Science ก็อาจจะได้ปริญญาด้าน Data Science เลย ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยที่จะเสนอเป็นทางเลือกเข้ามา”

 

สำหรับหลักสูตรปกติก็ยังคงมาตรฐานเดิมและมีการศึกษาควบคู่กันไป ซึ่ง อว. ได้มีแผนการพัฒนา Sandbox ในสองรูปแบบคือ Top down Policy เป็นการจัดการตามนโยบายหรือความต้องการของประเทศ ว่าต้องการให้หลักสูตรใดเกิดขึ้นโดยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนที่มีความต้องการร่วมกัน

 

อีกหนึ่งทาง คือ จะเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาที่คิดว่าตนเองมีการทำงานตรงร่วมกับภาคเอกชนชุมชนหรือสังคมที่ต้องการกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สามารถเสนอหลักสูตรเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้ และตอนนี้ได้มีการประกาศกฎเกณฑ์และวิธีการออกมาแล้วอย่างชัดเจน

 

ที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้มีการเดินสายไปยังมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้มหาวิทยาลัยมาเสนอหลักสูตรและหารือร่วมกัน โดยขณะนี้ ทยอยให้มหาวิทยาลัยส่งหลักสูตรเข้ามา หากหลักสูตรใดเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแซนด์บ็อกซ์ จะเริ่มดำเนินการทันที โดยภายในปีนี้ คาดว่าจะเกิดหลักสูตรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศประมาณ 2-3 หลักสูตร เป็นอย่างน้อย

 

“เป้าหมายหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ต้องพัฒนากำลังคนการพัฒนาประเทศ คือ หนึ่ง ต้องตอบโจทย์การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศ สอง คือ สร้างคน ที่เรียกว่ากำลังคนขั้นสูงเท่าทันเทคโนโลยี เช่น ด้าน ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ที่ต้องสร้างกำลังคน 1,000 คนเป็นอย่างน้อย นี่คือเป้าที่เราต้องมอง เพราะหากพัฒนา ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ได้ 1,000 คน ในระยะเวลาอันสั้น จะทำให้เรายกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น” รองปลัด กระทรวง อว. กล่าว

 

  • การศึกษาโฉมใหม่ รับมือดิสรัปชัน

 

นอกจากนี้ หลักสูตรการเรียนการสอนในช่วงชั้นอื่นๆ ในปัจจุบัน เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง เป็นการศึกษาโฉมใหม่ โดยใช้โจทย์สำคัญของโลกยุคปัจจุบันเป็นตัวตั้งและเพื่อรับมือกับการดิสรัปในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นในระดับมัธยมศึกษา อาทิ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่มีสายวิทย์ สายศิลป์ และให้เด็กๆ ค้นหาตัวเอง เรียนสนุก เชื่อมโยงกับชีวิตให้ได้ ออกแบบวิชาที่เหมาะสมกับสุขภาวะของเด็ก และประเมินผลตามพัฒนาการและความแตกต่างของเด็ก

 

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี อดีตคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานบริหาร โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า สาธิต มธ. ได้จัดการเรียนการสอนโดยนำโจทย์ของโลกที่มีการเปลี่ยนไปเป็นตัวตั้ง ซึ่งคนในยุคนี้ อาชีพในอนาคตเขาจะเปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างดิสรัปไปหมด และปัจจุบันคนที่ทำมาหากินอยู่มีหลายอาชีพที่เรานึกไม่ถึง คนที่ร่ำรวยขึ้นมาอาจจะไม่ได้ทำอาชีพหลัก อย่าง อาชีพหมอ วิศวะ และหมอเองก็จำเป็นต้องมีความที่หลากหลาย  เด็กในยุคนี้ เจนนี้เขาเติบโตมาไม่เหมือนคนในยุคพ่อแม่ ต้องมีวิธีการเรียนรู้ เติบโตที่แตกต่างกับอดีต

 

สิ่งที่สาธิต มธ. ดำเนินการไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนไม่มีเครื่องแบบ ไม่เคร่งครัดเรื่องทรงผม ไม่เคารพธงชาติ สวดมนต์ตอนเช้า ไม่มีฝ่ายปกครองมีแต่ฝ่ายสนับสนุนนักเรียนและกิจกรรม ไม่มีการเรียนลูกเสือ เป็นต้น

 

รวมถึงมีรายวิชาใหม่ๆ เช่น วิชาวัยรุ่นศาสตร์ วิชาอยู่รอดปลอดภัย วิชารู้ทันการเงิน วิชาเสพศิลป์และกลิ่นเสียง วิชาวิถีศรัทธา (ครอบคลุมทุกศาสตร์) วิชารู้เท่าทันสื่อ วิชาว่ายน้ำเพ่อเอาชีวิตรอด วิชาผู้ประกอบการ ทุกวิชาเป็นการเรียนรู้แบบใฟม่ๆ ที่สอดคล้องกับ Learning style ของเด็กรุ่นใหม่ อีกหนึ่งโจทย์ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมธ.นำมาใช้ในการปรับหลักสูตร

 

"การปล่อยให้เด็กมีอิสระในการเลือกเรียน ซึ่งอาจจะไม่ได้หมายถึงเสรีภาพในการตัดสินใจ เพราะหากเป็นเสรีภาพอาจถูกมองว่าทำอะไรก็ได้ตามใจฉัน แต่อิสระในที่นี้ คือ เราเคารพในความแตกต่างหลากหลาย และยอมอนุญาตให้เด็กมีพัฒนาการตามช่วงวัย อยู่รวมกับผู้อื่นได้ เด็กๆ จะรู้ขอบเขตของตนเอง"