จากนโยบาย "แยกขยะ" ของว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." ชวนเช็กราคาขยะขายได้กี่บาท?

จากนโยบาย "แยกขยะ" ของว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." ชวนเช็กราคาขยะขายได้กี่บาท?

หนึ่งในนโยบายสำคัญของผู้สมัคร "ผู้ว่าฯ กทม." หลายคนก็คือ การจัดการปัญหา "ขยะกรุงเทพฯ" ส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต้อง "แยกขยะ" และทำให้ขยะมีค่ากลายเป็นรายได้ ว่าแต่.. วันนี้ "ราคาขยะ" แต่ละประเภทขายได้กี่บาท? ชวนอัปเดตที่นี่

ก่อนหน้านี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้นำเสนอ "นโยบายด้านการจัดการปัญหาขยะกรุงเทพฯ" ของเหล่าบรรดาผู้สมัคร "ผู้ว่าฯ กทม." หลากหลายท่าน ซึ่งไอเดียของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่แต่ละคน ล้วนน่าสนใจไม่แพ้กัน

แต่หนึ่งในวิธีจัดการที่ผู้สมัครฯ ทุกคนเห็นไปในในทิศทางเดียวกันก็คือ ต้องทำให้การ "แยกขยะ" เกิดขึ้นจริงในระดับครัวเรือน เพื่อเป็นการคัดแยก "ขยะรีไซเคิล" ออกมาแล้วเปลี่ยนเป็นเงินกลับคืนสู่ครัวเรือนหรือชุมชนได้ 

ว่าแต่.. ความสำคัญของการ "แยกขยะ" มีข้อดีอะไรอีกบ้าง? รวมถึงชวนเช็ก "ราคาขยะ" แต่ละประเภทว่ามีราคาเท่าไร? แบบไหนขายได้-ขายไม่ได้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

1. ประโยชน์การ "แยกขยะ" และวิธีแยกให้ถูกต้อง

รู้หรือไม่? การแยกขยะ เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณ "ขยะมูลฝอย" ซึ่งเป็นตัวการของปัญหามลพิษของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้ ผลกระทบจากขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกคัดแยกนั้น จะส่งผลเป็นวงกว้าง ทั้งผลกระทบต่อดิน น้ำ อากาศ สุขภาพของผู้คน และส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก ทั้งภาวะโลกร้อน สัตว์และพืชเสี่ยงสูญพันธุ์มากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น การแยกขยะจึงมีประโยชน์มากกว่าที่คิด เพราะถือเป็นหัวใจหลักในการลดปริมาณขยะ ทำให้ขยะถูกแบ่งประเภทชัดเจนและถูกส่งต่อไปกำจัดอย่างถูกต้องได้ง่ายขึ้น เช่น นำไปเผา นำไปฝังกลบ นำไปรีไซเคิล นำไปย่อยสลาย ฯลฯ

แต่ถ้าหากเราไม่คัดแยกขยะ จะทำให้ขยะทุกประเภทรวมกันปนเป กลายเป็นกองขยะขนาดใหญ่ที่แยกการกำจัดไม่ได้ เมื่อหมักหมมรวมกันก็จะเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในที่สุด

2. มูลฝอย vs รีไซเคิล ต่างกันอย่างไร? ขยะชนิดไหนขายได้บ้าง?

มีข้อมูลจาก พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ระบุว่า "ขยะมูลฝอย" (WASTE)  คือ สิ่งของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตและอุปโภค ซึ่งเสื่อมสภาพจนใช้การไม่ได้หรือไม่ต้องการใช้แล้ว บางชนิดเป็นของแข็งหรือกากของเสีย (SOLID WASTE)

ขยะกลุ่มนี้ย่อยสลายได้ แต่นำไปรีไซเคิลไม่ได้ (ขายต่อไม่ได้) ส่วนใหญ่เป็นขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร กิ่งไม้ หญ้า เศษเนื้อสัตว์ผักผลไม้เหลือทิ้ง ขยะเหล่านี้เมื่อหมักหมมจะมีผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย เนื่องจากมีความสกปรกและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ทำให้เกิดมลพิษและทัศนะอุจาด

ส่วนขยะรีไซเคิล คือ ขยะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยการนำไปแปรรูปแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้ (ขายต่อได้) เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ กระป๋อง ฯลฯ เป็นขยะที่สามารถทำการคัดแยกออกมาได้ง่าย ช่วยลดปริมาณขยะในภาพรวม และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ 

 

3. อัปเดต "ราคาขยะ" ในครัวเรือนแต่ละประเภท

สำหรับขยะรีไซเคิลในครัวเรือนที่ประชาชนสามารถคัดแยกเองได้ง่ายๆ  และสามารถนำไปขายต่อให้กับจุดรับซื้อขยะหรือซาเล้งนั้น ยกตัวอย่างมาให้รู้จักกัน 10 ชนิด ที่น่าจะเป็นขยะจากหลายๆ ครัวเรือน

โดยในที่นี้เราขออ้างอิงราคากลางจาก ‘วงษ์พาณิชย์’ ร้านรับซื้อขยะเบอร์ต้นๆ ของประเทศไทย  (ข้อมูล ณ 9 พ.ค. 65)

จากนโยบาย \"แยกขยะ\" ของว่าที่ \"ผู้ว่าฯ กทม.\" ชวนเช็กราคาขยะขายได้กี่บาท?

  • กระป๋องอะลูมิเนียม (น้ำอัดลม,เบียร์) ราคา 53.00 บาทต่อหน่วย
  • แบตเตอรี่ดำ,ขาว  ราคา  22.15 - 28.70 บาทต่อหน่วย
  • ขวดน้ำ PET ใส  ราคา 13.20 - 14.20 บาทต่อหน่วย
  • ขวดน้ำขาวขุ่น (HDPE)  ราคา  5.00 บาทต่อหน่วย
  • กล่องกระดาษแข็งน้ำตาล  ราคา  5.50 - 5.80 บาทต่อหน่วย
  • กระดาษหนังสือพิมพ์, หนังสือเล่ม  ราคา  3.20 บาทต่อหน่วย
  • โทรศัพท์มือถือ  ราคา  2.00 บาทต่อหน่วย
  • จอคอมพ์,จอทีวี  ราคา   1.00 บาทต่อหน่วย
  • ขวดเบียร์สีเขียว  ราคา  0.50 บาทต่อหน่วย
  • ขวดเบียร์สีชา  ราคา 0.30 บาทต่อหน่วย

หมายเหตุ : กระป๋อง กระดาษ ขวดพลาสติก นิยมชั่งเป็นกิโลกรัม ส่วนขวดแก้วขายเป็นต่อขวด 1 ใบ สามารถเช็กประเภทขยะและราคาขายได้เพิ่มเติมที่ wongpanit.com

4. เปิดแอปฯ ขายขยะออนไลน์ ที่ไหนบ้าง?

สำหรับใครที่อาจจะมองว่า ถึงแม้จะแยกขยะแล้วก็ไม่รู้จะเอาไปขายต่อที่ไหนอยู่ดี เพราะไม่รู้จักจุดรับซื้อขยะรีไซเคิลใกล้บ้าน เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเอาไว้ค้นหาจุดรับซื้อขยะรีไซเคิลได้ง่ายๆ รวมถึงจุดตั้งตู้รับขยะรีไซเคิลในห้างสรรพสินค้าหลายๆ แห่ง ดังนี้

  • แอปฯ GEPP Rewards : แอปฯ ที่จะนำวัสดุรีไซเคิลไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี เพื่อลดมลพิษจากการกำจัดขยะอย่างผิดวิธี ช่วยลดการฝังกลบได้จริง แยกวัสดุรีไซเคิลแล้วนำมาแลกแต้มได้ เพื่อแลกของรางวัล สามารถเลือกจุดดรอปขยะใกล้บ้านได้ (สามารถติดต่อกับซาเล้งในพื้นที่ได้โดยตรงผ่านฟีเจอร์แผนที่ในแอปฯ นี้)

  • ตู้ Refun Machine : ตู้แลกขยะอัตโนมัติ มีลักษณะเหมือนตู้ ATM เอาไว้รับซื้อขยะรีไซเคิลประเภทขวดพลาสติก PET เมื่อนำขวดมาหย่อนลงตู้ ก็จะได้รับเงินสดจากตู้ สนนราคาขวดพลาสติกใสขวดเล็ก 10 ขวด = 1 บาท และขวดพลาสติกใหญ่ 5 ขวด = 1 บาท มีตั้งอยู่ที่ Central world, True Digital Park, เอ็มควอเทียร์, พารากอน, จุฬาฯ, แสนสิริ, ปตท. เป็นต้น

  • ตู้ถังวนถุง : รับบริจาคถุงและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกสะอาด เพื่อนำกลับไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกได้อีกครั้ง มีมูลค่ากิโลกรัมละ 5 บาท โดยโครงการฯ จะมอบรายได้นี้ให้กับศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก จุดตั้งตู้ได้แก่ ห้างฯ เซ็นทรัล, เดอะมอลล์, เทสโก้โลตัส และปั้มน้ำมันบางจาก เป็นต้น 

  • โครงการ “หลังคาเขียว” : กล่องเครื่องดื่มยูเอชที ล้างและตากให้แห้ง แล้วนำไปหย่อนที่จุดรับ “หลังคาเขียว” ในห้างบิ๊กซี 140 สาขาทั่วประเทศ เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคาที่มีคุณสมบัติทนทาน ไม่ดูดซับแดดและความร้อน ปลอดจากเชื้อรา เพื่อมอบให้มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ศูนย์ข้อมูลโครงการ โทร. 02-7478881 

     

-------------------------------------------

อ้างอิง : วงษ์พาณิชย์, SCG/sustainability, maefahluang.org, tnnthailand, Geppthailand