เปลี่ยน 'ขยะ' ในบ้าน ให้เป็น 'เงิน' ส่องเรทราคา 'รับซื้อของเก่า' เพิ่มรายได้ช่วงวิกฤติ

เปลี่ยน 'ขยะ' ในบ้าน ให้เป็น 'เงิน' ส่องเรทราคา 'รับซื้อของเก่า' เพิ่มรายได้ช่วงวิกฤติ

เปิดช่องทางเปลี่ยนว่าที่ 'ขยะ' ในบ้านคุณ ให้กลายเป็น 'เงิน' ที่สามารถช่วยเพิ่มเงินสด หมุนเวียนไว้ใช้ในยามวิกฤติ

"ขยะ" เรื่องใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม และพยายามผลักให้กลายเป็นเรื่องไกลตัวเพียงเพราะมองว่า "ไร้ค่า" แต่เมื่อถึงยามวิกฤติที่รายได้หดหาย หรือมีความเสี่ยงอยู่รอบตัว "ขยะ" ที่มีอายุการใช้งานเพียงครั้งเดียวเหล่านี้ เป็นสิ่งที่มีมูลค่าในตัวมันเองที่สามารถสร้าง "รายได้" เล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ที่เห็นค่า และรู้จักวิธีสร้างรายได้จากพวกมัน

ขยะที่ว่านี้ หมายถึงของเหลือใช้ที่อยู่รอบตัว ที่ไม่ควรใช้ซ้ำ หรือใช้ซ้ำไม่ได้แล้ว ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน เช่น ขวดน้ำพลาสติก กระดาษหนังสือพิมพ์ กล่องนม กล่องอาหารพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี่ทั้งหลาย ที่มีจุดจบวางพะเนินอยู่ในถังขยะ  

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนหาช่องทางเพิ่มรายได้จาก "ว่าที่ขยะ" เหล่านี้ ให้กลายเป็น "สินค้า" ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  •  เปลี่ยนจาก "ทิ้ง" เป็น "แยก-เก็บ" 

ในแต่ละวันเราต่างเป็นผู้สร้างขยะ โดยเฉพาะช่วงที่ล็อกดาวน์เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ที่หลายคนใช้การสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่เป็นทางเลือกแรกๆ จนจำนวนขยะจากบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วเพิ่มสูงขึ้น

จุดเริ่มต้นของการเพิ่มรายได้จากสิ่งเหล่านี้ คือการเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง แทนที่จะมองสิ่งเหล่านี้เป็นขยะไร้ค่าและโยนทิ้งลงถังขยะหลังรับประทานอาหารหมด ลองหันมา "เก็บ" โดยการเก็บ

ในที่นี้ ไม่ใช่การจับยัดใส่ถุงดำเพื่อรอขายต่อเท่านั้น แต่จะต้องมีการแยกประเภทขยะ ทำความสะอาด และจัดเก็บให้อยู่ในสภาพดี ซึ่งการทำแบบนี้นอกจากทำช่วยให้ขายได้ราคาดีแล้ว ยังพร้อมส่งต่อไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล ช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยในบ้านเรา และสังคมได้ในเวลาเดียวกัน

159782822385

  •  วิธีการคัดแยกประเภทขยะเบื้องต้น  

การแยกขยะขั้นเบสิกที่ทุกครัวเรือนควรทำคือการแยกประเภทขยะหลักๆ ให้ได้ ดังนี้

- ขยะทั่วไป

ขยะทั่วไปเป็นขยะจำพวกเศษกระดาษ ซองพลาสติก เปลือกลูกอม หรือของจำพวกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ที่ไม่คุ้มค่ากับการนำไปรีไซเคิล ขยะเหล่านี้จะถูกนำไปกำจัดตามกระบวนการ เช่น การฝังกลบ หรือการเผาด้วยเตาเผาขยะ เป็นต้น

- ขยะเปียก

ขยะเปียกเป็นขยะย่อยสลายง่ายที่อยู่ในรูปแบบของเศษอาหารที่กินเหลือ วัตถุดิบที่เน่าเสียได้ง่าย ผลไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ ซากพืช ซากสัตว์ ที่เมื่อทิ้งไว้ไม่นานจะส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ขยะเหล่านี้อาจสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ เช่น การนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น

- ขยะรีไซเคิล

ขยะรีไซเคิลมักเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วหรือวัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ เช่น แก้ว กระป๋อง ขวดน้ำ เศษพลาสติก ที่สามารถนำไปหลอมเพื่อแปรรูปสำหรับใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ขยะประเภทนี้จะมีมูลค่าสามารถเก็บไว้ขายให้กับคนที่รับซื้อของเก่า เนื่องจากสามารถนำไปสร้างประโยชน์ต่อได้

- ขยะอันตราย

ขยะอันตรายที่อาจมีสารปนเปื้อนไปกับสภาพแวดล้อมได้ เช่น กระป๋องสเปรย์ แบตเตอรี่ ถ่ายไฟฉาย อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่เสื่อมสภาพ ควรถูกแยกออกจากขยะทั่วไป เนื่องจากขยะเหล่านี้จะมีสารประกอบทางเคมีอันตรายหลายอย่างที่ต้องถูกกำจัดอย่างถูกวิธี

โดยขยะ 2 ประเภทหลัง คือ "ขยะรีไซเคิล" และ "ขยะอันตราย" (บางชนิด) เป็นขยะที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเรา โดยในบรรดาขยะรีไซเคิลและขยะอันตรายมีวัสดุหลากหลายประเภทประกอบอยู่ด้วยกัน ดังนั้นหลังจากที่มีการแยกขยะตามประเภทขยะแล้ว จะต้องนำมาแยกประเภท "วัสดุ" ของขยะนั้นๆ ด้วย เนื่องจากการรับซื้อขยะหรือของเก่ามักจะรับซื้อเป็นกิโลกรัม (มีการซื้อโดยให้ราคาต่อหน่วยบ้าง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้รับซื้อ และประเภทของสินค้า) 

เช่น ขวดน้ำที่ทำจากพลาสติกประเภท PET จะต้องเป็นขวดที่สะอาด ไม่มีฉลากพลาสติกแปะอยู่ แยกฝา ไม่มีของเหลว หรือวัสดุอื่นๆ อยู่ในขวด กล่องนม จะต้องตัดออกเพื่อล้างคราบสกปรกด้านในออก และผึ่งให้แห้งก่อนจำหน่าย โทรศัพท์มือถือเก่า อยู่ในที่แห้ง ไม่ปะปนกับขยะเปียก เป็นต้น 

159784744556

เมื่อสามารถแยกวัสดุต่างๆ ได้เรียบร้อยแล้ว สามารถนำไปจำหน่ายตามแหล่งรับซื้อต่างๆ โดย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมเรทราคารับซื้อของเก่า ซึ่งเป็นราคากลางจากผู้รับซื้อรายใหญ่ เช่น วงษ์พาณิชย์ Junkbank และ Samuirecycle เพื่อให้เห็นภาพรวมของราคารับซื้อวัสดุประเภทต่างๆ โดยหยิบยกเอาประเภทขขยะที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด โดยอ้างอิงราคากลางประจำวันที่ 19 ส.ค. 63 ของผู้รับซื้อแต่ละแห่ง ดังนี้

- ขวดเบียร์ช้าง (เขียว) / กล่อง / สะอาด 12.50 บาท  

- ขวดเบียร์ลีโอ / กล่อง / สะอาด 9.50 บาท

- ขวดน้ำขาวขุ่น (HDPE) 5.00 บาท/กิโลกรัม

- ขวดน้ำใส (PET) ใส 3.00 บาท/กิโลกรัม

- อลูมิเนียมกระป๋องโค้ก 24.00 บาท/กิโลกรัม

- กระดาษหนังสือพิมพ์ 1.50 บาท/กิโลกรัม

- กระดาษหนังสือเล่มรวม 1.10 บาท/กิโลกรัม

- กระดาษสี/กระดาษกล่อง รองเท้า/กล่องผลไม้ 0.90 บาท/กิโลกรัม

- จอคอมพิวเตอร์ (จอLED) 1.00 บาท/กิโลกรัม

- เคส คอมพิวเตอร์ 2.50 บาท/กิโลกรัม

- โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์สำนักงาน 1.50 บาท/กิโลกรัม

- แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ 20.50 บาท/กิโลกรัม ฯลฯ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม: วงษ์พาณิชย์

- ขวดเบียร์ช้าง เบียร์อาชา /กล่อง 8.75 บาท

- ขวดเบียร์ลีโอ /กล่อง 8.05 บาท 

- ขวด PET ใสไม่มีฉลาก 9.1 บาท/กิโลกรัม

- กระดาษหนังสือพิมพ์ 1.05 บาท/กิโลกรัม

- กระดาษหนังสือเล่ม งดแฟ้มแข็ง 1.05 บาท/กิโลกรัม

- อลูมิเนียมบาง 24.5 บาท/กิโลกรัม

- อลูมิเนียมก้นกระทะไฟฟ้า 18.9 บาท/กิโลกรัม ฯลฯ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม: junkbank

- ขวดเบียร์ช้าง 9 บาท/กิโลกรัม

- ขวดเบียร์ลีโอ 8 บาท/กิโลกรัม

- พลาสติกใส หรือขวดเพชร 9 บาท/กิโลกรัม

- กระป๋องโค้ก 29 บาท/กิโลกรัม

- กระดาษหนังสือพิมพ์ 10 บาท/กิโลกรัม

- กระดาษลัง 1.5 บาท/กิโลกรัม

- กระดาษขาว-ดำ 4 บาท/กิโลกรัม ฯลฯ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม: samuirecycle

หมายเหตุ: ราคารับซื้อสำหรับผู้ที่มีปริมาณของมาก หากมีปริมาณของไม่มากราคาอาจปรับลดลงเล็กน้อย หรือราคาดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลง

159782828970

  •  เทคนิค "ขายขยะ" ให้ได้ราคาดี 

1. เลือกขายให้กับร้านรับซื้อที่น่าเชื่อถือ และควรตรจสอบราคาการรับซื้อของสินค้าแต่ละประเภท เพื่อลดโอกาสในการถูกกดราคา  
2. เก็บรวบรวมของเก่าให้ได้จำนวนมาก แล้วค่อยนำไปขายในคราวเดียวเนื่องจากปริมาณที่มากพอ ให้น้ำหนักที่ชัดเจนกว่า จะมีโอกาสได้เงินที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า
3. นำไปขายด้วยตัวเองเนื่องจากการขายผ่านนายหน้ารับซื้อ ที่อาจได้ราคาที่ต่ำกว่าเนื่องจากบริการถึงที่
4. ก่อนจะนำไปขายแต่ละครั้ง เราควรคัดแยกขยะแต่ละชนิดให้ชัดเจน และทำความสะอาดให้เรียบร้อย เช่น ขวดพลาสติก ควรแกะฉลาก แยกฝาออก หรือถ้าเป็นพวกลวดสลิงถ้ามัดมาให้เป็นระเบียบก็จะขายได้ราคาดีกว่าของที่ไม่เป็นระเบียบ 

  •  ขายขยะไม่ได้มีดีแค่ได้เงิน 

นอกจากปัญหาการขาดสภาพคล่องแล้ว การแยกประเภทขยะให้ถูกต้องก่อนทิ้งให้เป็นปรกติวิสัย ยังสามารถลดปัญหาขยะซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยมาอย่างยาวนานได้ด้วย 

เนื่องจากปัญหาขยะไม่ได้เริ่มต้นมาจากการผลิตมาเพื่อใช้ แต่เกิดจากปัญหา "การบริหารจัดการ" ที่ทำให้ไม่สามารถนำขยะที่มีอยู่กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างที่ควรจะเป็น หรือกำจัดขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้อย่างถูกวิธีเนื่องจากต้นทางการทิ้งขยะของครัวเรือนปะปนสารพัดวัสดุ และสิ่งสกปรกมาจนยากที่จะคัดแยกเพื่อเข้าสู่กระบวนการที่เหมาะสม

โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า คนไทยกว่า 65 ล้านคนสร้างขยะมูลฝอยได้มากถึง 16 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นขยะที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ 22% หรือเฉลี่ย 9,800 ตันต่อวัน โดยขยะมูลฝอยที่กำจัดอย่างถูกวิธีมีไม่ถึง 40% ที่เหลือกว่า 60% จึงตกค้างตามสถานที่ต่างๆ และสร้างปัญหามลพิษต่อตัวเราและชุมชน

ดังนั้นการ "คัดแยกขยะ" ไม่ว่าจะเพื่อนำไปขายต่อ หรือคัดแยกก่อนทิ้ง จึงไม่ได้ช่วยให้บ้านของคุณสะอาดสะอ้าน มีรายได้เพิ่มเล็กๆ น้อยๆ แต่ยังมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะ ที่จะส่งผลดีสิ่งแวดล้อมของประเทศในระยะยาวด้วย

ที่มา: กรมอนามัย samuirecycle Urban Creature junkbank วงษ์พาณิชย์