เปิดไอเดียว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." กับนโยบายจัดการ "ปัญหาขยะ" ให้ชาวกรุง

เปิดไอเดียว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." กับนโยบายจัดการ "ปัญหาขยะ" ให้ชาวกรุง

เปิดวิสัยทัศน์ ว่าที่ “ผู้ว่าฯ กทม.” คนใหม่ กับนโยบายจัดการ "ปัญหาขยะ" ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการตอบคำถามของกลุ่ม "EarthTone (ภาคีโลก)" ผ่านสื่อโซเชียลว่า “ปัญหาขยะ” เมืองกรุง ควรบริหารจัดการอย่างไรให้ดีขึ้นกว่านี้?

ปัญหาสุดคลาสสิกที่อยู่คู่กับชาวกรุงเทพฯ มาทุกยุคทุกสมัย คงหนีไม่พ้น “ปัญหาขยะ” ไม่ว่าจะมี “ผู้ว่าฯ กทม.” เปลี่ยนมือกันเข้ามาแก้ปัญหานี้หลายรุ่นหลายสมัย แต่ปัญหานี้ก็ยังอยู่ และดูเหมือนว่าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

แม้ว่าข้อมูลจาก “กรมควบคุมมลพิษ” จะระบุว่า กทม. ไม่มีขยะตกค้างเลยในแต่ละปี แต่นั่นไม่ได้มาจากการจัดการขยะได้ดี แต่เป็นเพราะว่า กทม. ขนขยะไปฝังกลบยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ อย่าง จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.นครปฐม กว่า 4,000 ตัน/วัน จากทั้งหมด 12,281.70 ตัน/วัน

ทำให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้บ่อขยะ ได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นและมลพิษทางอากาศ จนเกิดการร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และสะท้อนปัญหาดังกล่าวมายังต้นทางที่กรุงเทพฯ ด้วย

ในขณะที่ช่วงนี้ใกล้ถึงวันเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” เข้ามาทุกที (กำหนดไว้ วันที่ 22 พฤษภาคม 2565) ทำให้เหล่าผู้สมัครต่างทยอยเปิดนโยบายด้านต่างๆ ออกมาเรียกคะแนนเสียง รวมถึงนโยบายจัดการปัญหาขยะในกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับว่าที่ “พ่อเมืองกรุงเทพฯ” คนใหม่ ที่ต้องตอบให้ได้ว่า “ปัญหาขยะ” เมืองกรุงควรบริหารจัดการอย่างไรให้เหมาะสม และไม่เป็นปัญหาไปยังพื้นที่อื่นๆ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนชาวกรุงมาส่องนโยบายการจัดการขยะจากแคนดิเดตผู้สมัคร “ผู้ว่าฯ กทม.” ผ่านการตอบคำถามของ กลุ่ม “EarthTone ภาคีโลก” ในเพจ LG and Friends ที่ได้มีการโยนคำถามไปว่า

“ระบบการจัดการขยะของ กทม. จะดีกว่านี้ได้อย่างไร? ทั้งในเรื่องการจัดการขยะ การเก็บขยะแยกวันแยกประเภท การรีไซเคิลจากส่วนกลาง การลดขยะที่ต้นทาง การคิดค่าเก็บขยะมีความเป็นธรรม และการใช้งบจัดการขยะ 7,000 กว่าล้านบาทให้เหมาะสม เป็นต้น”

โดยมีผู้สมัครทยอยเข้ามาตอบคำถามหลายคน เรารวบรวมวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร "ผู้ว่าฯ กทม." แต่ละคนมาให้ทราบกันแล้ว ดังนี้

เปิดไอเดียว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." กับนโยบายจัดการ "ปัญหาขยะ" ให้ชาวกรุง

 

  • วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 ในนามพรรคก้าวไกล

ผมเห็นด้วยกับสร้างความตระหนักรู้และการคัดแยกขยะครัวเรือน แต่เราต้องทำให้การจัดเก็บขยะในกรุงเทพเป็นธรรมเสียก่อน ห้างใหญ่ โรงแรมหรู ตึกสูงเสียค่าเก็บขยะเพียง 30,000-50,000 บาท/เดือน ขณะที่ร้านสะดวกซื้อเสียเดือนละ 120-200 บาท/เดือน ซึ่งถือว่าจ่ายน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณขยะและความถี่ในการจัดเก็บ

เปิดไอเดียว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." กับนโยบายจัดการ "ปัญหาขยะ" ให้ชาวกรุง

ผมคิดว่าผู้ว่า กทม. ต้องกล้าหาญที่จะขึ้นค่าขยะห้างใหญ่และร้านสะดวกซื้อ 6-10 เท่า เพิ่มค่าเก็บขยะให้ได้อย่างน้อยปีละ 2,000 ล้านบาท แล้วนำมาปรับปรุงระบบจัดการขยะ ซึ่งต้องเพิ่มศักยภาพโรงกำจัดขยะมูลฝอยที่มีอยู่ เพื่อลดการฝังกลบในจังหวัดข้างเคียง

การทำให้ค่าจัดเก็บขยะเป็นธรรม ไม่ใช่เรื่องการชนดะ แต่เป็นการยืนยันหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP) ที่ประเทศพัฒนาแล้วทุกประเทศนำมาใช้ในการแก้ปัญหา การทำให้ผู้ก่อมลพิษเยอะต้องจ่ายตามความเป็นจริง จะส่งผลให้นายทุนต่างๆ พร้อมใจกันลดขยะ ไม่ว่าจะ reduce reuse recycle ได้เอง แทนที่จะรณรงค์กันอย่างเดียวแบบที่ทำกันมาเป็น 10 ปีแล้วครับ 

  • สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3 ในนามอิสระ

ผมให้ค่ากับสิ่งที่หลายคนมองว่าไร้ค่าอย่าง “ขยะ” มาตั้งแต่วันแรกที่ลงสมัครผู้ว่าฯ และใน “สกลธีโมเดล” ผมจะทำให้ขยะกลายเป็นสิ่งที่มีค่าและเป็นรายได้เข้า กทม. โดยขอตอบคำถามข้างต้นทีละข้อ คือ

การบริหารจัดการขยะ : ถ้าเก็บแยกวันได้เหมือนในบางประเทศจะดีมากครับ อย่างในญี่ปุ่นก็จะมีการแยก "ขยะเผาได้" เช่น กระดาษ, กล่องกระดาษ, ขยะในครัว ฯลฯ และ "ขยะเผาไม่ได้" เช่น เหล็ก, กระจก โดยกำหนดวันเก็บที่ชัดเจน

ในส่วนของขยะที่รีไซเคิลได้ ผมมีนโยบายจะร่วมมือกับเอกชนในรูปแบบ PPP ทำจุดรับซื้อขยะ ทั้งในรูปแบบตู้อัตโนมัติและที่เป็นจุดบริการ ต้องมีมากพอให้ทุกคนใช้บริการสะดวก ทั้ง กทม. และประชาชนก็จะมีรายได้เพิ่มด้วย ส่วนขยะชิ้นใหญ่ให้เอกชนเข้ามาจัดการ เพื่อไม่ให้มีการเอาขยะชิ้นใหญ่ไปทิ้งลงคลอง

เปิดไอเดียว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." กับนโยบายจัดการ "ปัญหาขยะ" ให้ชาวกรุง

การลดขยะที่ต้นทาง การลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว : อย่างที่ทุกคนทราบว่าพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย สิ่งที่ผิดคือ การที่เราใช้ครั้งเดียวต่างหาก สิ่งที่ กทม. ควรทำที่สุด คือ โมเดล Waste to Value เช่น การทำให้ขยะบางชนิดสามารถใช้แลกสวัสดิการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้ เช่น ขวดพลาสติกใช้เป็นค่าโดยสารรถเมล์ เป็นต้น

งบจัดการขยะ 7,000 ล้านบาท บริหารให้คุ้มค่า : ต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการมองขยะเป็นปัญหา มาสู่การมองขยะเป็นรายได้ แทนที่จะจ้างคนเอาไปทิ้ง (ที่บ่อฝังกลบในต่างจังหวัด) ผมมีแนวคิดให้เอกชนมาประมูลในเรื่องของการบริหารจัดการขยะ ซึ่งจะทำให้ กทม. ประหยัดงบประมาณในส่วนของการเก็บขยะปีละ 5,000 ล้านบาท จะได้นำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาในด้านอื่น และ กทม. จะต้องได้เงินจากเอกชนที่มาประมูลด้วย เพราะได้เอาขยะไปขายได้ ซึ่งเงินตรงนี้ก็จะเอาไปจัดการขยะส่วนที่ไม่มีมูลค่า 

การคิดค่าเก็บขยะให้มีความเป็นธรรม : ปัจจุบันเราคิดค่าเก็บขยะตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่องค่าธรรมเนียมฯ พ.ศ.2562 ซึ่งมีการคิดค่าเก็บและค่ากำจัดขยะแบบขั้นบันได โดยอัตราต่ำสุดสำหรับครัวเรือนทั่วไปอยู่ที่ 80 บาทต่อเดือน ขณะที่อัตราสูงสุดสำหรับอาคารที่สร้างขยะจำนวนมากอยู่ที่ 6,750 บาทต่อเดือน

จะเห็นว่าแม้จะเป็นขั้นบันไดจริง แต่เมื่อเฉลี่ยออกมาแล้วจะพบว่ากลุ่มอาคารเสียค่าเก็บขยะมากกว่าบ้านเรือนทั่วไปแค่ลิตรละ 9 สตางค์เท่านั้นเอง ดังนั้น ผมเห็นว่าต้องมีการแก้ไขข้อบัญญัติเรื่องค่าธรรมเนียมฯ อีกครั้ง ให้มีส่วนต่างของขั้นบันไดค่าธรรมเนียมมากขึ้น 

พื้นที่แยกขยะที่เหมาะสมในอาคารต่างๆ : เราสามารถแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2544 ข้อ 72 ให้ที่ทิ้งขยะหรือที่พักรวมขยะมูลฝอย ต้องมีจุดคัดแยกขยะด้วย รวมถึงผลักดันให้แก้ไข พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ให้กำหนดให้มีการคัดแยกขยะด้วย

วิธีสร้างความตระหนักรู้เรื่องขยะ : หากขยะเป็นขยะ คนก็จะไม่สนใจ แต่ตรงกันข้าม ถ้าขยะเป็นะทองคำ ก็จะมีแต่คนแย่งกันเก็บ การทำให้ประชาชนและเยาวชนใส่ใจกับเรื่องขยะจึงต้องทำผ่านระบบตอบแทน (Incentive) บางอย่าง เพื่อให้พวกเขาเห็นว่า วงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้น ไม่ควรจบที่การเป็นขยะ แต่ควรถูกนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกวิธี ทำแบบนี้ ทุกคนจะเห็นคุณค่าของขยะ สิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น

 

  • สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 4 ในนามพรรคประชาธิปัตย์

การจัดการปัญหาขยะ เป็นสิ่งที่เราต้องรีบแก้ไขทันที เพราะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขภาพของคนในชุมชนโดยตรง ดังนั้นจึงต้อง “ปฏิวัติระบบจัดเก็บขยะ” โดยหลักการคือ

“เข้าให้ถึง เก็บให้ถี่” : เก็บขยะให้ได้ทุกวัน และใช้รถขยะหลากหลายขนาดให้เหมาะกับสภาพชุมชน ต้องมีรถขยะทุกขนาดสำหรับทุกพื้นที่ โดยเฉพาะรถขนาดเล็กเพื่อเก็บขยะในซอย ต้องเพิ่มคนเก็บขยะและเพิ่มสวัสดิการให้คนเก็บขยะ

เปิดไอเดียว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." กับนโยบายจัดการ "ปัญหาขยะ" ให้ชาวกรุง เปิดไอเดียว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." กับนโยบายจัดการ "ปัญหาขยะ" ให้ชาวกรุง

สนับสนุนให้ชุมชนแยกขยะ” : ปัจจุบันขยะมูลฝอยที่สามารถแยกเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใน กทม. มีปริมาณมากราวร้อยละ 50 ของปริมาณขยะทั้งหมด ดังนั้น การแยกขยะก่อนนำมากำจัด ถือเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด โดยเจ้าหน้าที่ กทม. ต้องจริงจังและใส่ใจ เก็บขยะตรงเวลา ถังขยะต้องสะอาดและมีป้ายติดแยกชนิดที่ชัดเจน รวมถึงจัดทำ ATM ขยะ เอาขวดเปล่ามาแลกเงิน

“กำจัดขยะทันที ไม่ให้มีขยะตกค้าง” : ใช้เตาเผาขยะขนาดเล็กติดตั้งกระจายในจุดที่ไม่ไกลนัก และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน กำจัดขยะต่อวันให้หมด รถขยะก็ไม่ต้องวิ่งข้ามเมือง ทำให้เพิ่มรอบการเก็บขยะได้ และร่วมมือกับจังหวัดปริมณฑลในการวางแผนจัดการขยะครบวงจร

 

  • วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ผู้สมัครหมายเลข 5 ในนามอิสระ

ผมเสนอแนวทางแก้ปัญหาขยะแบบประเทศไต้หวันครับ ซึ่งเราแก้ได้แน่ หากแก้ตั้งแต่ต้นทางครับ โดยผมจะเสนอออกกฎหนายบังคับใช้เรื่องจัดการขยะ ได้แก่ ออกกฎหมายให้ประชาชนต้องแยกขยะแต่ละประเภท และออกกฎหมายให้ประชาชนจ่ายค่าจัดการขยะตามปริมาณขยะที่ทิ้ง

เปิดไอเดียว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." กับนโยบายจัดการ "ปัญหาขยะ" ให้ชาวกรุง

ประชาชนต้องรับผิดชอบปริมาณขยะที่ก่อ โดยการซื้อถุงขยะแต่ละประเภท ใครสร้างขยะมากก็จ่ายเงินมาก อีกทั้งมีระบบจำแนกขยะและจัดเก็บขยะแต่ละประเภทให้ชัดเจน ได้แก่ ขยะอาหารสด ขยะอาหารปรุงสุก ขยะรีไซเคิล ขยะอื่นๆ

นอกจากนี้ จะไม่มีถังขยะตามริมถนนหนทาง แต่จะมีรถเก็บขยะมาเก็บตามเวลาที่กำหนด และตามประเภทของขยะ ประชาชนต้องนำขยะมาทิ้งที่รถตามเวลากำหนด เพื่อให้พนักงานตรวจสอบ โดยทั้งหมดนี้คาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดทิ้งได้มากกว่า 40% ลดขยะที่จะอุดตันท่อระบายน้ำ ลดปัญหามลพิษจากบ่อขยะ และลดการเผาทำลายขยะลงได้

 

  • รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครหมายเลข 7 ในนามอิสระ

ขยะใน กทม. เกิดขึ้นประมาณวันละ 10,000 ตัน หรือ 10 ล้านกิโลกรัม ขยะถูกชาวกรุงเทพฯ มองว่าเป็นภาระของ กทม. หรือภาครัฐในการดำเนินการ “เก็บกวาด รวบรวม ขนส่ง และกำจัด” โดยไม่ได้เชื่อมโยงตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ

เปิดไอเดียว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." กับนโยบายจัดการ "ปัญหาขยะ" ให้ชาวกรุง

ถึงเวลาที่ กทม. จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการจัดการขยะร่วมกันแบบมีส่วนร่วมและรับผิดชอบ เช่น การให้เอกชนผู้ผลิตสินค้า/ขายสินค้าที่สร้างขยะต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบกำจัดขยะด้วยตามหลัก Extended Producer Responsibility หรือ การกระจายงบประมาณการกำจัดลงสู่ชุมชน เพื่อจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยขยะมากกว่าครึ่งหนึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน และช่วยลดรายจ่ายค่าจัดการขยะของ กทม. อีกทั้งมีข้อเสนอแนวทางอื่นๆ ได้แก่

สนับสนุนกลุ่มธุรกิจแยกขยะ : โดยให้เข้ามาช่วยในการคัดแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะโดยรวม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ

สนับสนุนการลดขยะ : เช่น การสร้างตู้น้ำดื่มสาธารณะ การใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ

ยกระดับชุมชน : ให้เข้ามาร่วมเก็บและร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการขยะของชุมชน

ปัจจุบันระบบการจัดเก็บขยะของ กทม. เป็นระบบจ้างเหมาจ้างเอกชน 2 รายดำเนินการ ซึ่งต้องไปดูว่าสัญญาผูกมัดไว้อย่างไร ขยะถือเป็นทรัพย์สิน แต่กลับต้องใช้เงินมากกว่า 10% ของบประมาณหรือราว 10,000 ล้านบาท มากำจัดทรัพย์สินนี้ ซึ่งมากกว่าด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุข หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะแก้ไขสัญญาจ้างเก็บขยะ และจะให้มีการแยกขยะ ซึ่งขยะบางประเภทสามารถสร้างรายได้ให้ กทม. และนำไปเป็นบำนาญให้แก่ประชาชนได้ 3,000 บาท

 

  • ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 ในนามอิสระ

กทม. จำเป็นต้องผลักดันการแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยใช้ 3 วิธีในการจัดการกับปัญหาขยะ ได้แก่ ลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด ลดการสร้างขยะ ปรับระบบและค่าธรรมเนียมการเก็บขยะให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริง

ลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด : หากคัดแยกขยะ และลดปริมาณที่ต้องส่งกำจัดปลายทางได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ต่อปี ตลอด 4 ปี เราจะประหยัดเงินภาษีได้อย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้สามารถใช้ในโครงการพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาเร่งด่วนอื่น ๆ ได้ 

อีกทั้ง หากมีการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง รถขยะและพนักงานจะสามารถเก็บขยะได้ในปริมาณที่มากขึ้นในระยะเวลาเท่าเดิม และยังช่วยให้ขยะถูกนำไปจัดการอย่างถูกวิธี ลดภาระด้านงบประมาณและปัญหาสิ่งแวดล้อม

เปิดไอเดียว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." กับนโยบายจัดการ "ปัญหาขยะ" ให้ชาวกรุง

ลดการสร้างขยะ : ออกประกาศและกฎเกณฑ์ งดการใช้โฟม และพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-used plastic) ร้านค้าตามถนนคนเดิน พื้นที่การค้า (หาบเร่ แผงลอย) ให้ใช้วัสดุทางเลือกที่ย่อยสลายได้ 100% สร้างความเข้าใจกับผู้ค้าและผู้บริโภค ทำงานร่วมกับภาควิชาการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพ ราคาถูก

เก็บค่าขยะให้สอดคล้องกับการสร้างขยะ : กทม. มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการเก็บขยะแบบขั้นบันได แต่อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติบางครั้งอาจไม่สอดคล้องกับปริมาณขยะที่ผลิตจริง นอกจากนี้ค่าธรรมเนียมขยะในปัจจุบันที่เก็บได้ยังน้อยกว่าค่าใช้จ่ายจริงอยู่มาก (เก็บได้ 500 กว่าล้านบาท ค่าใช้จ่ายจริงอย่างน้อย 7,000 ล้านบาท)

ดังนั้น กทม. จะต้องเก็บค่าธรรมเนียมขยะตามปริมาณที่เกิดขึ้นจริง โดยหาโมเดลที่จะคำนวณปริมาณขยะได้จริง แล้วทดลองใช้ในพื้นที่นำร่อง เมื่อทำได้จริงก็ขยายผลไปสู่ 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ กทม. สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนได้ครับ

 

  • กฤตชัย พยอมแย้ม ผู้สมัครหมายเลข 29 ในนามพรรคประชากรไทย

ผมจะจัดให้มีแอปพลิเคชันขึ้นมาควบคุมดูแลบริหารจัดการการทิ้งขยะ (เพื่อให้รู้เวลา การจัดเก็บ ปริมาณ และประเภทขยะ ที่จัดเก็บ) และจะดำเนินการดังต่อไปนี้

1. จัดให้มีการแยกขยะในบ้านอย่างจริงจัง

2. จัดให้มีรถเก็บขยะที่แยกขยะได้ครบทุกประเภท และรถต้องมีมาตรฐานควบคุมไม่ให้กลิ่นขยะและน้ำเหม็นจากขยะไปรบกวนตกหล่นบนท้องถนน

เปิดไอเดียว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." กับนโยบายจัดการ "ปัญหาขยะ" ให้ชาวกรุง

3. จัดให้มีรถรับซื้อขยะรีไซเคิล ที่มีมาตราฐาน มีราคากลางในการจัดเก็บ

4. จัดให้มีเตาเผาขยะแบบไร้มลพิษ ขนาดพอเหมาะในแต่ละโซนที่เหมาะสม

5. จัดให้มีโรงงานเผาขยะเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า และผลิตปุ๋ย 4 มุมเมือง

การทำงานทุกอย่างต้องเป็นการร่วมมือระหว่าง กทม. และเอกชน ไม่ใช้ระบบสัมปทาน รายได้ที่ได้จากการดำเนินการจะนำกลับเข้ามาบำรุง กทม. เพราะขยะในปัจจุบันสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาล กทม. ควรจะมีหน่วยงานจัดเก็บขยะเอง ไม่ควรนำสัมปทานมาใช้ เพราะระบบสัมปทานผลประโยชน์จะไปตกแค่นักธุระกิจกลุ่มๆ หนึ่งเท่านั้น

---------------------------------------

อ้างอิง : ภาคีโลก EarthTone, LG and friends, Rocket Media Lab