รู้ก่อน สิ่งที่จะเกิดขึ้น หลัง "โควิด19"เป็น "โรคประจำถิ่น" ถอดหน้ากาก?

รู้ก่อน สิ่งที่จะเกิดขึ้น หลัง "โควิด19"เป็น "โรคประจำถิ่น" ถอดหน้ากาก?

รมช.สธ.ฉายภาพ 6ลักษณะสังคมที่จะเกิดขึ้น หลังโควิด19เป็นโรคประจำถิ่น อยู่ระหว่างหารือปลดล็อกยารักษาในรพ.เอกชน ขณะที่นายกสมาคมรพ.เอกชนระบุยาฟาวิพิราเวียร์-เรมเดซิเวียร์เอาอยู่ ขอให้พบแพทย์เร็ว ส่วนยอดผู้ป่วยเหลือง-แดงเข้ารักษาไม่มากแล้ว

  เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2565 ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึง "ทิศทางและนโยบายของภาครัฐ หลังการประกาศโควิด19เป็นโรคประจำถิ่น"  ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน(The Private Hospital Association) ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ประกาศสิ้นสุดการระบาดของโรคโควิด19 หลังจากที่มีการประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลกเมื่อมี.ค. 2563 เนื่องจาก ยังมีความกังวลเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทยมีการตั้งเป้าหมายเป็นแนวทางให้โควิด19 เป็น โรคประจำถิ่น ในวันที่ 1 ก.ค.2565 ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้ สถานการณ์โควิด19 ในประเทศไทยอยู่ในระยะคงตัวมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นเช่นนี้อีกระยะ อีกทั้ง จากที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการติดตามและเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัส พบว่า การกลายพันธุ์ของโอมิครอนที่รุนแรงขึ้นยังไม่นัยสำคัญ แต่เป็นการกลายพันธุ์แขนงเล็กๆ ไม่มีผลต่อการรุนแรงขึ้นหรือติดเชื้อมากกว่าเดิม 

 นายสาธิต กล่าวอีกว่า ลักษณะของสังคมเมื่อเข้าสู่ระยะ post pandemic ของโควิด19 หรือ โรคประจำถิ่น คือ 1. ยังคงมีเชื้อก่อโรคโควิด19 อยู่และเชื้ออาจมีการกลายพันธุ์ 2.ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง และมีความรู้ในการป้องกันโรคด้วยตนเอง( Universal prevention) 3.สถานประกอบการ สร้างสภาพแวดล้อมที่ลดการแพร่โรค 4.ชุมชนเฝ้าสังเกตเหตุการณ์ผิดปกติและให้การดูแลผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม 5.กระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและ6.สถานพยาบาล เน้นดูแลผู้ป่วยโรคโควิด19 และผู้ป่วยโรคอื่นได้ตามมาตรฐาน

รมช.สธ. กล่าวด้วยว่า ทิศทางและนโยบายด้านสุขภาพ เมื่อโควิด19เป็นโรคประจำถิ่นประกอบด้วย 1.เพิ่มการลงทุนเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้สามารถใช้งานต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ "หมอพร้อม"เป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยมีข้อมูลกว่า 25 ล้านการลงทะเบียน รองจากเป๋าตังค์ อีกทั้ง ครม.กำลังมีการหารือในการดำเนินการแพลตฟอร์มแห่งชาติ ซึ่งมีการอนุมัติกรอบวงเงินแล้ว 7,000 ล้านบาท เพื่อจัดทำข้อมูลกลาง ขณะเดียวกันมีความปลอดภัยของข้อมูลควบคู่ด้วย 

2.เตรียมพร้อมรับมือการระบาดครั้งต่อไปและพัฒนาบุคลากรสหสาขา ทั้งการดูแลโรคปกติ โรคไม่ติดต่อ หรือโรคเรื้อรัง รวมทั้ง อาการLong Covid 3.พัฒนาสุขภาพ สุขภาวะของผู้คนที่ครอบคลุมถึงกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะในเขตเมืองให้ทราบและเข้าถึงบริการสุขภาพได้ตามสทธิ์ มีเทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุน บุคลากรภาครัฐเอกชน ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในด้านสุขภาพ และกลุ่มเปราะบาง ป้องกันโรคด้วยตัวเองได้และได้รับการช่วยเหลือ โดยมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน
4.ยกระดับขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน ชุดตรวจ ย่และเวชภัณฑ์ โดยรัฐ อาจใช้มาตรการทางภาษีส่งเสริมการวิจัยรวมทั้งพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมผลิตยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งในการวิจัยวัคซีนโควิด19 รัฐได้สนับสนุนงบประมาณ และมี 3 ตัวที่ก้างหน้ามาก คือ ขององค์การเภสัชกรรม ใบยา และจุฬา แม้ว่าอาจจะใช้ไม่ทันโควิด19ครั้งนี้ แต่เชื่อว่าอนาคต ประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนได้เอง เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเข้าคิวซื้อวัคซีนเหมือนช่วงที่เจอโควิด19ใหม่ๆ 5.การจัดการขยะทางการแพทย์ระหว่างภาคส่วนต่างๆ เน้นการบริหารจัดการขยะ โดยผู้รับผิดชอบ สถานพยาบาล ท้องถิ่น หน่วยงานสธ. 6.พัฒนากลยุทธ์ในการบูรณาการข้อมูลและ 7.ค้นหา บันทึกและเผยแพร่ตัวอย่างที่ดีรวมทั้งบทเรียนสำคัญในการจัดการกับการระบาดใหญ่อีก

"หลังโควิด19 เป็นโรคประจำถิ่น จะสามารถสร้างโอกาส สร้างรายได้ สร้างงาน และประเทศมีรายได้จากการเก็บภาษีมากขึ้น สำหรับการใช้ยาต่างๆในการรักษาผู้ป่วย อยู่ระหว่างการหารือว่าจะมีการให้ภาคเอกชนดำเนินการได้เองในกลุ่มคนที่มีศักยภาพ ส่วนการผ่อนคลายมาตรการ การปฏิบัติตัว เช่น การถอดหน้ากากอนามัย การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่และสถานการณ์ โดยจะจัดการภายใต้ความแตกต่างที่เหมือนในต่างประเทศ เช่น บางประเทศขณะนี้ ที่มีการผ่อนคลายมาตรการ ก็พบว่า มีทั้งผู้ที่ใส่หน้ากากอนามัย และไม่ใส่ ซึ่งก็ไม่ได้มีการบังคับว่าจะต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกคน หลักการสำคัญ คือ ก้าวข้าม เข้าใจ รู้เท่าทัน และเดินหน้าเศรษฐกิจให้ได้"นายสาธิตกล่าว

ด้านนพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมรพ.เอกชน กล่าวว่า สถานการณ์โวิด19ในรพ.เอกชนมีไม่มาก ผู้ป่วยสีเหลือง แดงจำนวนไม่มากและเตียงมีเพียงพอกันหมด และช่วงหลังโควิด19ในคนหนุ่มสาวที่ไม่ใช่ 608 จะกักตัวอยู่บ้านมากกว่า ส่วนประเทศไทยพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่นแล้วหรือไม่ ต้องติดตามดูสักระยะ ซึ่ง สิ่งสำคัญคือ คนยังฉีดบูสเตอร์ไม่สูง โดยเฉพาะกลุ่ม608 ขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีน
สำหรับการนำเข้ายามารักษาโดยเอกชนนั้น เนื่องจากโควิด19ยังเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงอยู่
เพราะฉะนั้น กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐต่างๆยังต้องรับผิดชอบ ในส่วนของยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ แต่บางคงต้องการได้ยาเร็ว จึงกำลังหากลไกอยู่ เพราะบางคนกลัว ซึ่งประเทศไทยนำเข้ายาราคาต่อคอรส์จะสูง เช่น โมลนูพิราเวียร์ 10,000 บาทต่อคอร์ส แต่ลาวได้รับสิทธิราคา 800 บาทต่อคอร์ส ซึ่งต่างกันมาก จึงอยู่ระหว่างการหากลไก


"ขณะนี้ รพ.เอกชนมียารักษาโควิด คือ ฟาวิพิราเวียร์ และ เรมเดซิเวียร์ คอร์สละประมาณ 1,500 บาท ส่วนโมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด ในอนาคตกำลังหาเกณฑ์ โดยบริษัทนำเข้ายากำลังพยายามขายให้เอกชน แต่ถ้าเอกชนใช้ลงไปต้องมีเกณฑ์ชัดเจน มิเช่นนั้น อาจจะถูกสังคมตำหนิได้ เพราะยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น จึงเป็นสิ่งที่เอกชนระวังอยู่  อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก เพียงยาฟาวิพิราเวียร์และเรมเดซิเวียร์ก็เอาอยู่ แต่ขอให้ไปพบแพมงทย์เร็ว อย่าช้าจนอาการสีเหลืองแล้วลงปอด และบางคนไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้น สิ่งสำคัญสุดของการเป็นโรคประจำถิ่นคืออัตราการฉีดวีคซีนเข็มกระตุ้น"นพ.เฉลิมกล่าว