"แรงงานแพลตฟอร์ม" กลุ่มที่ยังถูกละเลย ดันข้อเสนอ 3 ด้านคุ้มครองในวันแรงงาน

"แรงงานแพลตฟอร์ม" กลุ่มที่ยังถูกละเลย ดันข้อเสนอ 3 ด้านคุ้มครองในวันแรงงาน

สสส.-ภาคีผลักดันข้อเสนอ 3 ด้านคุ้มครองแรงงานนอกระบบ จัดตั้งกองทุนสวัสดิการคนทำงานแพลตฟอร์ม หลังพบ 3 ปัญหาหลักด้านสุขภาพ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ โดยร่วมกับกระทรวงแรงงานในการประเมินสถานการณ์ของแรงงานนอกระบบในปัจจุบัน ที่มีรูปแบบการประกอบอาชีพที่เปลี่ยนแปลงจากในอดีตอย่างมาก จึงได้สนับสนุน ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประเมินสถานการณ์และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ 3 ด้าน 1.ข้อเสนอเชิงนโยบายของงานที่เป็นธรรม (Fair Work) 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ผลักดันการบังคับใช้ข้อตกลงหรือสัญญาที่เป็นธรรม (Fair Agreement), กำหนดและเผยแพร่เกณฑ์มาตรฐานของงานที่เป็นธรรม (Fair Work Standard), ส่งเสริมการให้ความรู้ทางการทำงานและการเงิน (Operational and Financial Literacy) 

2.ข้อเสนอเชิงนโยบายของผลตอบแทนที่เป็นธรรม (Fair Reward) ได้แก่ จัดตั้งกองทุนสวัสดิการคนทำงานแพลตฟอร์ม (Welfare Fund), กำหนดให้มีมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำในรายชั่วโมง (Hourly Wage), กำหนดมาตรการในการปกป้อง คุ้มครอง และดูแลคนทำงานแพลตฟอร์ม หรือแรงงานนอกระบบประเภทอื่น โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในกลุ่มของงานแห่งอนาคต (Protection Measure) และ 3. ข้อเสนอเชิงนโยบายของการแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Competition) ได้แก่ การส่งเสริมธรรมาภิบาลดิจิทัล (Digital Governance) ในการทำงานของแพลตฟอร์ม และการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดแพลตฟอร์มอย่างเป็นธรรม (Market Entry) ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว กระทรวงแรงงานได้รับไปพิจารณาปรับกฎหมายลำดับรอง ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานนอกระบบที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และคาดว่าจะบังคับใช้ในปีหน้าต่อไป

นางภรณี กล่าวต่อว่า กลุ่มแรงงานแพลตฟอร์ม (Plaform Labor) ที่ประกอบอาชีพ “ไรเดอร์” หรือ “พนักงานส่งอาหารหรือพัสดุ” คืออาชีพอิสระที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเป็นทวีคูณในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ สสส. และภาคีเครือข่ายสำรวจข้อมูลสุขภาพของไรเดอร์จำนวน 518 คน จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ พบ 3 ปัญหา ได้แก่ 1.ปัญหาสุขภาพร่างกาย เช่น ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อมือ เนื่องจากขับขี่รถเป็นเวลานาน 2.ปัญหาความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะต้องแข่งกับเวลาในการส่งของ และ 3.ปัญหาสุขภาพจิต ที่เกิดจากความเครียดระหว่างทำงานกับลูกค้า ร้านค้า และสภาพอากาศ และพบร้อยละ 87.5% ไม่มีโรคประจำตัว และร้อยละ 12.5 มีโรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิต ร้อยละ 24.2 ภูมิแพ้ ร้อยละ 19.4 หอบหืด ร้อยละ 6.5 เบาหวาน ร้อยละ 6.5 และ ไขมัน 4.8 ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพไรเดอร์ในระยะยาว

“สถานการณ์ทางสุขภาพของไรเดอร์ ทำให้ สสส. ร่วมกับ บริษัทไลน์แมน วงใน จำกัด เตรียมสร้างให้เกิด “เครือข่ายไรเดอร์สร้างเสริมสุขภาพ” โดยจัดตั้งให้มีแกนนำจากพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างระบบช่วยเหลือดูแลกันเอง พัฒนาคู่มือสร้างเสริมสุขภาพไรเดอร์ และเตรียมพัฒนา Lineman driver application เป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพ จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของไรเดอร์ เช่น คลิปแนะนำวิธีการดูแลตัวเอง หรือออกแบบท่าออกกำลังกายที่ลดอาการปวดเมื่อย, ทำชุดข้อมูลให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจรให้ขับขี่ปลอดภัยเกี่ยวกับประกันชีวิต ประกันภัย ประกันอุบัติเหตุ, ทำแบบประเมินความเครียด ระบายความรู้สึก ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตผ่าน Chat – bot หรือส่งข้อความปรึกษาผู้ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มที่เหมาะสม เพื่อเป็นการผนึกพลังการสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น” นางภรณี กล่าว