จิตแพทย์แนะ คำพูดแบบไหนผู้ปกครองไม่ควรใช้กับลูก

จิตแพทย์แนะ คำพูดแบบไหนผู้ปกครองไม่ควรใช้กับลูก

หลายครั้งที่มีข่าวเกี่ยวการทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตาย หรือปัญหาทางจิตต่าง ๆ ในเด็ก ส่วนหนึ่งนั้นเกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ อย่าง คำพูดจากผู้ปกครอง

หากพูดในมุมของจิตแพทย์ "พญ.ปัทมาพร ทองสุขดี" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อธิบายว่า เรื่องคำพูดที่รุนแรงจนบางครั้งเป็นคำพูดที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ถือว่าเป็นหัวข้อหนึ่งของการทรุณกรรม นั่นก็คือ “การทารุณกรรมทางอารมณ์” ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคนไทยอาจจะรู้จักเพียงแค่การทารุณกรรมทางร่างกายหรือการทารุณกรรมทางเพศ

ซึ่งการทารุณกรรมทางอารมณ์นั้นเกิดขึ้นจากคำพูด หรือกิริยาใด ๆ ที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกด้อยค่าและไม่เป็นที่รัก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคำของผู้ปกครอง ในบางครั้งเวลาสอบถามผู้ปกครองของเด็กว่าใช้คำพูดเหล่านี้ไปเพื่ออะไร ผู้ปกครองมักจะตอบว่าเป็นการตักเตือนสั่งสอน แต่คนฟังนั้นจะจำฝั่งใจว่าตนเองมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาของผู้ปกครองเมื่อฟังคำพูดเหล่านั้นซ้ำ ๆ เพราะฉะนั้นบางครั้งก็อาจจะทำให้เด็กเริ่มไม่อยากเข้าหาคนในครอบครัวหรือผู้ปกครองจนกลายเป็นความห่างเหินของครอบครัวในที่สุด

พญ.ปัทมาพร ยังระบุว่า การสื่อสารถือเป็นเครื่องมือชิ้นแรกที่เด็กและผู้ปกครองใช้เข้าหาซึ่งกันและกัน แต่เมื่อการใช้การสื่อสารไม่ดี พัฒนาการของเด็กในหลาย ๆ ด้านก็จะไม่ดีตามไปด้วย เช่น ในช่วงก่อนวัยเรียนพัฒนาการทางภาษาไม่ดี เด็กไม่พูดต้องพบแพทย์เพื่อทำการกระตุ้นการพูด

พอเริ่มเข้าสู่วัยเรียนเด็กจะเริ่มรู้สึกว่าไม่มีความมั่นใจเพราะเมื่ออยู่กับพ่อแม่ตัวเด็กรู้สึกว่าตนเองไม่ดีมากพอเมื่อเข้าสู่สังคมก็จะทำให้ไม่มีความมั่นใจ เริ่มเก็บตัว

และปัญหาของเด็กเหล่านี้จะเริ่มมองเห็นชัดเมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่กำลังมองหาตัวตนของตัวเองผ่านสายตาคนอื่นที่ไม่ใช่ครอบครัว ถ้าหากคนในครอบครัวพูดกับเขาไม่ดีแต่คนอื่นรอบตัว เช่น เพื่อน เพศตรงข้าม พูดกับเขาดีก็จะทำให้กลายเป็นเด็กติดเพื่อน เพราะกำลังอยู่ในวัยที่มองหาเพื่อนและเพศตรงข้ามซึ่งเป็นตามวัย

ถ้าเขาได้อยู่ในสังคมที่ดีก็ถือว่าเป็นโชคดีของเด็ก แต่ถ้าหากไปอยู่ในสังคมที่ไม่ดีก็จะถูกชักนำไปในทางที่ไม่ดี เช่น เจอเพื่อนที่ไม่ยอมรับทำให้เด็กถูกกีดกันจากเพื่อนอาจจะส่งผลเสียถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หรือเด็กที่ไม่มีความมั่นใจก็จะเริ่มมองหาตัวช่วยก็อาจจะมีปัญหายาเสพติดตามมา หรือปัญหาการคบเพื่อนต่างเพศซึ่งถ้าหากไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมก็จะนำไปสู่ปัญหาท้องก่อนวัยอันควร

นอกจากนี้ พญ.ปัทมาพร กล่าวว่า รูปประโยคหรือชุดคำพูดที่ผู้ปกครองไม่ควรใช้กับเด็กก็คือ คำพูดที่ทำให้รู้สึกว่า “ถูกด้อยค่า” ปัญหานี้ในบางครั้งมาจากวัฒนธรรมไทยในกลุ่มคนรุ่นเก่าที่ยังเชื่อว่าต้องทำให้เด็ก “สำนึก” และ “หลาบจำ” เพราะมองว่าถ้าพูดแล้วเด็กจะไม่ทำอีก

โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า ครูสมัยก่อนเคยพูดว่า โง่เป็นควาย หรือ เรียนไม่ได้ก็ไปตาย ซึ่งเป็นคำพูดที่ ณ ตอนนั้นคนพูดพูดด้วยอารมณ์โกรธ พูดด้วยความตั้งใจจะให้สำนึกในสิ่งที่ทำไม่ถูก แต่คนฟังซึ่งเป็นเด็กนั้นไม่ได้มีใครอยากทำผิด และเด็กทุกคนต้องการคำแนะนำที่เหมาะสม พอเป็นคำแนะนำที่ไม่ก่อประโยชน์ อย่างที่ว่า โง่เป็นควาย แล้วเด็กต้องทำอย่างไรต่อ ทำอย่างไรถึงจะไม่ตกอยู่ในสภาวะนี้

ดังนั้นคำพูดที่เป็นการด้อยค่า ทำให้รู้สึกไม่เป็นที่รักนั้นผู้ปกครองไม่ควรใช้กับเด็กโดยสิ้นเชิง หรืออย่างเช่นเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น โดยการบอกว่าลูกคนอื่นเรียนเก่งกว่าก็ถือว่าเป็นการด้อยค่าเช่นเดียวกัน ซึ่งเด็กบางคนก็สะท้อนอารมณ์ตัวเองกลับว่า “แล้วทำไมแม่ไม่เอาลูกคนนั้นมาเป็นลูกตัวเอง” ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความน้อยใจของเด็ก

สำหรับการแก้ปัญหาเหล่านี้ควรเน้นไปที่การสื่อสารที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่สื่อสารเพื่อให้ตนเองสะใจ หรือดุลูกเพื่อให้ตัวเองหายโกรธ ซึ่งทั้งหมดเป็นการพูดเพื่อระบายอารมณ์ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับคนฟัง คนฟังจะจับใจความได้แค่ว่า คุณไม่พอใจ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร

การสื่อสารที่ดีนั้นต้องตรงประเด็น เข้าใจ แนะนำวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง สอนเด็กอย่างใจเย็น สื่อสารด้วยน้ำเสียงที่ชวนฟังห่วงใย หรือแม้แต่ในวันที่เขาไม่ได้ทำผิดก็ควรมีการให้กำลังใจและเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของเด็กด้วย "ผู้ใหญ่หลายคนยังมีความคิดว่าเด็กยังมีความคิดเป็นเด็กต้องสั่งสอน แต่ไม่เคยเปิดใจรับฟังความคิดของเด็ก ซึ่งผู้ปกครองควรรับฟังเด็กบ้าง" พญ.ปัทมาพร กล่าว