จากกรณี "ปริญญ์ พานิชภักดิ์" ชวนรู้คดีอนาจาร-ข่มขืน "อายุความ" นานแค่ไหน?

จากกรณี "ปริญญ์ พานิชภักดิ์" ชวนรู้คดีอนาจาร-ข่มขืน "อายุความ" นานแค่ไหน?

ผู้เสียหายจากกรณี "ปริญญ์ พานิชภักดิ์" ออกมาร้องทุกข์แจ้งความเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่บางเคสพบว่าเหตุการณ์​เกิดมานานแล้ว อาจไม่มีผลในการดำเนินคดี ชวนรู้ "อายุความ" ในคดีอนาจาร-ข่มขืน มีระยะเวลานานแค่ไหน?

จากกรณี "ปริญญ์ พานิชภักดิ์" ผู้ถูกกล่าวหาในคดีอนาจารและข่มขืนกระทำชำเรา ที่มีผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์จำนวนมาก แต่ผู้เสียหายบางรายระบุว่าเกิดเหตุเมื่อนานมาแล้ว จึงทำให้หลายคนที่ติดตามข่าวนี้อาจมีข้อสงสัยว่า คดีลักษณะนี้ยอมความได้หรือไม่? และมี "อายุความ" นานแค่ไหน?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปหาคำตอบเรื่องนี้พร้อมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1. คดีข่มขืน-อนาจาร มีบทลงโทษอย่างไร?

ตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 276 - 287/2 ระบุไว้ว่า

  • คดีข่มขืนกระทำชำเรา

มาตรา 276 : ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000 - 400,000 บาท

  • คดีกระทำอนาจาร

มาตรา 278 : ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุมากกว่า 15 ปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

2. คดีอนาจาร-ข่มขืน มี "อายุความ" นานแค่ไหน?

มีข้อมูลจาก "ทนายดีเลิศ อ้อวิจิตร" โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยได้อธิบายเกี่ยวกับ "อายุความ" ในคดีอดีตรองหัวหน้าพรรคข่มขืน, กระทำอนาจารหญิงสาว เอาไว้ว่า

  • กรณีถูกข่มขืนในห้องสองต่อสอง

หากหญิงสาวถูกข่มขืนหรือถูกทำอนาจารในห้อง ซึ่งอยู่กันสองต่อสอง จะไม่เป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล จะเป็นความผิดอันยอมความได้ มีอายุความ 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด (คือต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือฟ้องศาลภายใน 3 เดือน) ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 281

ดังนั้น ผู้เสียหายที่อ้างว่าถูกข่มขืนในห้อง 2 ต่อ 2 มาเป็นปีๆ แล้ว จะเอาผิดอดีตรองหัวหน้าพรรคข้อหาข่มขืนไม่ได้ เนื่องจากคดีขาดอายุความ แต่สามารถเอาผิดในข้อหา "อนาจาร" ตามมาตรา 284 อายุความ 15 ปี ได้

  • กรณีถูกทำอนาจารต่อหน้าธารกำนัล

กรณีหญิงสาวถูกอนาจารในร้านอาหาร หรือบริเวณลานจอดรถ จะเป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล จึงไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ มีอายุความ 15 ปี

ดังนั้น คดีนี้จึงยังไม่หมดอายุความทุกเคส เคสที่ถูกอนาจารต่อหน้าธารกำนัลน่าจะยังไม่หมดอายุความ ผู้เสียหายไม่ต้องกลัวถูกฟ้องกลับว่าแจ้งความเท็จ ขอให้พูดความจริงทุกอย่าง ทนายผู้เสียหายก็ต้องหาพยานหลักฐานให้มีน้ำหนักมากพอที่ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดได้

จากกรณี \"ปริญญ์ พานิชภักดิ์\" ชวนรู้คดีอนาจาร-ข่มขืน \"อายุความ\" นานแค่ไหน?

 

3. วิธีเอาตัวรอดจากการ "คุกคามทางเพศ"

สิ่งแรกที่ควรทำคือการตั้งสติ เป็นวิธีเบื้องต้นที่ช่วยให้รับมือการเหตุการณ์คุกคามทางเพศได้ดีขึ้น และตระหนักไว้เสมอว่าความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จากนั้นให้พยายามหลบออกจากสถานการณ์นั้นโดยเร็ว 

  • หากเป็นคุกคามด้วยคำพูด สายตา ต้องไม่สนใจการกระทำเหล่านั้น ยิ่งเหยื่อแสดงอาการตกใจหรือกลัว ก็ยิ่งทำให้ผู้กระทำรู้สึกชอบใจ
  • ไปหาตำรวจ พนักงานรักษาความปลอดภัย หรือไปในที่ที่มีคนอยู่เยอะ
  • แกล้งทำเป็นพูดคุยกับคนที่อยู่ในบริเวณนั้น หรือคุยโทรศัพท์ เพื่อให้ผู้คุกคามเกิดความกลัวและหยุดพฤติกรรม
  • หากมีการร้องขอสิ่งใดหรือนัดเจอ ควรปฏิเสธและจบการสนทนาแค่นั้น
  • บันทึกภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียง ข้อความ และข้อมูลของผู้คุกคามเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการแจ้งความ
  • ดำเนินการแจ้งตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงเหตุการณ์ที่ที่เกิดขึ้น 

อ่านต่อ : ผู้หญิงต้องรู้! วิธีรับมือ Sexual Harassment หากถูก "ลวนลาม" แบบไม่คาดคิด

---------------------------------------------

อ้างอิง : ทนายดีเลิศ อ้อวิจิตรสำนักงานกิจการยุติธรรม, สถาบันนิติธรรมาลัย