“สกาย ไอซีที” มองข้ามช็อต 5 ปี ทรานฟอร์มสู่ ‘เทคคอมพานี’

“สกาย ไอซีที” มองข้ามช็อต 5 ปี ทรานฟอร์มสู่ ‘เทคคอมพานี’

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ส่งผลให้หลายธุรกิจดำเนินไปด้วยความยากลำบาก ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกันถ้วนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ในภาวะวิกฤติหลายธุรกิจ มองเป็นโอกาส

“สิทธิเดช มัยลาภ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ผู้นำการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัย ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระดับประเทศ ได้มองข้ามช็อตมุ่ง “ทรานฟอร์มเมชั่นธุรกิจ” ก้าวเข้าสู่ “ภาคเอกชน” อย่างเต็มตัวในปี 2564 ชูจุดแข็งในการเป็นผู้ให้บริการทางด้าน “สมาร์ทซิเคียวริตี้” (Smart Security) ครบวงจร

“สิทธิเดช” กล่าวว่า ปีหน้าพร้อมมุ่งขยายตลาดสมาร์ทซีเคียวริตี้ เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็น “คอนโดมิเนียมไฮไรส์ในทำเลโดดเด่นใจกลางพื้นที่กรุงเทพฯ หรือ CBD ” ด้วยการนำโซลูชั่นบริการและดิจิทัลแฟลตฟอร์มทางด้านการรักษาความปลอดภัยมาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจให้กับลูกค้า วางเป้าหมายปีแรกไม่ต่ำกว่า 100 โครงการ หรือสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

“เราเน้นการให้บริการสมาร์ทซิเคียวริตี้ครบวงจรทั้งออกแบบและติดตั้งระบบต่างๆ รวมถึงแฟลตฟอร์มดิจิทัลให้ใช้งานได้สะดวก โดยให้บริการแบบรายเดือน เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในภาวะหลังโควิด-19 ให้ Property Developer ไม่ต้องจ่ายเงินก้อนเดียวในครั้งแรก แต่จ่ายเป็นค่าบริการระยะเวลา 3 ปี หรือจ่ายเพียงเดือนละหลักแสนบาท จากปกติการวางระบบนี้ใช้เงินลงทุนสูงราว 10-30 ล้านบาทต่อพื้นที่”

ขณะเดียวกันแนวโน้ม “ตลาดซิเคียวริตี้” ในไทยยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาทหรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ทุกปี และเติบโตอย่างรวดเร็วจากการนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความต้องการด้านนี้ให้เป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน กลุ่มสมาร์ทซิเคียวริตี้มีถึง 7 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ คอนโดมิเนียม หมู่บ้าน อาคารสำนักงาน โรงงาน ธุรกิจค้าปลีก โรงแรม โรงพยาบาล ซึ่งพร้อมที่จะขยายการให้บริการเต็มรูปแบบตอบโจทย์ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายเช่นกัน

 

 @ปรับโมเดลเพิ่มงานเอกชน

หนุนรายได้-กำไรโตก้าวกระโดด

สำหรับการปรับโมเดลธุรกิจขยายสู่งานภาคเอกชนมากขึ้นตั้งเป้าหมายภายในระยะเวลา 5 ปี (2563-2567) จะสร้างรายได้เติบโตมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีโครงสร้างรายได้กระจายเข้าสู่งานภาคเอกชนมากขึ้น คาดว่ามีสัดส่วน 50% ประกอบด้วยธุรกิจดิจิทัลแฟลตฟอร์มและสมาร์ทซิเคียวริตี้ ส่วนรายได้จากโครงการภาครัฐจะลดลงมาอยู่ที่ราว 50% จากปัจจุบันอยู่เกือบ 90%

ทั้งนี้ การขยายงานเอกชนในลักษณะดังกล่าว มองว่า ทำให้บริษัทมีการรับรู้รายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนในระยะเวลา 3 ปี ต่อโครงการ สร้างความสามารถในการทำกำไรอย่างยั่งยืน และช่วยการบริหารความเสี่ยงจากงานภาครัฐที่บางปีอาจชะลอการลงทุน

 รวมถึงคาดว่าภาวะเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวในระดับปกติ โดยเฉพาะการเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวกลับมาเดินทาง ธุรกิจสนามบินได้ประโยชน์โดยตรง  ซึ่งในปีนี้เข้าลงทุนในบริษัท เอสเอแอล กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ SAL จะกลับมามีรายได้เติบโตโดดเด่น และสร้างความสามารถทำกำไรเติบโตต่อเนื่อง

 “รายได้ปี 2564 คาดว่าจะเติบโต 10% จากปีนี้ แต่ในปี 2565 คาดรายได้จะเติบโตเพิ่มเป็น 20% และหลังจากปี 2565 รายได้ของบริษัทจะกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนเช่นในอดีตปี2562 มีรายได้ 3.96 พันล้านบาท เติบโต 300% จากปี 2561”

พร้อมกันนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสเข้าลงทุนใหม่ๆ ในปีหน้า เพื่อสร้างการเติบโตรายได้และกำไรที่ยั่งยืน ทั้งรูปแบบ M&A หรือเป็นพาร์ทเนอร์ ที่สามารถมาช่วยเสริมอีโคซิเต็มส์ด้านซิเคียวริตี้ หรือ Travel Tech รวมถึงการลงทุนต่อยอดในดิจิทัลแพลตฟอร์มของกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคหลังโควิด-19 ได้ โดยในแต่ละปีใช้งบลงทุนหลายร้อยล้านบาท

ส่วนผลการดำเนินงานปี 2563 คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท โดยช่วง 9 เดือนแรก 2563 มีรายได้รวม 2.51พันล้านบาท และในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งมอบงานภาครัฐที่ทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ 3 โครงการหลัก ได้แก่ การจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง USO2, โครงการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อควบคุมการตรวจคนเข้าเมือง ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และรายได้จากการให้บริการระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Passenger Processing System : CUPPS) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นอกจากงานด้านบริการที่ทยอยรับรู้รายได้มาโดยตลอด

สำหรับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน บริษัทเข้าประมูลและเซ็นสัญญาไปค่อนข้างมากมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ช่วง 5-10ปี และในช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ บริษัทยังมีงานภาครัฐ 1 โครงการที่ชนะประมูลและรอเซ็นสัญญาในสัปดาห์นี้ อยู่ที่ 300 กว่าล้านบาท เริ่มรับรู้รายได้ปีหน้า และอีก 1 โครงการใหญ่ มีมูลค่า 7 พันล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการประมูล น่าจะประกาศผลในเดือนธ.ค.นี้ เริ่มรับรู้รายได้ปีหน้า หากสามารถชนะงานนี้ จะเป็นอีกงานหนุนรายได้และกำไรอีกด้วย