“โฮมฮัก คนรักศรีไค” เพราะครอบครัวอบอุ่นในวันนี้ สร้างเด็กดีได้ทุกวัน

“โฮมฮัก คนรักศรีไค”  เพราะครอบครัวอบอุ่นในวันนี้ สร้างเด็กดีได้ทุกวัน

 

หลังโลกกำลังเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีมีบทบาทและครอบงำชีวิตเรามากขึ้น บุคคลที่ดูจะถูกล่อลวงได้มากที่สุด คงไม่พ้น “เด็กๆ และเยาวชน” ที่เป็นลูกหลานของเรา

แม้เทคโนโลยีไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้เด็กไทยวันนี้ มีช่องว่างหรือ “ระยะห่าง” จากครอบครัว หรือผู้ใหญ่ แต่ก็เป็นประเด็นหลักของสังคมที่มิอาจมองข้ามได้ เพราะความจริงที่ว่า เทคโนโลยีและความเจริญญที่คืบคลานไปทุกหย่อมหญ้าในวันนี้ ทำให้ “ชนบท” ไม่ได้คงความเป็นชนบทในนิยามเดิมๆ อีกต่อไป แต่กำลังปรับเปลี่ยนไปมีสภาพสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบทมากขึ้น

“โฮมฮัก คนรักศรีไค”  เพราะครอบครัวอบอุ่นในวันนี้ สร้างเด็กดีได้ทุกวัน

ในโอกาสที่พรุ่งนี้จะเป็นวันเด็ก ลองพูดคุยถึงสถานการณ์ที่เด็กๆ ในวันนี้ต้องเผชิญกันดีกว่า

เรื่องนี้บอกเล่าโดย ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลถึงการวิจัยระดับประเทศรอบล่าสุดที่ทาง สสส.สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมหิดลให้สำรวจสถานการณ์ครอบครัว เด็กและเยาวชนทั่วประเทศ โดยเธอบอกว่า สิ่งหนึ่งที่พบว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กเติบโตมีศักยภาพได้ดี นั้นประกอบด้วย 2 ส่วน

“ที่โรงเรียนเราพบว่าถ้าโรงเรียนมีกิจกรรมเรียนรู้นอกห้องเรียนเยอะๆ  มากกว่าการท่องจำในห้องเรียน เด็กจะมีความฉลาด มีทักษะในศตวรรษที่ 21 เป็นคนคิดวิเคราะห์ มีความเป็นผู้นำและมั่นใจตัวเอง” ณัฐยากล่าว

“แต่หากกลับมาดูที่ครอบครัว จากการศึกษาครอบครัวหลายรูปแบบ ครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวขยาย ครอบครัวมีรายได้น้อย ปานกลางและสูง เราพบว่าถ้าเด็กๆ มาจากครอบครัวที่มีสัมพันธภาพที่ดีมีความอบอุ่นเป็นบ้านที่สงบ ไม่ใช้ความรุนแรงหรือไม่ทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว  ปรากฏว่าเด็กมีความเข้มแข็งค่อนข้างมาก เขายังมีความยับยั้งชั่งใจ ดูแลตัวเองได้ดี ที่สำคัญเราพบว่าเรื่องนี้ฐานะไม่เกี่ยว ระดับการศึกษาของผู้เลี้ยงดูก็ไม่เกี่ยว”

ข้อค้นพบดังกล่าวทำให้ สสส.มั่นใจว่า สิ่งที่จะส่งเสริมอนาคตของชาติให้เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพได้ดีที่สุดนั้น คงต้องเริ่มนับหนึ่งกันที่รากฐานแรกสุดนั่นคือ “ครอบครัว” ซึ่งอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่ สสส.เชื่อมั่นคือการปูพื้นฐานความแข็งแรงในครอบครัว

“ตอนนี้เราเจอว่าเด็กไทยส่วนใหญ่มีปัญหาด้านพัฒนาการทางภาษาล่าช้า ซึ่งกรณีนี้แบบนี้ พอคุยกับผู้ปกครองที่บ้านจะพบปัจจัยหนึ่งร่วมกันคือ การใช้เวลาอยู่กับมือถือมาตั้งแต่เด็กๆ พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องทำงาน จะซื้อแท็บเล็ตเพื่อคุยกับลูก เราจึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องการตัวช่วย ซึ่งเราต้องย้อนกลับมาสิ่งที่มนุษย์มีและหุ่นยนต์ไม่มี นั่นคือฐานใจและความอบอุ่นในครอบครัวจะเป็นฐานสำคัญ”

“โฮมฮัก คนรักศรีไค”  เพราะครอบครัวอบอุ่นในวันนี้ สร้างเด็กดีได้ทุกวัน

ปัจจุบัน สสส.จึงขับเคลื่อนโครงการในครอบครัวหลากหลายกลุ่ม เพราะเชื่อว่าในแต่ละชุมชนล้วนต้องมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ ทั้งรูปแบบสังคมเมือง และสังคมชนบทกึ่งเมือง ที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในสังคมไทย

เช่นเดียวกับที่ “ศรีไค” ตำบลไม่ใหญ่ไม่เล็กที่ประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน และ 1,488 ครัวเรือน ในอำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี

เพราะเผชิญความเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบทไม่ต่างจากที่อื่น ทำให้ลักษณะครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว และยังส่งผลให้สังคมต่างคนต่างอยู่ พ่อแม่ส่วนใหญ่ทำงานไม่มีเวลาให้ลูกมากนัก เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน

ด้วยบริบทพื้นที่ดังกล่าวทำให้เริ่มมีปัญหาสัมพันธภาพระหว่างครอบครัว นำมาซึ่งปัญหาระดับชุมชนและสังคม

แต่วันนี้ ศรีไคยังมีกลุ่ม “ผู้ใหญ่ใจดี” ที่แข็งขันพอและมองเห็นความสำคัญในการปลุกพลังและศักยภาพพลเมืองรุ่นใหม่ของพวกเขา การขับเคลื่อน “โครงการพัฒนาพื้นที่ครอบครัวอบอุ่นต้นแบบที่ตำบลเมืองศรีไค” หรือที่กลายเป็น “โฮมฮัก” จึงเกิดขึ้นและยังได้รับโอกาสให้เป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศ

“ที่เราเลือกศรีไคเพราะเป็นโมเดลของชุมชนที่กำลังเกิดขึ้นปัจจุบันจริง คือเป็นชุมชนชนบทกึ่งเมือง เราอยากให้ศรีไคเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ เชื่อว่าม่ใช่แค่ สสส.อยากเห็น แต่เชื่อว่าคนไทยอยากเห็นสังคมเราเป็นแบบนี้” ณัฐยาเอ่ย

ด้าน ผศ.ดร. สุรีย์ ธรรมิกบวร จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญผู้ทำให้เกิดโครงการนี้ บอกเล่าถึงที่มาก่อนจะเป็น “ศรีไค โฮมฮัก” ในวันนี้ว่า

“ศรีไคเป็นพื้นที่ที่เราเคยทำงาน ด้านผู้สูงอายุ แต่เราก็เห็นศักยภาพของพื้นที่ เราทำวิจัยนำไปก่อน มองหาจุดอ่อนจุดแข็ง ในส่วนจุดอ่อนเราเสริมศูนย์พัฒนาครอบครัว ซึ่งเป็นโครงหลักในระบบอยู่แล้วแต่ยังไม่เข้มแข็ง”

โดยฝ่ายวิชาการมีการถ่ายทอด 6 หลักสูตรในการพัฒนาคนทำงานในพื้นที่

“ เพราะเขาต้องคิดโครงการหรือนวัตกรรมเอง ในพื้นที่เขา เรามีหน้าที่เสริม ตั้งแต่พัฒนาการครอบครัว สอนการสื่อสาร ประเด็นปัญหาโลกออนไลน์มีอยู่แล้ว เราต้องไม่ไปห้ามเขาแต่พยายามพูดคุยสื่อสารหรือชวนทำกิจกรรม เน้นการฟัง สอนวิธีคิดเชิงออกแบบ รวมถึงเรื่องการพัฒนาวินัยเชิงบวกด้วย EF”

ผศ.ดร.สุรีย์ กล่าวต่อว่า เพราะเรื่องสำคัญสุดคือสัมพันธภาพในครอบครัว ที่จำเป็นต้องมีการสร้างให้เขามีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เพื่อให้เด็กกล้าพูดคุย เข้าหาผู้ใหญ่

“ เมื่อก่อนเราคิดว่าในพื้นที่ชนบทยังเป็นสังคมที่ทุกคนรู้จักกัน ลูกหลานจะรู้จักผู้ใหญ่ ความจริงไม่ใช่เลยนะ จริงๆ วิธีสร้างมันเป็นจุดเล็กๆ นิดเดียว เพียงแค่ 30 นาทีคุยกันต่อวัน   หรือในหนึ่งสัปดาห์เรามีเวลาคุยกัน ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ไม่ว่าจะออกกำลังกายร่วมกัน ดูหนังสือ หรือทำสวน แล้วมันจะต่อกันติด”

ดวงพร ธานี แกนนำชุมชนศรีไค ที่นอกจากการเป็นจิตอาสาในโครงการนี้ เธอยังรับบทบาทเป็นแม่ของลูกสาววัยรุ่น เอ่ยถึงโครงการนี้ว่า

“โครงการเริ่มจาก ผศ.ดร. สุรีย์ มาชวนเราว่าจะทำโครงการพัฒนาพื้นที่ครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มีกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้สูงอายุ เด็ก ครอบครัวในพื้นที่ ซึ่งท่านอาจารย์มองว่าเรามีเครือข่ายสตรีในทุกหมู่บ้าน เลยอยากให้เรามาทีมขับเคลื่อนในชุมชน” ดวงพรอธิบาย

หลังเรียกประชุมกับตัวแทนสตรีเครือข่ายประชุมหลายรอบจนตกผลึก โจทย์คือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ให้เด็กกับผู้ใหญ่มาเชื่อมกัน ผลสรุปได้ว่าจะจัดกิจกรรมสอนทักษะอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน โดยการใช้กระบวนการตรงนี้เป็นเครื่องมือสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและเยาวชน กับผู้ใหญ่ในชุมชน โดยมอบหมายให้เครือข่ายไปชวนลูกๆ หลานๆ ของตัวเอง ซึ่งก่อนหน้านี้แทบไม่รู้จักหรือไม่เคยคุยกัน

“โฮมฮัก คนรักศรีไค”  เพราะครอบครัวอบอุ่นในวันนี้ สร้างเด็กดีได้ทุกวัน

กิจกรรมแรกของโครงการที่ทำเคือหรียญโปรยทาน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเด็กยังกล้าๆ กลัวๆ ไม่คุยกับผู้ใหญ่ 

“แต่ครั้งที่สอง เราสอนทำขนมเทียน เพราะเป็นภูมิปัญญาที่แม่ๆ มีความรู้ตรงนี้อยู่แล้ว ทั้งสอนวิธีทำ ซึ่งระยะเวลาสองวันที่ทำ ทุกคนเริ่มคุ้นเคยกันมากขึ้น มีการทำกับข้าวร่วมกัน ตำส้มตำกินกันเอง ต่อมาเราคิดว่า เราชวนแต่เด็กมาทำ ทำไมเราไม่ถามเขาบ้างว่าเขาอยากทำอะไร พอถามเด็กๆ เขาอยากปั่นจักรยานชมแปลงเกษตรที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี”

ผลพวงจากกิจกรรมการปั่นจักรยานในวันนั้นมีทั้งกลุ่มเด็กๆ ในชุมชน ทีมแม่ๆ และผู้นำชุมชน รวมกันประมาณ 30 กว่าคน มาร่วมกัน นอกจากเด็กได้ความรู้แล้วและสนุกสนานแล้ว ยังได้ละลายพฤติกรรม เชื่อมความสัมพันธ์ให้ทุกคนเริ่มสนิทกันมากขึ้น ท้ายสุดเด็กๆ เริ่มพฤติกรรมเปลี่ยนไป เป็นต้นว่าเป็นครั้งแรกที่เข้ามาสวัสดีทักทายผู้ใหญ่ก่อน

ต่อมา เมื่อเห็นว่ากิจกรรมต่างๆ ได้ประโยชน์ทั้งต่อเด็กและชุมชนจริง ดวงพรและคณะทำงานจึงเดินหน้าขับเคลื่อนการก่อตั้งสภาเด็กของหมู่บ้านขึ้น เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนรู้จักบริหารจัดการกิจกรรมกันเอง สร้างวินัยเชิงบวก โดยได้ทีมพี่เลี้ยงเยาวชนในหมู่บ้าน เข้ามาหนุนเสริมร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมสันทนาการให้กับน้องๆ อาทิ ช่วยสอนการบ้าน พาไปทำงานพิเศษ และยังได้รับงบจากกองทุนหมู่บ้าน มาทำแปลงปลูกผักอินทรีย์ไปขายเพื่อนำเงินเข้ากองทุน

มาฟังเสียงสะท้อนจากเยาวชนบ้านศรีไคกันบ้าง ชลธิดา โชติทอง ประธานสภาเด็กเมืองศรีไคที่เล่าถึงสภาพชุมชนที่เปลี่ยนไป

“ตอนนี้เปลี่ยนไปมากค่ะ เมื่อก่อนไม่มีสภาฯ ก็อยู่ใครอยู่มัน ส่วนใหญ่อยู่บ้านไม่ได้ทำอะไรมาก แม่ไม่ค่อยให้ออกจากบ้าน ก็เลยเล่นแต่มือถือ แต่พอมีโครงการนี้หนูก็ใช้เวลาอยู่กับคนอื่นมากขึ้น ทั้งสมาชิกในสภาเด็ก พ่อแม่ ครอบครัว ถามว่าชอบไหม หนูชอบมากนะ เวลามีโครงการอะไร ก็ประชุมพี่ๆ เขาก็จะเรียกประชุมผู้ปกครองว่าจะทำแบบนี้ดีไหมมาช่วยกันคิดกันทำ”

“โฮมฮัก คนรักศรีไค”  เพราะครอบครัวอบอุ่นในวันนี้ สร้างเด็กดีได้ทุกวัน

ด้าน ยุภาวดี พันธ์วงศ์ อีกหนึ่งเยาวชนที่กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า

“ดีใจที่มีโครงการนี้ เพราะมีเพื่อนเยอะขึ้นมาก เรารู้จักกันมากขึ้น สำหรับหนูชอบทุกกิจกรรมที่ทำ แต่ที่ชอบที่สุดตั้งแต่ทำมาคือปั่นจักรยานชมสวนเกษตรใน ม.อุบลราชธานี ไปกับผู้ใหญ่ เราได้ความรู้เอามาปลูกผักปลอดสาร พอเอาไปขายหารายได้เพิ่มแล้วเอาเงินมาฝากเข้าธนาคาร”

ยุภาวดีเล่าต่อว่า ทุกวันนี้เธอและเพื่อนในสภาเด็กฯ ใช้เวลาหลังเลิกเรียน ตอนพักเที่ยง มาปลูกผัก ส่วนเสาร์อาทิตย์ก็ทำกิจกรรมที่คิดกันเอง บางสัปดาห์พี่ๆ ก็มาช่วยสอน

“หนูไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า จริงๆ แล้ว เราจะทำอะไรได้เยอะขนาดนี้ค่ะ”