ครอบครัว “พัธโนทัย” ตำนานเชื่อมความสัมพันธ์ จีน-ไทย

ครอบครัว “พัธโนทัย” ตำนานเชื่อมความสัมพันธ์ จีน-ไทย

เรื่องราวของเด็กหญิงไทยคนหนึ่งที่กลายมาเป็นบุตรบุญธรรมของนายกฯ โจว เอินไหล โดย Wang Fengjuan, Shi Guang

อาคารสองชั้นสีขาวแบบสมัยใหม่แห่งหนึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของแนวอาคารบ้านเรือนย่านหนึ่งในกรุงเทพฯ ด้านตะวันออกของอาคารคือสระว่ายน้ำขนาดกลาง เลยขึ้นไปเป็นอาคารแบบไทยแท้ที่สร้างจากไม้สักอายุกว่า 100 ปี การตกแต่งภายในของอาคารหลักให้สัมผัสของความเป็นจีนอย่างเด่นชัด ด้วยเครื่องเคลือบพอร์ซเลนจากจีนที่วางอยู่บนชั้นโชว์สไตล์โบราณกว้าง สามเมตร ภาพตัวอักษรจีนและภาพเขียนจีนที่แขวนเรียงรายอยู่บนผนัง เคียงคู่กับหลายๆ ภาพของครอบครัวหนึ่งที่ถ่ายกับ โจว เอินไหล, เติ้ง อิ่งเชา, เหลียวเฉิงจื้อ, วู ยี, เฮนรี คิสซิงเกอร์ และบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกหลายท่าน

ครอบครัว “พัธโนทัย” ตำนานเชื่อมความสัมพันธ์ จีน-ไทย

สิรินทร์ พัธโนทัย

เจ้าของอาคารหลังนี้เป็นบุคคลอันเป็นตำนานที่รู้จักกันในนาม “เจ้าหญิงไทยที่อยู่หลังแนวกำแพงสีแดงอันกว้างใหญ่ในปักกิ่ง” “บุตรสาวชาวไทยในอุปการะของโจว เอินไหล” และ “ทูตเชื่อมสัมพันธไมตรี จีน-ไทย” ชื่อของเธอคือ “สิรินทร์ พัธโนทัย” หรือ “ชาง หยวน”

“ฉันเติบโตขึ้นมาโดยใช้เวลากับ นายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล เป็นเวลา 14 ปี มากกว่าเวลาที่เคยอยู่กับพ่อแท้ๆ ซะอีก” ชาง หยวน เล่าด้วยภาษาจีนกลาง สำเนียงแมนดาริน “นายกฯ โจว ปฏิบัติกับฉันเหมือนฉันเป็นลูกสาวแท้ๆ ของท่าน” ชาง หยวน ที่แม้จะอยูในวัย 70 กว่าๆ แล้ว เล่าถึงเรื่องราวในอดีตด้วยตาเป็นประกาย

เรื่องราวของสิรินทร์ในประเทศจีนมีจุดเริ่มต้นจากการประชุมบันดุง (Bandung Conference) ในปี 2498

การเดินทางที่เปลี่ยนชีวิต

ในช่วงทศวรรษที่ 50 สังข์ พัธโนทัย บิดาของสิรินทร์ เป็นหัวหน้าที่ปรึกษาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อตั้งขึ้นในปี 2492 เขาได้เล็งเห็นว่า “มังกรแห่งตะวันออก” กำลังจะตื่นขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการทูตของประเทศไทย เขาแนะนำให้นายกรัฐมนตรีไทยเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำสูงสุดของจีน ในปี 2498 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเข้าร่วมการประชุมบันดุง ในฐานะผู้สังเกตการณ์ และทรงพบกับนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล แห่งประเทศจีนในที่ประชุม ซึ่งทำให้พระองค์ทรงรับรู้ถึงสถานะของจีนผ่านท่าทีและการปฏิบัติของโจว เอินไหล โดยตรง เมื่อเสด็จฯ กลับประเทศไทย พระองค์ได้ตรัสว่า “โจวไม่ใช่ผู้ร้าย แต่เป็นสุภาพบุรุษชาวจีนและนักการทูตที่ฉลาดหลักแหลม” นับแต่นั้นมา สังข์ ได้มีจดหมายโต้ตอบกับนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล อย่างสม่ำเสมอ ผ่านช่องทางการสื่อสารอย่างลับๆ กับรัฐบาลจีน

เพื่อแสดงความเป็นมิตรไมตรีที่ไทยมีต่อประเทศจีน สังข์ จึงได้ตัดสินใจส่งลูกๆ ของเขา (สิรินทร์ อายุ 8 ปี และพี่ชาย อายุ 12 ปี) ไปอยู่กับผู้นำจีนที่ปักกิ่ง โดยเดินทางผ่านเมียนมาและยูนนาน สิรินทร์ ยอมรับว่า “ฉันไม่ได้ตระหนักถึงความจริงจังของสถานการณ์ในขณะนั้น แค่ตื่นเต้นว่าจะได้ขึ้นเครื่องบินไปพร้อมๆ กับพี่ชาย และไม่ต้องไปโรงเรียนเป็นเวลาหนึ่งเดือน” เธอไม่เคยคิดว่าจะต้องอยู่ที่ปักกิ่งนานถึง 14 ปี

เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กๆ จะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด นายกฯ โจว เอินไหล ได้มอบหมายให้ เหลียวเฉิงจื้อ ซึ่งเป็นผู้นำระดับอาวุโสคนหนึ่งของรัฐบาลจีนที่ดูแลกิจการต่างประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบหน้าที่นี้ เหอ เซียงหนิง ซึ่งเป็นแม่ของ เหลียวเฉิงจื้อ เป็นผู้ตั้งชื่อภาษาจีนให้กับพี่ชายและน้องสาวชาวไทยคู่นี้ว่า “ชาง ห่วย” และ “ชางหยวน” ตามลำดับ โดยยึดการออกเสียงชื่อภาษาไทยของทั้งสองเป็นหลัก ทั้งสองได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา รวมทั้งอุดมศึกษาในปักกิ่ง ในฐานะนักเรียนต่างชาติ และมีเพื่อนชาวจีนเป็นจำนวนมาก

เมื่อสิรินทร์มาถึงปักกิ่งเป็นครั้งแรก เธอรู้สึกว่าอาหารท้องถิ่นช่างแปลกประหลาด นายกฯ  โจว เอินไหล ได้พาเด็กๆ มายังร้านอาหารท้องถิ่นที่เสิร์ฟเป็ดปักกิ่ง “ฉันหวังว่าพวกเธอจะเป็นทูตเชื่อมสัมพันธไมตรีจีน-ไทยนะ” นายกฯ กล่าว สิรินทร์ ใช้ภาษาจีนอย่างคล่องแคล่วได้อย่างรวดเร็ว เธอจึงลังเลว่าจะเรียนภาษาไทยต่อดีหรือไม่ ซึ่งท่านนายกฯ ได้คัดค้านที่เธอคิดจะทิ้งภาษาแม่ และจัดหาครูมาสอนภาษาไทยให้เธอเป็นพิเศษ

สองพี่น้องมีกำหนดกลับบ้านหลังจากอยู่ที่ปักกิ่งในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่แล้วก็เกิดรัฐประหารขึ้นในประเทศไทย ทำให้พ่อของพวกเขาต้องถูกจำคุก นายกฯ  โจว เอินไหล ได้ให้คำมั่นกับพวกเขาว่าพวกเขาจะอยู่อย่างปลอดภัยในประเทศจีน และให้ความช่วยเหลือพวกเขาในการสื่อสารกับพ่อผ่านการโต้ตอบทางจดหมาย จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2512 คือ 14 ปี หลังจากที่ใช้ชีวิตอยู่ในจีน
สิรินทร์จึงออกจากประเทศจีน เดินทางไปยังประเทศอังกฤษพร้อมกับคู่หมั้นชาวอังกฤษ

ครอบครัว “พัธโนทัย” ตำนานเชื่อมความสัมพันธ์ จีน-ไทย

สิรินทร์ พัธโนทัย (ซ้าย) และโจ ลูกชายอายุสองขวบ (กลาง)

ความสัมพันธ์ทางการทูต จีน-ไทย

การที่จีนกลับมาเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ : ผนวกกับการตีพิมพ์เอกสารที่ประกาศว่า จีน-สหรัฐอเมริกามีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2515 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนพัฒนาขึ้นอย่างมาก ในเดือนกันยายน 2515 ได้มีการจัดการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์เอเชีย (Asian Table Tennis Championship) ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งรัฐบาลจีนได้แนะนำให้สหภาพ Asian Table Tennis Union เชิญทีมไทยเข้าร่วมการแข่งขัน พ่อของสิรินทร์จึงให้คำแนะนำแก่ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้นว่า ข้าราชการระดับสูงควรจะเดินทางไปประเทศจีน พร้อมๆ กับทีมนักกีฬาไทย โดยให้บุตรสาวของเขาทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน

“ฉันติดต่อป๋าโจวผ่านทางสถานทูตจีนประจำลอนดอน” สิรินทร์เล่า “16 ชั่วโมงต่อมา เราก็ได้รับคำตอบจากท่าน สนับสนุนให้คณะผู้แทนไทยไปเยือนจีน” สัมพันธภาพระหว่างทั้งสองประเทศจึงได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง พร้อมๆ กับที่สิรินทร์ได้มีโอกาสกลับไปหา “ป๋าโจว” และ “ป๋าเหลียว” อีกครั้งหลังจากจากจีนมาสองปี สิรินทร์และพี่ชายของเธอยังได้เดินทางไปจีนอีกเพื่อร่วมงาน “การทูตปิงปอง” ระหว่างประเทศจีนและไทย ซึ่งการไปเยือนจีนของคณะผู้ไทย ครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นผลโดยตรงจากความร่วมมือระหว่างครอบครัวพัธโนทัยและนายกฯ โจว เอินไหล “การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในครั้งนี้ ทำให้พ่อของฉันรู้สึกเป็นเกียรติและมีความสุขเสมอ” สิรินทร์กล่าว “ในที่สุดเราก็บรรลุเป้าหมายดั้งเดิมของการเดินทางมายังจีนที่มีจุดประสงค์พิเศษจนได้”

การทูตปิงปองได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการวางรากฐาน ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศจีนและไทยอย่างเป็นทางการได้พบปะพูดคุยกัน สิรินทร์ทำหน้าที่เป็นล่ามเพียงคนเดียวในการเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างสองรัฐบาล ซึ่งในประวัติศาสตร์จีน ยากนักที่ชาวต่างชาติจะได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับผู้นำจีนในการประชุมกับแขกต่างชาติ

“ป๋าโจวให้ความไว้วางใจฉันมาก” สิรินทร์เล่า “ระหว่างการเจรจา ท่านบอกว่าฉันเติบโตมาภายใต้ความดูแลของท่าน และสนับสนุนให้ฉันปฏิบัติหน้าที่เป็นทูตสัมพันธไมตรี จีน-ไทย แม้ว่าท่านจะป่วยมานานแล้วในตอนนั้น แต่ท่านก็อารมณ์ดีมาก เพราะการประชุมครั้งนั้น”

ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 นายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทย ได้ร่วมลงนามในเอกสารสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งถือเป็นเอกสารสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตฉบับสุดท้ายที่นายกรัฐมนตรีจีนผู้นี้ได้ลงนาม “การทูตปิงปอง” ได้รับการพิจารณาว่ามีบทบาทสำคัญในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศจีนและไทย

สิรินทร์แต่งงานที่สหราชอาณาจักร และให้กำเนิดบุตรชายคนแรกในปี 2518 “ชื่อภาษาจีนของพี่ชายและฉันได้รับความเห็นชอบจากป๋าโจว” สิรินทร์กล่าวพร้อมรอยยิ้ม “ฉันยังขอให้ป๋าโจวอวยพรให้ก่อนที่จะตั้งชื่อภาษาจีนให้กับลูกชายว่า ‘ชาง เนียนโจว’ ซึ่งแปลตรงตัวว่า คิดถึงโจวเสมอ“’ชาง’ เป็นชื่อสกุลที่ได้รับความนิยมในภาคเหนือของประเทศจีน ซึ่งมีความหมายว่า ‘คิดถึง’
ครอบครัวพัธโนทัยแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพ จีน-ไทย ที่ยาวนาน ด้วยการใช้ คำว่า ‘ชาง’ เป็นนามสกุลภาษาจีนของพวกเขา

สะพานแห่งการค้า

ชาง เนียนโจว เป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจชั้นนำในประเทศไทย เขาสามารถพูดได้หลากหลายภาษา เขาอาจจะพูดภาษาจีนกลางสำเนียงปักกิ่งอยู่ แล้วเปลี่ยนมาพูดภาษาอังกฤษกับพนักงานของเขา สลับกับภาษาฝรั่งเศสขณะใช้โทรศัพท์มือถือ แล้วสั่งเบียร์เป็นภาษาไทย

ครอบครัว “พัธโนทัย” ตำนานเชื่อมความสัมพันธ์ จีน-ไทย

โจ ฮอร์น พัธโนทัย

“ผมไปเมืองจีนครั้งแรกและอยู่ที่นั่นหกเดือน ในปี 2522” โจ ฮอร์น พัธโนทัย ย้อนอดีตให้ฟัง“ผมกลับไปปักกิ่งอีกครั้งในปี 2528 เพื่อเรียนหนังสือพร้อมๆ กับน้องชายชื่อว่า ชาง เนียนเหลียว” สองพี่น้องย้อนระลึกถึงวันเวลาในปักกิ่ง ในฐานะนักเรียนต่างชาติคนแรกๆ ที่ได้เรียนในโรงเรียน ประถม Beijing Second Experimental Primary School พวกเขาเล่าว่าแม่ต้องการให้พวกเขาพูดภาษาจีนกับเธอ พูดภาษาอังกฤษกับพ่อ พูดภาษาไทยด้วยกันเอง และพูดภาษาฝรั่งเศสกับเพื่อนร่วมชั้น ในเวลาต่อมา โจจะกลับมาปักกิ่งเป็นประจำในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนเพื่อฝึกฝนการใช้ภาษาจีน ปัจจุบัน ลูกชายของเขากำลังเรียนอยู่ที่ปักกิ่ง และสามารถสื่อสารเป็นภาษาจีน ไทย และอังกฤษ ได้อย่างคล่องแคล่ว

โจและน้องชายให้ความเคารพอย่างสูงกับครูในโรงเรียนประถมที่เคยสอนพวกเขารวมทั้งครูใหญ่ ภายหลังจบการศึกษา พวกเขาได้เชิญคุณครูเหล่านี้มาเที่ยวกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดในประเทศไทย เมื่อใดที่พวกเขาได้กลับไปเยือนปักกิ่ง พวกเขาจะนัดพบกับเพื่อนเก่าๆ เสมอ

โจรู้สึกว่าเขามีหน้าที่ในฐานะของคนรุ่นที่สามที่จะต้องสร้างสะพานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน สะพานที่เขากำลังสร้างอยู่นี้ มิใช่สะพานแห่งความร่วมมือทางการเมือง หากแต่เป็นสะพานแห่งเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ภายหลังจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาโจก็ได้รับการจ้างงานจากบริษัท Deutsche Morgan Grenfell ในสิงคโปร์ เขาเริ่มงานพร้อมๆ กับที่วิกฤตการณ์การเงินในเอเชียเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2540 ในช่วงวิกฤติครั้งนี้ เขามีโอกาสได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลายๆ งานที่สำคัญ รวมทั้งการเข้าซื้อกิจการธนาคาร Hong Kong Alliance Bank โดยธนาคาร Industrial & Commercial Bank of China (ICBC) และการเข้าซื้อกิจการธนาคารนครธนในประเทศไทย โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
เขาจึงได้สั่งสมประสบการณ์ที่ล้ำค่าในด้านการปรับโครงสร้างธุรกิจท่ามกลางวิกฤตการณ์การเงิน หลังจากนั้นเขาได้กลับมากรุงเทพฯ เพื่อเปิดบริษัทของตัวเองและทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน บริษัทของเขาประสบความสำเร็จอย่างดี โดยทำหน้าที่เป็นสะพานสร้างความร่วมมือระหว่างนานาชาติ ผ่านการวางแผนและประชาสัมพันธ์องค์กร รวมทั้งการสร้าง “ความร่วมมือ” กับบริษัทใหญ่ๆ เช่น โครงการความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทยในจีนกับสาขาของบริษัทของเขาในจีน นอกจากนี้ บริษัทของโจยังมีบทบาทสำคัญในการเข้าซื้อกิจการธนาคารสินเอเชีย (ACL Bank) โดยธนาคารไอซีบีซี (ICBC)  และให้บริการคำปรึกษาแก่ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) สาขากรุงเทพฯ
ตลอดจนทำให้บริษัท SHV และ Philips เป็นที่รู้จักในจีน

โจมองว่านโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) จะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและจีน คำพูดที่คุ้นหูอย่าง “จีนไทยพี่น้องกัน” เป็นคำที่เหมาะสมที่สุดที่จะอธิบายความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีนี้ ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวพัธโนทัย โจยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องรักษาสัมพันธภาพระหว่างไทย-จีน ตั้งแต่ระดับครอบครัว จนถึงระดับชาติ

ครอบครัว “พัธโนทัย” ตำนานเชื่อมความสัมพันธ์ จีน-ไทย

โดย Wang Fengjuan, Shi Guang