ลาออก-เลิกจ้างประกันสังคมช่วยได้ มีเงินใช้คุ้มครองต่ออีก 6 เดือน

ลาออก-เลิกจ้างประกันสังคมช่วยได้ มีเงินใช้คุ้มครองต่ออีก 6 เดือน

 

ผู้ประกันตนเมื่อสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (โดยไม่มีความผิดตามกฏหมาย) ซึ่งจ่ายเงินสบทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน ได้รับความคุ้มครองอีก 6 เดือน ใน 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต

จากสถิติสำนักงานประกันสังคมที่ผ่านมา มีการจ่ายประโยชน์ทดแทนผู้ใช้สิทธิว่างงาน ในปี 2558 จำนวน 123,536 คน ปี 2559 จำนวน 141,267 คน ปี 2560 จำนวน 140,273 คน ปี 2561 จำนวน 152,464 คน ปี 2562 จำนวน 165,040 คน (ข้อมูล ณ 30 มีนาคม 2562)

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม มีการหักเงินสมทบจากลูกจ้างทุกเดือน โดยให้ความคุ้มครอง 7 กรณี หนึ่งในนั้น คือ กรณีว่างงานโดยสำนักงานประกันสังคม มีเจตนารมณ์คุ้มครองกรณีลูกจ้างว่างงาน เพื่อเป็นการช่วยเหลือในยามที่ลูกจ้างว่างงานได้แก่ กรณีถูกเลิกจ้าง ลาออกจากงาน สิ้นสุดสัญญาจ้าง ที่มีระยะเวลากำหนด หรือว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย

สำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนกรณีว่างงาน ประกอบด้วย 3 กรณี ได้แก่ 1. กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงาน ปีละไม่เกิน 180 วันในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย เช่น ลูกจ้างส่งเงินสมทบจากฐานค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท 2. กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงาน ปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย เช่น ลูกจ้างส่งเงินสมทบจากฐานค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท และ 3. กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย เช่น สถานประกอบการถูกน้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว หรือภัยธรรมชาติอื่นๆ จะได้รับ จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย รวมกันไม่เกิน 180 วัน

โดยเงื่อนไขในการเกิดสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย หรือกรณีผู้ประกันตนว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย นอกจากนี้ ต้องเป็นผู้มีความสามารถในการทำงาน และพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดให้ และไม่ปฏิเสธการฝึกงาน

“ในส่วนของผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง ต้องไม่เป็นผู้ที่จงใจที่ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือฝ่าฝืนกฏข้อบังคับ ระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฏหมายในกรณีร้ายแรง ไม่ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร ไม่เป็นผู้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ไม่เป็นผู้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา และต้องไม่ใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ” นายอนันต์ชัย กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ได้แก่ 1.แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) 2. หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงาน ของผู้ประกันตน (สปส.6-09) กรณีไม่มี สปส.6-09 ก็สามารถขึ้นทะเบียนได้ 3. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี) 4. หนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย กรณีว่างงานโดยเหตุสุดวิสัย 5 สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขบัญชีได้ทั้ง 11 ธนาคาร

ผู้ประกันตน สามารถขึ้นทะเบียนวางงานและรายงานตัวผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทาง เว็บไซต์ http://empui.doc.go.th ของสำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างโดยผู้ประกันตนจะต้องรายงานตัวตามกำหนดนัดไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง ผ่านทางเว็บไซต์ http://empui.doc.go.thโดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานนับตั้งแต่วันที่ 8 ของการว่างงาน

ลาออก-เลิกจ้างประกันสังคมช่วยได้ มีเงินใช้คุ้มครองต่ออีก 6 เดือน